ปรบมือให้ “ครูสลา คุณวุฒิ” “เพชร” แห่ง “เพชรในเพลง”

ก่อนจะเขียนถึงเรื่องราวที่พาดหัวไว้ ขออนุญาตแก้คำผิดย้อนหลังสำหรับข้อเขียนสัปดาห์ที่แล้วสักหลายๆ ย่อหน้านะครับ เพราะปล่อยไก่เอาไว้ตัวเบ้อเริ่ม

ที่ไปบอกว่าแชมป์การประกวดเพลง “โกลเด้นซอง…เวทีเพลงเพราะ” ซีซัน 1 ของ ช่องวัน 31 ได้แก่ “แอ๊ค” โชคชัย เจริญสุข นั่นแหละครับ

เพราะที่ถูกต้อง…ต้องเป็น “แอ๊ค” โชคชัย หมู่มาก ตาหากล่ะ…พอแก่ตัวเข้าสมองชักจะมึนๆ ไปได้เหมือนกัน…อาจจะเพราะเคยเป็นแฟนละครทีวีรุ่นเก่า เคยดูโชคชัย เจริญสุข เล่นหลายเรื่อง… พอเขียนถึง “โชคชัย” ก็ไปที่ “เจริญสุข” โน่นเลย

สรุปว่า แชมป์โกลเด้นซอง ซีซัน 1 คือ “แอ๊ค” โชคชัย หมู่มาก นะครับ…ต่อไปจะระวังให้มากขึ้นครับ

ทีนี้ก็มาว่ากันถึงเรื่องราวที่ตั้งใจจะเขียนถึงในสัปดาห์นี้ตามที่พาดหัวไว้ว่า…ปรบมือให้ “ครูสลา คุณวุฒิ”…“เพชร” แห่ง “เพชรในเพลง” กันได้ละครับ

ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวบันเทิงคงจะทราบแล้วว่า เมื่อ 2 วันก่อน สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย ให้แก่นักร้อง นักแต่งเพลงหลายๆ ท่าน พร้อมกับมอบรางวัล “เพชรในเพลง” ให้แก่ศิลปินดังกล่าวเป็นเกียรติยศ เนื่องในวันภาษาไทยปี 2564 ที่จะมาถึงในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้

ได้แก่ 1. “เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย์ ผู้ขับร้องเพลง “ให้โลกได้เห็น น้ำใจคนไทย” 2. ครูสลา คุณวุฒิ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง “แรงก้อนสุดท้าย” 3. มนต์แคน แก่นคูน ผู้ขับร้องเพลง “แรงก้อนสุดท้าย” 4. หนุ่ม กะลา ได้รับ 2 รางวัล ทั้งจากผู้ประพันธ์และผู้ขับร้องเพลง “ลม”

หัวหน้าทีมซอกแซกขอแสดงความยินดีจากใจจริงแก่ทุกๆ ท่านไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง แต่ที่จะหยิบยกมากล่าวถึงเป็นพิเศษเฉพาะครู สลา คุณวุฒิ ก็เพราะมีความชื่นชมคุณครูเป็นการส่วนตัวมานานพอสมควร คงไม่มีโอกาสไหนที่จะเขียนแสดงความยินดีและขอบคุณคุณครูได้เท่ากับโอกาสนี้อีกแล้วละ

เหตุที่หัวหน้าทีมต้อง “ขอบคุณ” คุณครูด้วยเพราะครูสลาได้ใช้ความเป็นครูและเป็นกวีของท่านในการรังสรรค์ความสุขให้แก่แฟนเพลงอย่างมีคุณค่ามาโดยตลอด

สอนให้ต่อสู้ สอนให้อดทน สอนให้รักบ้านเกิดเมืองนอน และรักเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก

แม้ส่วนใหญ่เพลงของครูจะสะท้อนความยากจนของชาวอีสาน ความต่ำต้อย และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากค่าแรงต่ำๆ ในขณะเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง หรือเมืองใหญ่อื่นๆ

แต่ครูก็จะสอนให้เอาชนะความจน และความทุกข์ยาก ที่พี่น้องในชนบทเผชิญอยู่ด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่โทษโชคชะตา ไม่โกรธแค้น ไม่ปลุกระดม ให้เกิดความชิงชัง ระหว่างชนชั้นแต่อย่างใดทั้งสิ้น

เมื่อสู้ด้วยความอดทนแล้ว ประสบความสำเร็จแล้วก็อย่าลืมบ้านเกิดถิ่นเกิดของตนเอง…มีโอกาสกลับได้ก็ขอให้กลับ

ดังเช่นเพลง “แรงก้อนสุดท้าย” ของครูสลาที่แต่งให้ มนต์แคน แก่นคูน ร้องจนได้รางวัล “เพชรในเพลง” ในปีนี้ด้วยกันทั้งคู่

แนวคิดของเพลงนี้ ถ้าจะว่าไปก็คล้ายๆ เพลง “ดอกหญ้าในป่าปูน” ที่เคยแต่งให้ ต่าย อรทัย ร้องจนต่ายแจ้งเกิดและเพลงก็ขายเป็นล้านตลับในยุคก่อน

จะแตกต่างกันบ้างก็ตรงที่ “ดอกหญ้าในป่าปูน” ครูสลาแต่งให้ ต่าย อรทัย ฮึดสู้แล้วไปร่ำเรียนภาคค่ำ จนได้ “สวมมงกุฎดอกหญ้า” (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนจบปริญญาตรียุคหนึ่งที่จะสวมมงกุฎดอกไม้ในวันแต่งครุยไปรับปริญญา) ไปอวดพี่ๆ น้องๆ ที่ยังอยู่ต่างจังหวัด

แต่สำหรับเพลงหลังสุด ครูสลาให้ มนต์แคน ทบทวนตัวเอง ลดความหวังของตัวเองให้เหมาะกับตัวเราเท่าที่จะเหมาะได้…แล้วก็กลับบ้านเอา “แรงก้อนสุดท้าย” ไปกอดความสุขที่บ้านเฮา

ดูเหมือนจะข้ามขั้นตอนของความสำเร็จไปขั้นหนึ่ง (ไม่เหมือน มงกุฎดอกหญ้า ของต่าย อรทัย) แต่ก็ยังเป็นเพลงที่สวยงาม ทั้งในแง่การใช้ภาษาและความคิดอยู่เหมือนเดิม

รวมทั้งบรรยายถึงความอบอุ่นน่ารักของชนบท “ดอกติ้วดอกจานอ้อมกอดถิ่นฐานยังคอยเรา บ้านนอกยังสวยถ้าไม่หวังรวยแข่งใครเขา ขอดเก็บแรงเราย้อนคืนบ้านนา” เยี่ยมจริงๆ ครับครูครับ

เหตุที่หัวหน้าทีมซอกแซกต้องขอขอบคุณครูสลาอีกประการหนึ่งก็คือครูยังคงรักษา “ขนบ” และ “กรอบ” ในการประพันธ์เพลงในยุคเพลง “ลูกกรุง” และ “ลูกทุ่ง” รุ่งเรือง (2490-2526) เอาไว้อย่างคงเส้นคงวา

เพลงของครูทุกเพลงยังเริ่มต้นด้วย 2 ท่อนแรกที่มีทำนองเหมือนกันแล้วมีท่อน 3 เป็นท่อนแยกแปลกทำนองออกไป ก่อนจะกลับมาสู่ท่อน 4 ท่อนสุดท้ายที่ใช้ท่วงทำนองเดียวกับ 2 ท่อนแรกอีกครั้งหนึ่ง

ระหว่างท่อนต่อท่อนจะมีการสัมผัสโยงกันไปตลอด ทำให้เพลงทั้งเพลงเรียงร้อยตั้งแต่ท่อนแรกถึงท่อนสุดท้าย กลายเป็นบท “กวี” อีกประเภทหนึ่ง

ผมจึงต้องขอบคุณครูสลาที่ยังรักษากรอบหรือขนบในการแต่งเพลงดั้งเดิมหรือเพลง 4 ท่อนเอาไว้ในการแต่งเพลง “ลูกทุ่ง” ของท่าน… ทำให้วิธีการและกรอบการแต่งในลักษณะนี้ยังคงอยู่มาจนถึงบัดนี้

อ้อ! ขอบคุณย้อนหลังไปถึงเพลง “เล่าสู่หลานฟัง” ที่ครูแต่งเมื่อครั้งในหลวง ร.9 เสด็จสวรรคต ให้ ต่าย อรทัย และหลายๆ คนร่วมกันขับร้องรวมทั้งตัวครูเอง…ฟังเมื่อไรก็ยังร้องไห้เมื่อนั้นแม้ทุกวันนี้

นี่คือตัวอย่างของเพลง “4 ท่อน” สัมผัสในสัมผัสนอกอีกรูปแบบหนึ่งของบทกวีเพลงที่ต้องรักษาไว้และครูก็รักษาเอาไว้ได้อย่างมั่นคง

เพลงของครูจึงไม่ใช่เพลงรุ่นใหม่ที่ผมเล่าว่า เกิดขึ้นนับแต่ปี พ.ศ.2526 เป็นต้นมา ที่แต่งแบบว่า ไปเรื่อยๆคล้ายกลอนเปล่า ไม่มีสัมผัสระหว่างบทระหว่างท่อน แม้จะใช้คำคมและไพเราะเพียงใด แต่ก็ขาดความเป็นกวีและจดจำได้ยากอย่างยิ่ง

รวมทั้งเพลง “ให้โลกได้เห็น น้ำใจคนไทย” ที่เบิร์ดร้องและได้รางวัลนี้ด้วย…ใช้ถ้อยคำไพเราะมาก แต่ไม่ใช่บทกวีดังเช่นบทเพลงในยุคดั้งเดิม

ครูสลาจึงเป็น “เพชร” แห่ง “เพชรในเพลง” โดยแท้จริงในทัศนะของทีมงานซอกแซกด้วยประการฉะนี้แล.

“ซูม”

ข่าว, ครู สลา คุณวุฒิ, เพชรในเพลง, ผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย, ซูมซอกแซก