อังกฤษไม่กลัว “เดลตา” เดินหน้า “ปลดล็อก” 19 ก.ค.

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวัน ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับ ช่วงบ่ายๆ วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ยังคงพุ่งอย่างชนิดหยุดไม่อยู่ตามเคยครับ…วันเดียวสูงถึง 9,539 ราย ทำให้ยอดสะสมขึ้นไปสูงถึง 336,371 ราย เป็นอันดับที่ 61 ของโลก

ส่วนยอดผู้เสียชีวิตวันนี้ก็สูงถึง 86 ราย รวมเป็น 2,711 ราย เป็นอันดับที่ 83 ของโลก

ผมขอแสดงความเสียใจต่อญาติมิตรของผู้เสียชีวิตทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ และขอภาวนาให้มาตรการล็อกดาวน์ล่าสุดที่รัฐบาลประกาศและกำลังอยู่ในระหว่างบังคับใช้ผ่านมาได้ 2 วันแล้ว จงประสบความสำเร็จด้วยเถิด

สถานการณ์อันหนักหนาสาหัสที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ จะได้คลี่คลายลงไปบ้าง ในระยะเวลาอันใกล้นี้เพื่อที่เราจะได้มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์กันเสียที

สำหรับประเทศที่มีความมั่นใจสูงสุดว่า เขาหลุดพ้นออกจากอุโมงค์แน่นอนแล้ว และเตรียมที่จะประกาศ “อิสรภาพ” จากโควิด-19 โดยจะปลดล็อกมาตรการเข้มข้นทุกรูปแบบในวันจันทร์หน้า (19 กรกฎาคม) ก็คือ อังกฤษ นั่นเอง

เหตุใดท่านนายกรัฐมนตรีอังกฤษจึงกล้าตัดสินใจเช่นนี้ ทั้งๆ ที่ตัวเลขการติดเชื้อใหม่ พุ่งกระฉูดขึ้นอย่างน่าตกใจ เรามาติดตามอ่านเหตุผลของท่านกันเลยนะครับ

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ตัวเลขที่สำนักข่าวใช้รายงานนั้น จะเป็นตัวเลขรวมของสหราชอาณาจักร ที่ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ

แต่ก็พอประมาณได้ว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของตัวเลขนี้จะเป็นของอังกฤษ ที่ได้ประกาศตัดสินใจปลดล็อก 100 เปอร์เซ็นต์ ที่เรากำลังพูดถึง

จากยอดติดเชื้อในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ของสหราชอาณาจักรที่เฉลี่ยแค่วันละ 1,000 กว่าคน หรืออย่างเก่งก็ 2,000 คน และเสียชีวิตวันละ 20-30 คนนั้นถือเป็นตัวเลขที่ดีมากๆ

จู่ๆ สายพันธุ์เดลตาก็ทำให้ตัวเลขของสหราชอาณาจักรพุ่งไป 10,000 รายต่อวันในช่วงปลายๆ เดือนมิถุนายน แล้วก็พุ่งมาตลอดจนผ่านหลัก 30,000 กว่ารายต่อวันไปแล้ว ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา

ทั้งๆ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขนาดนี้ทำไมคุณบอริส จอห์นสัน ไม่กลัว? …ท่านให้เหตุผลว่า เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้เข้าโรงพยาบาลต่ำมาก…ต่ำอย่างไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวเลขติดเชื้อใหม่เลย

ในขณะที่ยอดติดเชื้อใหม่พุ่งมาถึง 30,000 รายต่อวันนั้น ยอดผู้เสียชีวิตก็ยังอยู่ที่ 20-30 รายต่อวัน คงที่อยู่ตลอด…และยอดผู้ป่วยหนักก็แค่ 400-500 รายเท่านั้นเอง

นั่นก็แปลว่าผู้ติดเชื้อใหม่สามารถรักษาตัวเองได้ ถึงมาโรงพยาบาลก็แค่รับยาแล้วกลับไปดูแลตัวเองได้ ทำให้ป่วยหนักน้อยและเสียชีวิตน้อยเป็นผลพวงโดยตรงมาจาก “วัคซีน” นั่นเอง

สหราชอาณาจักรฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้ว 34 ล้านคนเศษ คิดเป็นร้อยละ 52 ของประชากรของประเทศ ซึ่งตามเป้าหมายทางการแพทย์หากฉีดได้ 70 เปอร์เซ็นต์ จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยแท้จริง
แต่ของสหราชอาณาจักรฉีดได้ 52 เปอร์เซ็นต์ ก็เริ่มเห็นผลบางประการแล้ว…นั่นก็คือ ผลสำคัญที่งานวิจัยจากหลายๆ ประเทศ ระบุตรงกันว่า หลังฉีดวัคซีนแล้ว แม้จะติดเชื้อใหม่ได้ แต่การป้องกันไม่ให้ “ป่วยหนัก” หรือ “เสียชีวิต” จะยังอยู่ในอัตราสูงอย่างน่าพอใจ

นับเป็นเหตุผลหลักที่ คุณ บอริส จอห์นสัน นำมาใช้ในการประกาศอิสรภาพจากโควิดของอังกฤษในสัปดาห์หน้า

แน่ละบรรดาคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายยังไม่สบายใจนัก มีการท้วงติงมีการตั้งข้อสังเกตให้ระมัดระวังหลายๆ อย่าง

พรรคฝ่ายค้านก็ออกมาติงเช่นเดียวกัน ว่าเป็นการตัดสินใจที่เร่งด่วนเกินไป และมีความเสี่ยงสูงมาก
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าอังกฤษจะหลุดพ้นจากอุโมงค์โควิด-19 ออกมารับแสงสว่างได้อย่างเต็มที่จริงหรือไม่? และจะเอาชนะสายพันธุ์เดลตา (หรือต่อไปอาจมีสารพันธุ์โหดๆตามมาอีก) ได้จริงๆหรือ?

ผมเชื่อว่าทั่วโลกคงลุ้นให้อังกฤษประสบความสำเร็จเพื่อที่ประเทศอื่นๆ จะได้เจริญรอยตาม โดยเฉพาะประเทศที่กำลังโดนสายพันธุ์เดลตาเล่นงานจนสะบักสะบอมอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย.

“ซูม”

ข่าว, ผู้ติดเชื้อ, โควิด-19, ล็อกดาวน์, กรุงเทพมหานคร, อังกฤษ, วัคซีน, ซูมซอกแซก