ผมเป็นคนแก่ตกรุ่น ยอมรับว่าเพิ่งมารู้จักกับคำว่า “สลิ่ม” เมื่อไม่นานนี่เอง หลังจากมีการพูดถึงด้วยการหยิบยกคำคำนี้มากล่าวหาคนโน้นคนนี้ว่าเป็น “สลิ่ม” อยู่เสมอๆ ตามโซเชียลต่างๆ
คำที่ออกเสียงคล้ายๆ กันนี้ที่ผมรู้จักและคุ้นเคยอย่างดียิ่งคือ คำว่า “ซ่าหริ่ม” ซึ่งเป็นขนมไทยๆ ชนิดหนึ่งที่ผมชอบมาก…กินมาตั้งแต่เล็กจนโต และล่าสุดไปกินที่ ท่าเรือ จังหวัดกาญจนบุรี หลายปีมาแล้ว อร่อยมาก และตั้งใจเอาไว้ว่าโควิดซาเมื่อไรจะหาโอกาสไปเมืองกาญจน์อีกครั้งเพื่อแวะกิน “ซ่าหริ่ม” ท่าเรือให้หายคิดถึงสัก 2-3 ถ้วยเลยทีเดียว
ด้วยเหตุที่ผมเคยคุ้นกับคำว่า “ซ่าหริ่ม” อย่างมากนั่นเอง เมื่อจู่ๆ มีคำว่า “สลิ่ม” เกิดขึ้นมาใหม่และทุกวันนี้ดูเหมือนจะฮิตกว่า “ซ่าหริ่ม” เสียอีก จึงลองไปค้นหาดูว่า คำนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร?
ผมเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก่อนอื่น ปรากฏว่าไม่มีครับ พอไปถึงคำว่า “สลิด” ที่แปลว่า ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งแล้ว ก็ข้ามไปที่ “สลึง” ซึ่งแปลว่า 25 สตางค์ โน่นเลย ไม่มีคำว่า “สลิ่ม” แต่อย่างใดทั้งสิ้น
ผมยังไม่ละความพยายาม คราวนี้เข้ากูเกิลคลิกไปที่ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีซะเลย…ปรากฏว่ามีครับ–เขาให้ความหมายของคำว่า “สลิ่ม” ยาวเหยียด ขอถือโอกาสคัดลอกมาเผยแพร่ต่อเลยนะครับ
“สลิ่ม ในบริบทการเมืองไทยร่วมสมัย เป็นคำใช้เรียกกลุ่มคน หรือพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกมองว่า คลางแคลงใจในระบอบประชาธิปไตย และสนับสนุนบทบาทของกองทัพในพื้นที่การเมือง”
“คำนี้ในตอนแรกใช้เรียกเฉพาะ “กลุ่มเสื้อหลากสี” หรือกลุ่มประชาชนเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสนา กษัตริย์ โดยเรียกตามชื่อ ขนมซ่าหริ่ม ซึ่งมีหลายสี และอาจมีความหมายในเชิงดูถูก”
“คำนี้ได้เริ่มเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ.2548-2553 ซึ่งผู้สนับสนุนการเมืองกลุ่มต่างๆ ใช้สีเสื้อในการระบุอัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น พันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ใส่เสื้อสีเหลืองและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่ใส่เสื้อสีแดง”
“ต่อมากลุ่มประชาชนเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งรวมตัวกันครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2553 เพื่อคัดค้านกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา ได้เรียกตัวเองอย่างลำลอง ว่า “กลุ่มเสื้อหลากสี” เพื่อแยกตัวเองออกจากกลุ่มการเมืองก่อนหน้านี้”
กันยายน 2553 ทัศนะ ธีรวัฒน์ภิรมย์ ได้อธิบายลักษณะร่วมบางประการของ “สลิ่ม” ในบทความของประชาไท โดยสรุปได้เป็นนัยว่า “สลิ่มเป็นกลุ่มคนที่เป็น ผู้เกินกว่าราชา (Ultra-Royalist) เป็นคนที่มีการศึกษาสูง แต่จะเลือกเชื่อในสิ่งที่ได้รับการศึกษาในระบบมาเท่านั้น เป็นคนที่เชื่อคนยาก แต่จะเลือกเชื่อคนที่ดูดีมีความรู้”
“เป็นผู้มีอันจะกิน มีกำลังซื้อมากและชอบนำเทรนด์ และเป็นคนที่มีความย้อนแย้งในตัวเองสูง”
ตุลาคม 2554 พจนานุกรมการเมืองไทยร่วมสมัย www.thai politionary.com ให้ความหมายว่า “เป็นบุคคลที่หลงคิดว่าตนมีสติปัญญา คุณสมบัติ ความเชื่อ ค่านิยม หรือจริยธรรมเหนือกว่าผู้อื่น ทว่าแท้จริงกลับไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง”
“ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่สามารถใช้ตรรกะหรือแสดงเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ จึงมักอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือมีความเชื่อที่ผิดอยู่เสมอ”
ในช่วงการประท้วงในประเทศไทย 2563 เริ่มมีการใช้คำว่าสลิ่มกันในวงกว้างขึ้น ทำให้สื่อทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความหมายที่ร่วมกันว่า เป็นคำพูดที่ถูกใช้ในทางเย้ยหยัน หรือเหยียดหยาม (derogatory) เรียกกลุ่มคนอนุรักษนิยมสุดโต่ง (Ultraconservative) ผู้เกินกว่าราชา (Ultra-Royalist) และผู้สนับสนุนรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ครับ! นี่คือที่มาที่ไปและความหมายของคำว่าสลิ่มตามที่ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี รวบรวมไว้ที่ผมคัดลอกมาราวๆ 65 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้จบลงได้ในคอลัมน์…ท่านที่ประสงค์จะอ่านรายละเอียดโปรดไปเข้ากูเกิลอีกครั้ง
อ่านไปอ่านมาแม้ผมจะมั่นใจว่าตัวเองไม่เข้าข่ายคำกล่าวหาที่รุนแรงและมองโลกในแง่ร้ายของผู้กำหนดนิยามคำว่า “สลิ่ม” หลายต่อหลายข้อ แต่ก็เข้าข่ายเต็มที่อยู่ 2 ข้อ
นั่นก็คือการเป็นคน “อนุรักษนิยม” และ “มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” หรือ royalist อย่างยิ่งยวดของผม
ถ้าคุณสมบัติ 2 ข้อนี้ ทำให้เป็นสลิ่มผมก็ยินดีจะเป็นครับ…และยิ่งทราบว่า “สลิ่ม” แผลงมาจาก “ซ่าหริ่ม” ด้วยเช่นนี้ คนชอบกิน “ซ่าหริ่ม” เป็นชีวิตจิตใจอย่างผม ก็พร้อมที่จะเป็น โดยไม่ปฏิเสธเลยครับ…ซตพ.
“ซูม”