บทเรียนจาก Stagflation ผ่านไป “40 ปี” ไม่มีวันลืม

เมื่อวานนี้ ผมเขียนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง คือ การเกิดภาวะเงินเฟ้อ ในขณะการว่างงานสูง ประชาชนมีรายได้น้อย และอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดนิ่ง หรืออาจจะถดถอยลงไปด้วยซ้ำ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Stagflation ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยเราได้ในเร็วๆ นี้

เหตุเพราะเราอยู่ในระหว่างเผชิญชะตากรรมจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ผู้คนว่างงาน แต่ก็อาจต้องเจอปัญหาน้ำมันแพง ซึ่งจะส่งผลให้ข้าวของแพงขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา

วันนี้ขออนุญาตท่านผู้อ่านขยายความเล่าเรื่องย้อนหลัง กลับไปดูเหตุการณ์ Stagflation ที่เกิดขึ้นในอดีตว่าหนักหนาสาหัสอย่างไรบ้าง และมีผลกระทบอะไรบ้าง โดยเฉพาะในบ้านเรา

ก่อนอื่นคงต้องทำความรู้จักกับคำว่า Stagflation เสียก่อน เพราะเป็นศัพท์ใหม่ทางเศรษฐศาสตร์ที่มีการบัญญัติขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว หลังผมเรียนจบธรรมศาสตร์สัก 3-4 ปีเห็นจะได้

ประมาณ ค.ศ.1965 คุณ Iain Macleod ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟ ของอังกฤษ (2 ปีต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีคลัง) ขึ้นอภิปรายในสภาหยิบคำที่เขาประดิษฐ์ขึ้นใหม่คำนี้มาใช้เป็นครั้งแรก โดยนำคำว่า Stag nation ที่แปลว่าเศรษฐกิจซบเซา หรือหยุดนิ่ง กับคำว่า Inflation ที่แปลว่าเงินเฟ้อมาผสมผสานกันกลายเป็นคำว่า Stagflation

เกิดเป็นศัพท์ใหม่ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสื่อมวลชนระดับโลกใน ค.ศ.ดังกล่าว

สำหรับในบ้านเรา คำนี้มาฮิตมากใน พ.ศ.2522 (40 กว่าปีที่แล้ว) ในยุคที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

โลกได้เกิดภาวะวิกฤติน้ำมันครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง หลังจากเคยเกิดครั้งแรกเมื่อปี 1973 หรือ 2516 มาแล้วหนหนึ่ง…และต่อมาราคาน้ำมันโลกพุ่งพรวดขึ้นอีกครั้ง สืบเนื่องมาจากมีการปฏิวัติในอิหร่านทำให้ผลผลิต น้ำมันของโลกลดฮวบลง

ทำให้ราคาน้ำมันบ้านเราพลอยแพงไปด้วย จนถึงขั้นมีการแต่งเพลง “น้ำมันแพง” ที่มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า “น้ำมันขาดแคลนคุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ” ขับร้องโดย สรวง สันติ กลายเป็นเพลงฮิตทั่วประเทศไทย

แม้เนื้อเพลงจะพยายามสร้างอารมณ์ขัน แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมขันตาม เพราะนอกจากน้ำมันจะแพงแล้ว ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่ารถเมล์ ค่ารถตุ๊กๆ ตลอดจนค่าอาหารต่างๆ ที่ต้องใช้รถยนต์ขนมาจากท้องไร่ท้องนาก็แพงระยิบระยับไปด้วย

มีการเคลื่อนไหวประท้วงทั้งนอกสภา และในสภา…โดยเฉพาะในสภาได้มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อ 10 ตุลาคม 2522 กล่าวหา รัฐบาลประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ด้วยเสียงในสภาที่มากกว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์จึงเอาตัวรอดไปได้…คือยังได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไป

แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น…ในที่สุดในการประชุมรัฐสภานัดพิเศษเมื่อวันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 พล.อ.เกรียงศักดิ์ก็ลุกขึ้นยืนแถลงถึง ความพยายามต่างๆในการแก้ปัญหาและจบลงด้วยการประกาศ “ลาออก”

นับเป็นฉากการเมืองที่งดงามฉากหนึ่งในอดีตเมื่อที่ประชุมรัฐสภาต่างปรบมือให้แก่ท่าน และสื่อมวลชนต่างๆ พากันลงข่าวชมเชยในวันรุ่งขึ้น

อีก 3 วันต่อมา หรือ 3 มีนาคม 2523 สภาก็เลือก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

คงเป็นด้วยชื่อเสียงแต่หนหลังของป๋าเปรมว่าใจซื่อมือสะอาด ประชาชนจึงให้ความเชื่อถือเชื่อมั่นและหยุดการประท้วงต่างๆ

พล.อ.เปรมกับคณะรัฐบาลของท่านใช้เวลาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจาก Stagflation อยู่พักหนึ่ง ในที่สุดทุกสิ่งอย่างก็กลับมา สู่โหมดของการพุ่งไปข้างหน้าแบบโชติช่วงชัชวาลของประเทศไทย

Stagflation ที่ทำให้พลเอกเกรียงศักดิ์ต้องลาออกกลางรัฐสภานั้นราคาน้ำมันดิบโลกสูงสุดอยู่ที่ 39.50 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น

ยุคนี้ราคาน้ำมัน 80 เหรียญ และคาดว่าอาจจะถึง 90 เหรียญปลายปีนี้หรือสูงกว่านั้นไปเรื่อยๆ

ขออนุญาตจบแบบไม่มีอะไรทิ้งท้ายครับ นอกจากจะฝากให้ทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาล พ.ศ.นี้ไปคิดกันเองว่าจะรับสถานการณ์อย่างไร? หากว่าเจ้า Stagflation มันจะเกิดขึ้นจริง.

“ซูม”

ข่าว, เศรษฐกิจ, ภาวะเงินเฟ้อ, เศรษฐกิจถดถอย, ราคาน้ำมัน, ซูมซอกแซก