สงคราม “โควิด” ยังไม่จบ เสียดาย! ถ้าจะยุบ “ศบค.”

เมื่อบ่ายๆ วันจันทร์ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์หลายสำนักรายงานข่าวว่า “บิ๊กตู่” จะเรียกประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด–19 หรือ ศบค. ชุดใหญ่ในวันศุกร์ที่ 10 กันยายนที่จะถึงนี้

เพื่อประเมินสถานการณ์ล่าสุดของประเทศไทยเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง? หลังจากได้คลายล็อกไประดับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นมา

ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าในการประชุมครั้งนี้อาจจะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยุติการใช้มาตรา 5 และมาตรา 9 ตาม พ.ร.ก. การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ในวันที่ 30 กันยายนนี้ หันไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทนเพื่อโอนงานให้กระทรวงสาธารณสุขอันจะเป็นผลให้มีการยุบ ศบค.ไปโดยปริยาย

เนื่องจากเป็นรายงานข่าวสั้นๆ และมิได้มีการเสนออย่างพร้อมเพรียงกันทุกสำนักข่าวออนไลน์จึงยังไม่แน่ว่าข่าวนี้จะจริงจังเพียงใด ในขณะที่ผมเขียนต้นฉบับวันนี้…แต่ผมก็ขออนุญาตฝากข้อคิดเห็นไว้ล่วงหน้าก็แล้วกันเผื่อว่าข่าวนี้จะเป็นจริงขึ้นในการประชุมดังกล่าว

ในประเด็นเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะต่ออายุหรือไม่ผมรู้สึกเฉยๆ เพราะที่ผ่านมาประกาศฉุกเฉินแต่ก็ดูเหมือนไม่ค่อยฉุกเฉิน…ยังคงมีการฝ่าฝืนกันจนแทบเป็นเรื่องปกติในแต่ละวัน

แต่เรื่อง ศบค.จะต้องโดนยุบโดยปริยายนั้น โดยส่วนตัวผมยังรู้สึกเสียดายครับและคิดว่าจะรวดเร็วเกินไปหรือไม่ที่จะยุบเสียตั้งแต่ภายในสิ้นเดือนนี้หรือ 30 ก.ย. อย่างที่รายงานข่าวกล่าวไว้

เพราะถึงแม้ทุกวันนี้ สถานการณ์โควิด-19 โดยรวมของเราจะดูดีขึ้น ยอดติดเชื้อใหม่เริ่มลดลงมาเป็นลำดับ แต่วันที่ผมเขียนต้นฉบับก็ยังสูงถึง 13,988 ราย ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่มาก

ที่น่ากังวลใจอย่างยิ่งก็คือ…ข้อมูลในทางปฏิบัติที่พบจากต่างประเทศนั้น…เกือบทุกประเทศทีเดียวเมื่อมีการผ่อนคลายเกิดขึ้นจะกลับมามีการระบาดใหม่ทันที

ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรืออังกฤษ ที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก

ที่อังกฤษนั้นถือว่าสถานการณ์อยู่ในเกณฑ์รับได้เพราะถึงจะกลับมาระบาดสูงขึ้น แต่เนื่องจากคนของเขาฉีดวัคซีนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การเจ็บป่วยรุนแรงไม่มากและการเสียชีวิตก็ถือว่าไม่มาก อังกฤษจึงรับมือได้อย่างดียิ่งหลังการผ่อนคลาย

ตรงข้ามกับสหรัฐฯ ที่กลับมาระบาดวันละเกิน 100,000 ราย ติดต่อกันมายาวนาน เพราะมีบางรัฐ และประชากรจำนวนมากไม่ยอมฉีดวัคซีนทั้งๆ ที่ผู้คนชาติอื่นๆ บางชาติยกให้เป็นวัคซีนเทพแต่คนอเมริกันบางส่วนกลับไม่ยอมฉีดวัคซีนแต่อย่างใด

ทำให้ผู้ป่วยใหม่ของเขามีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าวันละ 1,000 ราย ติดต่อกันหลายวัน และบางรัฐถึงขั้นเกิดภาวะระบบสาธารณสุขล้มเหลวขึ้นมาอีกครั้ง

โดยเฉพาะโรงพยาบาลในรัฐฟลอริดา เท็กซัส มอนตานา ฯลฯ ถึงขนาดเข้าขั้นวิกฤติไม่มีเตียงรับคนไข้ป่วยหนัก ห้องไอซียูไม่พอฯลฯ เป็นข่าวใหญ่มาก แม้จนในวันนี้

ทำให้ผมอดกังวลใจไม่ได้ว่าในบ้านเราหากจะยกเลิก ศบค.และส่งภารกิจกลับไปให้กระทรวงสาธารณสุขเร็วเกินไป…หากการระบาดรอบใหม่กลับมาอีกจะรับมือไหวหรือไม่?

เพราะอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วกว่าการจะส่งคนป่วยคนหนึ่งไปสู่ระบบการรักษาเราจะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากกระทรวงมหาดไทย จาก กทม. หรือจากมูลนิธิอาสาสมัครต่างๆ ฯลฯ ซึ่งมีคณะกรรมการที่เรียกว่าศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะด้าน (ศปก.) จากหลายๆ กระทรวงมาอยู่ภายใต้ ศบค.

ยกงานเหล่านี้กลับไปให้สาธารณสุขทั้งหมดจะไหวหรือไม่?

ที่สำคัญกระทรวงสาธารณสุขยุคนี้ก็ดูแตกแยกกันมาก โดยเฉพาะหมอกรุงหมอชนบทเกือบจะเรียกว่าไปคนละทางก็ว่าได้

ไม่เหมือนกระทรวงสาธารณสุขยุคเก่าที่แม้จะแตกกันบ้างอย่างที่ผมเคยเขียนไว้แต่ก็ยังแตกแบบมีวินัย รู้จักหยุด รู้จักแพ้ รู้จักชนะ…ไม่เหมือนยุคนี้ที่สู้รบกันยาวนานเหลือเกิน

ดังนั้นก่อนจะโยนภาระส่งกลับไปให้กระทรวงสาธารณสุข 100 เปอร์เซ็นต์ ผมขอฝากให้พิจารณาให้รอบคอบด้วย…ผมทราบดีว่าถ้าเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็อาจต้องเลิก ศบค. แต่มีหนทางใดหรือไม่ที่ยังจะให้มี ศบค.เป็นผู้ประสานงานกลางต่อไป

ขอฝากไว้เป็นการบ้านด้วยก็แล้วกันครับ.

“ซูม”

ข่าว, ศบค, โควิด 19, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, กระทรวงสาธารณสุข, รัฐบาล, คลายล็อก, ซูมซอกแซก