จะต้องใช้ “จีดีพี” อย่างมีสติ ทุกครั้งที่ “รัฐบาล” กู้เงิน

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงคำอภิปรายของอดีตปลัดกระทรวงการคลัง คุณสมชัย สัจจพงษ์ ที่ให้คำแนะนำแก่นักการคลังรุ่นน้องมิให้ลืม แก่นแท้ของความเป็นนักการคลังที่จะต้องใช้จ่ายเงินด้วยความระมัด ระวังและเกิดประโยชน์สูงสุด

เขียนจบก็นึกขึ้นได้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้เช่นกันมีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ท่าน รมว.คลังปัจจุบัน คุณ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้ไปกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เอเปกว่า ในปัจจุบันภาคการคลังของประเทศไทยมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพอย่างไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

รัฐบาลไทยยังมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการบริหารหนี้สาธารณะของไทยนั้นเป็นไปตามวินัย การคลังและมีภูมิคุ้มกันที่จะสามารถรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่างๆ ได้

พร้อมกับขยายความให้ทราบถึงภูมิคุ้มกันของเราเป็นตัวเลขว่า… ปัจจุบันประเทศไทยมียอดหนี้สาธารณะล่าสุดอยู่ที่ 9.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 57.01 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นไปตามกรอบเพดานเดิมที่กำหนดไว้ 60 เปอร์เซ็นต์ทุกประการ

ผมเองก็มีความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ด้านการคลังของไทยเรามีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ จึงเห็นด้วยกับการกู้เงินโดยเฉพาะที่จะนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาโดยตลอด

หากจะติงจะเตือนบ้างก็ในทำนองไม่อยากให้แจกเงินแบบเบี้ยหัวแหลกหัวแตก (คล้ายๆ ที่อดีตปลัดกระทรวงการคลังท่านเตือนไว้)

อีกข้อหนึ่งที่ผมเคยเตือนไว้แล้ว…แต่นักบริหารการคลัง หรือท่านหัวหน้ารัฐบาลอาจจะไม่ได้อ่าน หรืออ่านแล้วอาจจะลืมไปเสียแล้วก็ได้… จึงขอถือโอกาสนำมาเรียนเตือนไว้อีกครั้งหนึ่ง

โดยอาศัยตัวเลขที่ท่านรัฐมนตรีคลังท่านกล่าวกับที่ประชุมเอเปก ว่า เรามีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี เพราะ หนี้สาธารณะ ของเรายังอยู่แค่ร้อยละ 57.01 ของ จีดีพี นั่นแหละครับ

ทุกครั้งที่มีใครพูดถึงประเด็นนี้ผมจะย้ำเสมอว่า “หนี้สาธารณะ” คือของจริง เพราะเป็นเงินที่เรากู้มาจริงและจะต้องใช้หนี้ใช้สินเขาจริงๆ

แต่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี นั้น เป็นตัวเลข “กึ่งจริง กึ่งทิพย์” ครับ

เพราะข้อมูลบางตัวบางประเภทอาจเก็บได้จริง แต่อีกหลายตัวและหลายประเภทอาจต้องใช้การประมาณการ แบบที่สมัยใหม่เขาเรียกว่า “ทิพย์” เพราะไม่ใช่ของแท้

ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งย้อนไป 40 ปีก่อนโน้น เวลาพวกเรานักเศรษฐศาสตร์จะหยิบตัวเลขจีดีพีประเทศไทยมาใช้ เราจะเตือนกันอยู่เสมอว่าจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะการเก็บตัวเลขในยุคก่อนโน้นมีปัญหามากที่สุด

มาถึงยุคนี้อาจมีการพัฒนาสูตร พัฒนาโมเดล พัฒนาวิธีจัดเก็บทำให้ตัวเลขดีขึ้นใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น…แต่ก็นั่นแหละยังไม่สามารถบอกได้อย่างมั่นใจว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์ของเราจะเป็นเท่านั้นเท่านี้อย่างที่ตัวเลขระบุไว้จริงหรือไม่

ดังนั้นเมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับตัวเลขจริง อันได้แก่ ภาระเงินกู้หรือหนี้สาธารณะ จะต้องระแวดระวังอย่างมาก

เพราะเกิดไปเห็นว่าสัดส่วนน้อยยังไม่เต็มพิกัดนี่นา…ยังไม่ผิดวินัยการคลังนี่นา จึงตัดสินใจกู้มาเพิ่มเติมอีก

จนลืมนึกถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริงของประเทศไปเสีย…ในที่สุดเมื่อถึงคราวจะต้องชำระ จึงอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้

หลักสำคัญที่สุดที่เราจะต้องคำนึงถึงทุกครั้งก่อนลงมือ “ก่อหนี้” ก็คือจะต้องดูว่าเรามีความสามารถที่จะชำระหนี้ก้อนนั้นได้หรือไม่

อย่าลืมว่าเราอยู่ในโลกของความเป็นจริง…กู้เขามาจริงๆ เท่าไรก็ต้องใช้เขาเท่านั้น จึงต้องพิจารณาจากของจริงเป็นหลักเอาไว้ก่อน

อะไรที่เป็นเรื่องประมาณการเป็นเรื่องกึ่งจริงกึ่งทิพย์ อย่างตัวเลขจีดีพีจะนำมาพิจารณาด้วยเพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาสมัยใหม่ก็ไม่ว่า

แต่จะต้อง “ใช้” หรือ “พิจารณา” ด้วยความระวังอย่างยิ่งอยู่เสมอ…อย่าให้ตัวเลขจีดีพีเป็น “กับดัก” ทำให้เราต้องตกหลุม “ล้มละลาย” ในอนาคตเข้าให้ก็แล้วกัน.

“ซูม”

ข่าว, จีดีพี, เงินกู้, เพดาน, หนี้สาธารณะ, กู้เงิน, ซูมซอกแซก