“46 ปี” แห่งความหลัง จาก “ไซ่ง่อน” ถึง “คาบูล”

ผมเห็นด้วยกับสำนักข่าวทั่วโลกที่เปรียบเทียบเหตุการณ์ ที่สนามบินกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วว่าคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เวียดนาม ในวันที่กรุงไซ่ง่อนแตก 30 เมษายน 2518 หรือเมื่อ 46 ปีที่แล้วอย่างไรอย่างนั้น

หลายท่านคงจำได้ว่า วันไซ่ง่อนแตก…ชาวเวียดนามใต้จำนวนมากที่หวาดกลัวเวียดกงต่างแห่กันไปที่สถานทูตสหรัฐฯ หวังจะไปขอขึ้น เฮลิคอปเตอร์ที่ทางการสหรัฐฯ ส่งมารับเจ้าหน้าที่ของตน เพื่อหลบหนีไปด้วย

เมื่อไม่สามารถปีนเข้าไปในตัวเครื่องได้ มีอยู่หลายรายทีเดียวที่กระโดดเกาะ ฐานสกี ของเฮลิคอปเตอร์หวังจะห้อยโหนไปสู่จุดหมายปลายทาง แต่เพียงชั่วครู่เดียวก็ไม่สามารถต้านแรงดึงดูดของโลกได้ต้องปล่อยมือร่วงผล็อยลงมาและเสียชีวิตอย่างน่าสลดใจ

สำหรับเหตุการณ์ที่สนามบินคาบูล เมื่อวันอาทิตย์หลังจากกองกำลังของกลุ่มตาลีบันบุกเข้ายึดเมืองหลวงของอัฟกานิสถานได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ผิดคาด…คนอัฟกานิสถานจำนวนมากที่หวาดกลัวกลุ่มตาลีบัน ก็แห่กันไปสนามบินเพื่อเตรียมหนีออกนอกประเทศ

พอเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งจะบินมารับทหารและพลเรือนสหรัฐฯ บินมาถึงก็ปรากฏว่าชาวอัฟกันนับพันคนต่างกรูเข้าไปเบียดเสียดเพื่อยื้อแย่งขึ้นเครื่องบินลำดังกล่าว
บางรายก็กระโดดเกาะล้อเครื่องบิน และในที่สุดก็ต้องร่วงหล่นลงมาเสียชีวิต เช่นเดียวกับชาวเวียดนามที่กระโดดเกาะฐานสกีของเฮลิคอปเตอร์เมื่อ 46 ปีที่แล้ว

ทั้ง 2 ภาพแม้จะเกิดขึ้นคนละประเทศและคนละยุค แต่ตัวละครเอกที่เข้าไปเกี่ยวข้องเป็นตัวละครเดียวกัน ได้แก่สหรัฐฯ นั่นเอง

กรณีไซ่ง่อนและการเข้ามาสนับสนุนเวียดนามใต้ ทำสงครามกับเวียดนามเหนือคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ผมขออนุญาตไม่กล่าวถึง

มาว่าเฉพาะการเข้าสู่อัฟกานิสถานและในที่สุดก็ออกจากอัฟกานิสถานก็แล้วกัน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

เรื่องของเรื่องก็มาจากเหตุการณ์ 9/11 หรือการโจมตีตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 นั่นแหละครับ

สหรัฐฯ เจ็บปวดมากเมื่อทราบว่าผู้ก่อการร้ายชุดนี้ได้แก่กลุ่ม อัลกออิดะห์ ที่มี โอซามะ บินลาดิน เป็นหัวหน้า…จึงวางแผนจัดการทันที

ปรากฏว่า บินลาดิน ช่วงนั้นหลบมาซ่อนตัวอยู่ในอัฟกานิสถาน ซึ่งกลุ่ม ตาลีบัน เพิ่งเข้ามายึดครองราวๆ 2-3 ปีเห็นจะได้…ดังนั้น การจะเข้าไปจัดการกับ บินลาดิน…จึงต้องจัดการกับ ตาลีบัน เสียก่อน

ในเดือนตุลาคมปี 2001 หลังจากเหตุการณ์ที่เวิลด์เทรดแค่เดือนเดียวเท่านั้น สหรัฐฯ ก็ยกกำลังเข้าจัดการกับ ตาลีบัน ได้สำเร็จ และอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลอัฟกานิสถานมาตลอดหลังจากนั้น

การบุกเข้าอัฟกานิสถานของสหรัฐฯ ในปีดังกล่าว ได้รับเสียงชื่นชมจากชาวโลกไม่น้อย เพราะกลุ่มตาลีบันปกครองประเทศอย่างเข้มงวดเกินไป สุดโต่งเกินไป และจำกัดสิทธิสตรีเป็นอย่างยิ่งได้รับ เสียงวิจารณ์ในทางลบจากทั่วโลก

20 ปีในอัฟกานิสถาน…สหรัฐฯ สามารถจัดการกับบินลาดิน ได้ในที่สุด (ตามไปยิงในปากีสถานปี 2011) แต่ไม่สามารถจัดการกับกลุ่มตาลีบันได้อย่างเด็ดขาด แค่ไล่ออกจากเมืองหลวงได้เท่านั้น และต่อมาตาลีบันก็รวบรวมกำลังกลับมายึดคืนได้หลายเมือง
เมื่อคุณ โจ ไบเดน เข้ามาเป็นประธานาธิบดี ก็มีนโยบายดึงกำลังทหารสหรัฐฯกลับประเทศ ซึ่งก็โอเคเพราะหลายฝ่ายก็อยากให้กลับ

แต่เพราะการถอนแบบหมดรูป คือ ทหารสหรัฐฯ ยังออกจากคาบูลไม่หมดด้วยซํ้า แต่คาบูลแตกเสียแล้วจึงโดนสื่อสหรัฐฯ ถล่มเอาอย่างแรงรวมทั้งคุณ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกมาเยาะหยันเมื่อ 2 วันที่แล้ว

ที่ผมหยิบเรื่องนี้มาเขียนนอกจากรำลึกถึงเหตุการณ์ วันไซ่ง่อนแตก แล้วก็ยังนึกถึง “เบื้องลึก” ที่อยู่ในหัวใจของรัฐบาลอเมริกันทุกยุคทุกสมัยควบคู่ไปด้วย

อย่างไรเสียเขาก็จะนึกถึงประโยชน์ของประเทศเขาเองก่อนเสมอ… เวลาเขาจะทำอะไรในสิ่งที่เขาคิดว่าได้ประโยชน์ หรือเพื่อศักดิ์ศรี เขาจะทำทันทีและทำทุกรูปแบบเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

แต่พอเขาเสร็จภารกิจแล้ว หรือเห็นว่าประเทศนั้นๆ ไม่มีประโยชน์แล้ว…หรือเปลี่ยนนโยบายในภายหลัง เขาก็จะผละหนีทันที

ใครริอ่านจะทำการใหญ่ โดยหวังจะได้อเมริกาเป็นแรงหนุนโปรดคิดให้ดีๆ นะครับ เดี๋ยวจะเจ็บปวดแบบคนเวียดนามในอดีตหรือคนอัฟกันที่เราเห็นภาพสะเทือนใจอยู่ในขณะนี้.

“ซูม”

ข่าว, สหรัฐอเมริกา, อัฟกานิสถาน, กรุงคาบูล, ตาลีบัน, ต่างประเทศ, ซูมซอกแซก