พัฒนา “ภาษา” เด็กตะวันออก ป้อน…“โครงการใหญ่” อีอีซี

วันนี้ผมขอปล่อยวางจากข่าวการเมืองเรื่องปวดสมอง ที่หยิบมาเขียนเมื่อไรก็ท้อแท้ใจเมื่อนั้น…เพราะนักการเมืองไทยส่วนใหญ่ยังจมปลักเป็นบัวใต้น้ำ โลกเขาพัฒนาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว แต่การเมืองไทยยังคงล้าหลังอยู่เหมือนเดิม

สลับฉากด้วยข่าวที่เป็นสารประโยชน์ อ่านแล้วทำให้เกิดความหวัง และมองเห็นแสงสว่างสำหรับประเทศไทยของเราในอนาคตกันบ้างดีกว่า

ผมเขียนถึงความตั้งใจในการทำงาน และการเตรียมตัวเพื่อเดินหน้าพัฒนาประเทศทันทีที่โควิด-19 ซาลง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เอาไว้หลายๆ โครงการเมื่อสัปดาห์ก่อน

เพื่อเป็นการขอบคุณและให้กำลังใจท่านเจ้าของโครงการและนักธุรกิจทุกๆ ท่านที่ยังพร้อมสู้เสมอ แม้ที่ผ่านมาจะเจอพิษโควิด-19 จนสะบักสะบอมไปตามๆ กันก็ตาม

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมก็ได้รับจดหมายข่าวฉบับหนึ่งจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. หรือ EEC แจ้งให้ทราบว่า หน่วยงานพิเศษหน่วยงานนี้ก็ยังคงเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน

ในช่วงที่โครงการใหญ่ๆ อยู่ระหว่างรอให้เมฆหมอกจากโรคระบาดผ่านไปเสียก่อน ในขณะนี้การริเริ่มโครงการสนับสนุนซึ่งดูเหมือนเป็นโครงการเล็กๆ แต่สำคัญอย่างยิ่งยังดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

โดยเฉพาะโครงการ โรงเรียนต้นแบบพัฒนาอนาคตเด็กไทย รวม 25 แห่งในพื้นที่ EEC เพื่อเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษและจีนสู่นักเรียนระดับมัธยมเกือบๆ 4 หมื่นคน ได้เริ่มขึ้นแล้ว

ด้วยการจัดปฐมนิเทศให้แก่คณะครูและผู้บริหารโรงเรียนในโครงการนี้กว่า 150 คน ภายใต้ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งมีท่านอธิการบดี รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก มาร่วมให้นโยบายในพิธีปฐมนิเทศด้วยตนเองในการประชุมครั้งแรก

สำหรับประธานในพิธี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้กล่าวเปิดประชุมตอนหนึ่งว่า โครงการนี้ทางอีอีซีได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบูรพา และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในมิติด้านการศึกษาโดยเฉพาะ

โดยจะเน้นเทคนิคการเรียนการสอน ภาษาอังกฤษ และ ภาษาจีน ให้แก่กลุ่มครูต้นแบบจากโรงเรียน 21 แห่ง และวิทยาลัยครู 4 แห่ง รวมครูสอนภาษาอังกฤษและจีนรวมทั้งสิ้น 95 คน เพื่อไปถ่ายทอดต่อแก่ครูในโรงเรียน เพื่อสอนนักเรียนกว่า 37,000 คน ให้มีทักษะในการใช้ภาษาทั้งอังกฤษและจีนในระดับมาตรฐานสากล

เพื่อให้เด็กๆ และเยาวชนในเขตอีอีซีซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลท้องถิ่นที่สำคัญ มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อป้อนแก่โครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในภาคตะวันออกในอนาคต

สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมี ดร.เพ็ชร ชินบุตร เป็นผู้บริหารกองทุนดังกล่าว

หลังจากการปฐมนิเทศแก่คณะครูและผู้บริหารโรงเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยบูรพา แล้วถัดมาก็จะเป็นคิวของ มหา วิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมี รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี พร้อมด้วย ผู้บริหารอีกจำนวนหนึ่งก็จะมาจัดปฐมนิเทศในอีก 8 โรงเรียน ที่เหลือ

ก็อย่างที่เราตระหนักแหละครับว่า “ภาษาอังกฤษ” และ “ภาษาจีน” มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับเยาวชนของเรานับจากนี้เป็นต้นไป… โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษอีอีซี ซึ่งจะมีการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งจีนด้วยอย่างมหาศาล

แต่เราก็ทราบกันดีแล้วว่าระบบการ “สอนภาษา” ต่างประเทศ ไม่ว่าภาษาใดก็ตามในบ้านเรานั้นน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง หากหวังพึ่งหลักสูตรหรือครูจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยไม่มีการเสริมจากแหล่งอื่นๆ

โครงการนี้จึงเท่ากับเป็นโครงการเสริมหรือเติมเต็มทักษะเรื่อง ภาษาต่างประเทศให้แก่เด็กๆในอีอีซีอย่างตรงจุดที่สุด

ผมขอเอาใจช่วยและหวังว่ามหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง โดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ผมได้ยินชื่อเสียงมานานมากในด้านการสอนภาษา และบัดนี้รับบท “เสือข้ามถิ่น” บินจากเหนือสุดสยามเชียงรายมาสู่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก จะโชว์ความสามารถอย่างเต็มที่

ขอให้ประสบความสำเร็จทั้ง 2 มหาวิทยาลัยนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, เศรษฐกิจ, ไทย, อีอีซี, สอนภาษา, EEC, เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ซูมซอกแซก