“เจ็บ” แล้วอยากให้ “จบ”

และแล้วสิ่งที่คนไทยคาดหมายมาหลายวันก็เกิดขึ้น…จะเรียกมันว่าอย่างไรก็ช่างเถอะ…แต่มติและข้อปฏิบัติของ ศบค.ที่แถลง เมื่อเย็นวันศุกร์และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเวลาเที่ยงวันเสาร์คือการ “ล็อกดาวน์” กทม.และปริมณฑลบวกด้วย 4 จังหวัดภาคใต้ นั่นเอง

มีอะไรบ้าง? ท่านผู้อ่านคงทราบกันดีอยู่แล้วจากรายละเอียดที่สื่อต่างๆรายงานไว้…ผมขออนุญาตไม่นำมารายงานซ้ำนะครับ

เพราะมีเจตนาเพียงจะแสดงความคิดเห็นผ่านคอลัมน์นี้ว่า ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลตัดสินใจกลับมาใช้ “ยาแรง” อีกครั้ง เพื่อจะหยุดยั้งเจ้าโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “เดลตา” ให้จงได้

หลังจากที่ใช้ยาที่ค่อนข้างแรงแต่ยังไม่แรงพอ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนทำให้ไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดได้อย่างที่คาดหวัง

ยอดติดเชื้อรายวันยังคงพุ่งสูงขึ้นและสูงขึ้น ใกล้จะถึงหลักหมื่นต่อวันทุกขณะ และยอดผู้เสียชีวิตก็สูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัว จนใกล้จะถึงวันละหลักร้อย จากรายงานล่าสุด และอาจจะถึงหลักร้อยแล้วก็ได้ในการแถลงวันต่อๆ มา

เตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลทุกแห่งของ กทม.และปริมณฑลเต็มหมดห้องไอซียูก็แน่นเอี้ยดจนไม่มีห้องว่าง ทำให้เกิดภาวะผู้ป่วยรอเตียงในทุกระดับ ไล่เป็นลำดับหนักเบากันไป

ส่งผลให้ผู้ป่วยหนักที่รอที่บ้าน รอที่แฟลตเสียชีวิตไปหลายราย จากข่าวที่มีการรายงานผ่านสื่อต่างๆ เป็นระยะ

นี่คืออาการที่บ่งบอกให้ทราบว่า ระบบสาธารณสุขของ กทม.และปริมณฑลใกล้จะล่มสลายเต็มที ไม่ใช้ “ยาแรง” เห็นทีจะไม่ได้เสียแล้ว

แต่ก็แน่ละ การใช้ยาแรงก็มีผลทั้ง 2 ด้าน…ใน ด้านดี คืออาจหยุดการระบาดของเชื้อโรคได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยรักษาชีวิตคนไทยเอาไว้… มิให้เจ็บหรือล้มตายไปมากกว่านี้

ส่วนใน ด้านร้าย คือผลกระทบในทางเศรษฐกิจที่อาจจะต้องหยุดชะงักหรือถดถอยต่อไปอีก…คนจะตกงานมากขึ้นอีก ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม หรือแม้แต่ขนาดใหญ่เองก็เถิด อาจจะต้องปิดตัวเองอีกระนาว

เป็นทาง 2 แพร่งที่รัฐบาลทุกประเทศในโลกนี้จะต้องเลือก และส่วนใหญ่ก็จะเลือกใช้ “ยาแรง” เมื่อสถานการณ์บีบบังคับ

โดยเฉพาะสถานการณ์ที่จำเป็นจะต้องปกป้อง “ชีวิต” ของผู้คนในชาติ ซึ่งสำคัญกว่าอะไรทั้งหมด

ผมจึงเห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ ที่มีจุดมุ่งหมายจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดและลดจำนวนการติดเชื้อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากไวรัสกลายพันธุ์…พันธุ์ล่าสุด ให้จงได้

แต่ผมก็เห็นด้วยกับข้อสังเกตของภาคธุรกิจและนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยที่วิตกว่า เมื่อ “เจ็บ” แล้ว จะ “จบ” ได้จริงหรือไม่?

จะต้องพยายามให้ “จบ” ให้ได้ เพราะฐานะเศรษฐกิจของประเทศไทยขณะนี้ไม่น่าจะมีความแข็งแกร่งหลงเหลือ พอที่จะรับการบาดเจ็บที่มากกว่านี้ในอนาคตได้อีกแล้ว

ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการควบคู่ไปอย่างจริงจัง ก็คือการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้ทุกๆฝ่ายปฏิบัติตามกฎกติกาที่กำหนดไว้ในแผนล็อกดาวน์ครั้งนี้อย่างเคร่งครัดโดยไม่มีข้อยกเว้น

อย่าปล่อยให้มีการฝ่าฝืนหรือลักลอบแหกกฎต่างๆ ดังที่ภาครัฐปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นต้นเหตุของการระบาดครั้งใหญ่หลายๆครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องจัดการคัดกรองและหาวิธีตรวจการติดเชื้อที่รวดเร็วและเหมาะสมให้แก่ประชาชน…โดยเฉพาะภาพที่สุดแสนเวทนาจากการที่ประชาชนไปนอนรอการตรวจชนิดต้องตากฝนตากยุงข้ามคืน… จะต้องไม่มีให้เห็นอีกอย่างเด็ดขาด

สำคัญที่สุดก็คือการจัดหาวัคซีนและการฉีดวัคซีนซึ่งแม้จะได้ตกลงซื้อไปมากพอสมควรแต่ต้องรอเวลาส่งมอบที่ยาวนานทั้งสิ้น…ยี่ห้อไหนที่สามารถเจรจาให้มาเร็วๆ ได้จะต้องใช้ความพยายามให้มากที่สุด

พี่น้องประชาชนก็ไม่ควรเกี่ยงงอนมากนักเพราะค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าวัคซีนทุกยี่ห้อช่วยป้องกันการ “ป่วยหนัก” และ “การตาย” ได้…ขอให้รีบฉีดไว้ก่อน วันหลังได้ของใหม่มาเพิ่มจะฉีดเข็ม 3 ก็ค่อยว่ากัน

พร้อมกันนี้ การเตรียมโครงการเยียวยาต่างๆ ให้ตรงจุดก็จะต้องเริ่มคิดอ่านเสียแต่เนิ่นๆ และพร้อมปฏิบัติในทันที

ผมจึงเห็นว่าเราจะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชนและพวกเราภาคประชาชนในการปฏิบัติตามแผน “ล็อกดาวน์” ครั้งนี้

ให้มัน “เจ็บ” แล้ว “จบ” ให้ได้ อย่างที่คาดหวังไว้นะครับ.

“ซูม”

ข่าว, โควิด 19, ล็อกดาวน์, เศรษฐกิจ, ยอดติดเชื้อ, ซูมซอกแซก