อีกงานสำคัญ “ดร.โกร่ง” ที่คนไทย “ส่วนใหญ่” ยังไม่รู้

ในที่สุดต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำที่เรียกกันว่า “ไม้ใกล้ฝั่ง” อีกต้นหนึ่งก็อำลาจากไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วท่านยังเป็นต้นไม้ใกล้ฝั่งที่แข็งแรงมาก หากไม่เผชิญกับ “โรคร้าย” โรคหนึ่งตามที่หนังสือพิมพ์รายงานเสียก่อน

ผมหมายถึง “ดร.โกร่ง” หรือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์มหภาค และนักการเงินการคลัง ชั้นแนวหน้าอีกท่านหนึ่งของประเทศไทย ที่จากไปด้วยโรค “มะเร็ง” เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมานั่นเอง

โดยส่วนตัวผมรู้จักคุ้นเคยกับ ดร.วีรพงษ์ มาเกือบๆ หรือกว่าๆ 40 ปีเข้านี่แล้ว…น่าจะประมาณ พ.ศ.2523 ในยุคที่ สภาพัฒน์ ที่ทำงานเก่าอีกแห่งหนึ่งของผม กำลังจัดเตรียมทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 เพื่อนำออกใช้ใน พ.ศ.2525-2529

ช่วงนั้นสภาพัฒน์โดย คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เพิ่งกลับมาจากธนาคารโลกหมาดๆ มีความเห็นว่าปัญหาการกระจายรายได้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เพราะยังมีคนไทยที่ “ยากจน” รายได้อยู่ต่ำกว่าเส้นวัดความยากจนตามมาตรฐานของธนาคารโลกใน พ.ศ.นั้นค่อนข้างมาก

จึงผลักดันให้นโยบายแก้ปัญหาความยากจนในชนบท เป็นนโยบายหลักของแผนพัฒนาฉบับที่ 5 และขณะเดียวกันก็ต้องการให้เป็นนโยบายของรัฐบาลของป๋าเปรมด้วย ควบคู่กันไป

คุณโฆสิตจึงเชื้อเชิญ ดร.โกร่ง ซึ่งก็เป็นที่ปรึกษาอยู่ในคณะที่ปรึกษา ของ ป๋าเปรม อยู่ด้วยกันกับคุณโฆสิตให้มาเป็นที่ปรึกษาของคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในชนบทของสภาพัฒน์ด้วย

โดยให้เหตุผลว่า ดร.โกร่งมิใช่เก่งทางด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค และทางด้านการคลังอย่างเดียว แต่ยังมีความรู้ความสามารถในระเบียบวิธีการวิจัยต่างๆ อย่างหาตัวจับยาก

เพื่อให้งานพัฒนาชนบทมีข้อมูลสนับสนุนอย่างแน่นแฟ้น จึงจำเป็นจะต้องมีการวิจัยเฉพาะจุด เฉพาะเรื่องอีกหลายเรื่อง…การได้อาจารย์โกร่งมาเป็นที่ปรึกษางานวิจัยชุดนี้ จึงเหมาะสมอย่างยิ่ง

ต่อมาผมก็ทราบเหตุผลที่แท้จริงอีกประการหนึ่งว่าที่คุณโฆสิต เชิญอาจารย์โกร่งมาช่วยพวกเรา ก็เพราะคุณโฆสิตซึ่งเป็นที่ปรึกษาป๋าเปรมอยู่ด้วยเช่นกันทราบดีว่าในบรรดาคณะที่ปรึกษาที่ป๋าเปรมชอบฟังคำบรรยายมากที่สุดนั้นก็คือ ดร.โกร่งนี่แหละ

ดังนั้น ดร.โกร่งจะช่วยเราได้มากในการนำนโยบายพัฒนาชนบทไปเสนอให้เป็นนโยบายของรัฐบาลดังที่ตั้งเป้าหมายไว้

ซึ่งก็จริงดังคาด ก่อนที่พวกเราจะไปบรรยายสรุปให้ป๋าฟัง…อาจารย์โฆสิตได้ส่ง ดร.โกร่งเป็นทัพหน้าไปอธิบายก่อนแล้ว

ด้วยความที่ ดร.โกร่งเป็นคนเก่งมาก เรียนรู้ทุกเรื่องได้รวดเร็ว ยิ่งท่านมาอยู่กับพวกเราและออกไปสำรวจหาข้อมูลด้วยกันอยู่ตลอด ทำให้ท่านพลอยเข้าใจ นโยบายพัฒนาชนบท ของสภาพัฒน์ยุคนั้นอย่างแจ่มแจ้งไปด้วย

เมื่อ ดร.โกร่งไปบรรยายเป็นทัพหน้า ป๋าจึงเข้าใจอย่างดียิ่ง…และในวันที่ป๋าอนุญาตให้พวกเราเข้าพบ…ท่านเลขาธิการ ดร.เสนาะ อูนากูล ตลอดจนคุณโฆสิต ผู้รับผิดชอบนโยบายพัฒนาชนบท แทบไม่ต้องอธิบายเสริมอะไรเลย

ป๋าเปรมยอมรับนโยบายพัฒนาชนบทยากจนเป็นนโยบายของรัฐบาล และยินดีที่จะมานั่งเป็นประธานในกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติที่จะมีการจัดตั้งขึ้นด้วยความเต็มใจ

ต่อมาเนื่องจากอาจารย์โกร่งมีโอกาสทำงานกับอีกหลายๆ รัฐบาล… จากป๋าเปรมสู่น้าชาติ สู่คุณอานันท์ สู่บิ๊กสุ สู่บิ๊กจิ๋ว…สู่รัฐบาลคุณสมัครและรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ฯลฯ…ซึ่งบางรัฐบาลก็ขัดแย้งซึ่งกันและกัน

ใครที่ชอบรัฐบาลนี้ แต่ไม่ชอบรัฐบาลโน้น ก็พลอยไม่ชอบอาจารย์โกร่งไปด้วย

ผมเองในระยะหลังๆ บางเรื่องก็เห็นด้วยกับท่าน บางเรื่องก็ไม่เห็นด้วย แต่เราจะคุยกันด้วยความเข้าใจอยู่เสมอ

เป็นสุขเถิดครับอาจารย์ และขอขอบคุณในทุกๆ เรื่องที่อาจารย์ริเริ่ม หรือดำเนินการจนเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ประเทศไทย รวมทั้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายพัฒนาชนบทในยุคป๋าเปรม ที่ทำให้ชนบทไทยลืมตาอ้าปากได้ มาจนถึงทุกวันนี้.

“ซูม”

ข่าว, ดร.โกร่ง, ดร.วีรพงษ์ รามางกูร, นักเศรษฐศาสตร์, มะเร็ง, เสียชีวิต, นโยบาย, พัฒนาชนบท, ซูมซอกแซก