“รัฐ+เอกชน” ผนึกกำลัง ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาผมได้เขียนถึงบทบาทของผู้บริหาร “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ที่ออกมาแถลงถึงบทบาทในการเป็น “แกนกลาง” ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ทำธุรกิจอยู่กับห้างต่างๆในเครือของกลุ่มเดอะมอลล์กว่า 6,000 ราย ที่ประสบปัญหาและได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูและเสริมสภาพคล่องของธนาคารต่างๆ รวม 6 ธนาคารที่พร้อมจะปฏิบัติตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

คุณ ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์กรุ๊ป ได้ออกมายืนยันนโยบายของกลุ่มที่จะยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าผ่านการสัมมนาออนไลน์ พร้อมทั้งได้เชิญท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศรวม 6 แห่ง มาแถลงถึงนโยบายและมาตรการเสริมสภาพคล่องของธนาคารไปพร้อมๆกันด้วย

ข้อดีประการหนึ่งของวิกฤติโควิด-19 ก็คือ แม้จะหนักหน่วงมาก แต่ภาคธนาคารยังแข็งแกร่งไม่เหมือน “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ที่เป็นวิกฤติของธนาคารต่างๆ โดยตรง…ดังนั้น สำหรับวิกฤติครั้งนี้ธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังรายละเอียดที่ผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 6 ธนาคารแถลงผ่านการสัมมนาออนไลน์ดังกล่าว

แต่เนื่องมาจากการระบาดที่กินเวลายาวนานและเกิดขึ้นถึง 3 ระลอก ในช่วงเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา…อีกทั้งอาจจะยืดเยื้อต่อไปอีก ทำให้เป็นห่วงกันว่าลำพังการร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคการเงินการธนาคาร รวมทั้งในระดับองค์กร เช่น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ฯลฯ อาจจะไม่เพียงพอ

คงจะต้องดึงภาคเอกชนรายบุคคลในระดับเจ้าของกิจการใหญ่ หรือธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งหลายเข้ามาช่วยอีกแรงหนึ่งด้วย

ดังเช่นที่เมื่อหลังการระบาดในระลอกแรก นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกจดหมายส่วนตัวไปถึงมหาเศรษฐีไทยให้เข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายรายด้วยกันและก็ได้รับคำตอบว่า…พร้อมและยินดีที่จะร่วมมือกับรัฐบาลถึง 7-8 ราย เท่าที่หนังสือพิมพ์ลงข่าว

อาทิ คุณ ชูชาติ เพ็ชรอำไพ, คุณ ฉัตรชัย แก้วบุตตา, คุณ ศุภชัย เจียรวนนท์, คุณ ฮาราลด์ ลิงค์, นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ, คุณ สมโภชน์ อาหุนัย ฯลฯ เป็นต้น

แต่หลังจากนั้นข่าวก็เงียบหายไป อาจจะเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรกดูดีขึ้น ประเทศไทยเราเหมือนได้รับชัยชนะสามารถหยุดยั้งการระบาดได้เร็วทั้งผู้ป่วยสะสมและผู้เสียชีวิตค่อนข้างน้อย

มีผลทำให้รัฐบาลมองว่า ลำพังรัฐบาลอย่างเดียวน่าจะเอาอยู่ จึงมีแต่โครงการฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินรอบแรก 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น…มาตรการขอความร่วมมือจากนักธุรกิจเอกชนใหญ่ๆ ดูเหมือนจะค่อยๆ จางหายไป

ขณะเดียวกัน ก็อาจเป็นเพราะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แสดงความไม่ไว้วางใจนักธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งหลาย ในทำนองว่าเมื่อเข้ามาช่วยรัฐบาลแล้วก็อาจจะได้รับผลตอบแทนอะไรบางอย่าง…ทำให้โครงการนี้ดูเหมือนจะหายเข้ากลีบเมฆไปในที่สุด

ถ้ายังคงมีอยู่ ผมก็ขออภัยด้วยนะครับ ผมพยายามเข้ากูเกิลค้นดูแล้ว แต่ไม่พบข้อมูลอะไรมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะผมเข้าค้นหาไม่ถูกช่องทางก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับการระบาดระลอกที่ 2 และที่ 3 ซึ่งทั้งรุนแรงและแพร่กระจายทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง…แถมยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ นั้น…ผมคิดว่าควรจะรื้อฟื้นโครงการนี้กลับมาอีก

นักธุรกิจหลายๆ ท่านที่เคยมีข่าวว่ายินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและพร้อมจะมีโครงการฟื้นฟูต่างๆ ที่ท่านเตรียมไว้…โปรดแถลงอีกครั้งนะครับว่าโครงการของท่านมีอะไรบ้าง และพร้อมจะเดินหน้าในการฟื้นฟูอย่างไรและเมื่อไร

ผมจะพยายามติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวจากท่านทั้งหลาย… และจะหยิบมาเขียนให้กำลังใจทันที เพื่อให้โครงการหรือแผนการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของท่านเป็นที่รับรู้ของพี่น้องประชาชนชาวไทยเพิ่มมากขึ้น

ดังที่หลายๆ ฝ่ายคาดไว้ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ว่าการตกต่ำครั้งนี้หนักกว่าทุกครั้งเพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก…ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปได้ช้าอาจต้องรอถึงไตรมาสแรกของปีโน้นคือ ปี 2566 ด้วยซ้ำกว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด-19 ได้

และถ้าภาครัฐ ภาคเอกชนไม่จับมือกันอย่างเหนียวแน่น…ไม่แน่นะครับ เราอาจต้องรอคอยยาวนานไปกว่านั้นเสียอีกกระมัง?

“ซูม”

ข่าว, รัฐ, เอกชน, เดอะมอลล์, เศรษฐกิจ, ไทย, ศุภลักษณ์ อัมพุช, โควิด 19, ซูมซอกแซก