กราบ “มานะ แพร่พันธุ์” เพราะ “พี่” วันนี้จึงมี “ซูม”

วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน 2564 ซึ่งตามคิวแล้วจะเป็นรายการ “เสาร์สารพัน” เชิญชวนท่านผู้อ่านไปเที่ยวโน่นชมนี่ หรือในช่วงนี้โควิด-19 ยังไม่เลิกอาละวาดก็จะเชิญชวนให้อยู่บ้านอ่านหนังสือบ้าง ติดตามถ่ายทอดสดออนไลน์บ้าง แก้ขัดไปพลางๆ

เสาร์นี้ขออนุญาตงด 1 เสาร์นะครับ เพราะเพิ่งได้รับข่าวสำคัญข่าวหนึ่ง…ข่าวสำคัญอย่างยิ่งสำหรับตัวผมเองน่ะครับ…ไม่สามารถที่จะผ่อนผันไปเขียนในวันอื่นๆ ได้เลย

ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงได้อ่านข่าวกันบ้างแล้วเมื่อช่วงสายๆ ของวันพุธที่ผ่านมา…สำนักข่าวออนไลน์หลายสำนักรายงานว่า พี่ มานะ แพร่พันธุ์ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ บ้านเมือง และอดีตบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ได้เสียชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักย่านประชาชื่น กทม. เมื่อเวลา 23.00 น. วันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2564 ด้วยวัย 94 ปี

ที่ผมกล่าวว่า ข่าวการเสียชีวิตของพี่ มานะ แพร่พันธุ์ สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผมจนไม่สามารถจะผ่อนผันไปเขียนวันอื่นๆ ได้นั้น มีเหตุผลอยู่ 2 เหตุผลครับ

เหตุผลแรก พี่มานะ คือผู้ที่เชิญชวนผมเข้ามาสู่อาชีพนักหนังสือพิมพ์ที่ผมรักและใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กๆ เคียงคู่หรือขนานไปกับอาชีพรับราชการ

ผมรู้จักพี่มานะตั้งแต่ พ.ศ.2510 ในยุคที่ท่านดำรงตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย โดยการแนะนำของเพื่อนๆ ผมหลายคนที่เป็นนักข่าว นักเขียน อยู่กับท่านใน พ.ศ.ดังกล่าว

ต่อมาในปี 2511 ผมได้รับทุนจากทางราชการไปเรียนปริญญาโทต่อที่สหรัฐฯ เพื่อนๆ ก็พาตัวไปลาท่านที่โรงพิมพ์ พิมพ์ไทย ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่ สามเหลี่ยมดินแดง ใกล้ๆ กับสำนักงาน ป.ป.ส.ในปัจจุบัน

พี่มานะบอกผมว่า “มีอะไรก็เขียนส่งมาบ้างนะ…เล่าเรื่องชีวิตที่โน่นก็ได้ หรือเรื่องท่องเที่ยวก็ได้…แต่บอกก่อนนะว่า ไม่มีค่าเขียน”

นั่นคือจุดเริ่มของการเข้าสู่อาชีพที่ผมรักและใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กๆ…ด้วยการเขียนเล่าชีวิตนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา…ความยากลำบากในการเล่าเรียน…วิธีเอาตัวรอดเพื่อให้เรียนจบให้ได้…ไปจนถึงเรื่องท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่สหรัฐอเมริกา

เขียนอยู่ 2 ปีเต็มๆ…ไม่ได้ค่าเรื่องแม้แต่บาทเดียว สมดังที่พี่มานะแจ้งไว้ก่อนแล้ว แถมยังเสียค่าส่งทาง ไปรษณีย์อากาศ ซึ่งแพงกว่าปกติเสียอีก แต่ผมก็เขียนด้วยความสุขและความเต็มใจ

ทันทีที่กลับบ้าน มกราคม 2513 พี่มานะก็ให้เพื่อนผมโทรศัพท์ไปตามตัวให้มานั่งแปลข่าวต่างประเทศในช่วงหัวค่ำทันที…บอกว่า …พี่เจรจาโรงพิมพ์แล้ว เขาจะให้นายวันละ 70 บาท จ่ายเป็นรายวัน

นั่นคือจุดเริ่มของอาชีพนักหนังสือพิมพ์แบบได้เงินเป็นครั้งแรกของผม…และสำหรับ พ.ศ.2513 รายได้เพิ่มอีกวันละ 70 บาทเนี่ย ทำให้ข้าราชการที่เพิ่งปรับจากชั้นตรีเป็นชั้นโทหมาดๆ เพราะจบปริญญาโทเรียบร้อย (เงินเดือน 2,600 บาท)…ลืมตาอ้าปากขึ้นได้เยอะเลย

ต่อมาอีก 2 ปีเต็มๆ ที่ พิมพ์ไทย…นอกจากแปลข่าวต่างประเทศ พี่มานะยังวานให้ผมทำโน่นทำนี่อีกหลายอย่าง รวมทั้งไปแปลข่าวฟุตบอลโลกปี 1970 ให้หน้าข่าวกีฬาอยู่เป็นแรมเดือนจนจบการแข่งขัน

หน้าไหนคนเขาลาออกเพราะพิมพ์ไทยยุคนั้นไม่ค่อยมีเงินจ่ายแล้ว พี่ก็วานให้ผมไปเขียนแทน…จนวันหนึ่งก็ได้เขียน “คอลัมน์บันเทิง” วิจารณ์หนังแทนคนเก่าที่ออกไป

พี่มานะเรียกผมไปเขียนแทนพร้อมกับตั้งนามปากกาให้เป็นการเฉพาะว่า “ซูม” โดยให้เหตุผลว่า “เวลาถ่ายหนังเขาจะมีการซูมกล้องเข้าซูมกล้องออก นายเอานามปากกานี้ไปใช้ก็แล้วกัน”

ส่งผลให้นามปากกา “ซูม” เกิดขึ้นในวงการหนังสือพิมพ์ และอยู่ยืนยาวมาจนถึงวันนี้ 50 ปีพอดิบพอดีเลยครับ

ขอบคุณ พี่มานะ แพร่พันธุ์ จากใจจริง เพราะถ้าไม่มีพี่ ผมก็คงรับราชการอย่างเดียว ไม่ได้มีโอกาสทำงานที่ผมรักที่สุดควบคู่ไปด้วย

เหตุผลที่ 2 ที่ผมต้องขออนุญาตเขียนถึงพี่ในวันนี้ให้ได้ (เสาร์ที่ 19 มิ.ย.) ก็เพราะจะมีพิธีฌาปนกิจส่งพี่ขึ้นสู่สรวงสวรรค์เวลา 15.00 น. ณ วัดเสมียนนารี เผื่อว่าลูกศิษย์ลูกหาและลูกน้องของพี่ที่ยังไม่ทราบข่าวจะได้มีโอกาสทราบและไปร่วมงานท่านอย่างพร้อมเพรียง

ขอดวงวิญญาณของพี่ในฐานะผู้สร้างและเปิดโอกาสให้แก่น้องๆ เสมอ (เท่าที่ผมทราบนับสิบนับร้อยคน)…จงมีความสุขความสงบ ณ สัมปรายภพไปตราบกาลนิรันดร์…ขอบคุณอีกครั้งครับพี่!

“ซูม”

ข่าว, โควิด 19, ซูม, มานะ แพร่พันธุ์, หนังสือพิมพ์, ซูมซอกแซก