ภาค “เอกชน” พร้อมช่วย “รัฐ” “สปิริต” เพื่อชาติยาม “วิกฤติ”

ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ ช่วงบ่ายแก่ๆของวันอังคารที่ 27 เมษายนที่ผ่านมานั้น…ข่าวใหญ่ประจำวันของสื่อออนไลน์ต่างๆ ก็คือ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันยังสูงถึง 2,179 ราย เกิน 2,000 ราย เป็นวันที่ห้าติดต่อกัน

ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตประจำวันก็ขึ้นสูงทำสถิติ “นิวไฮ” ถึง 15 รายต่อวัน มากที่สุดนับตั้งแต่ประเทศไทยเราเผชิญกับโควิด-19 เป็นต้นมา

ยอดติดเชื้อใหม่เกิน 2,000 เป็นเรื่องที่คาดหมายไว้แล้ว เพราะยังอยู่ในช่วงของผลพวงจากสงกรานต์ ซึ่งจะต้องรอไปอีกระยะหนึ่ง

แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ ความรุนแรงของโรคอันเป็นผลให้ยอดผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และในวันเดียวกันนี้ ก็ยังมีผู้ป่วยหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจถึง 169 ราย

ทราบว่าทุกโรงพยาบาลต่างก็ทุ่มเทความสามารถในการรักษาเยียวยาอย่างเต็มที่ รวมทั้งระดมเครื่องมือต่างๆ ทั้งที่ซื้อเองและรับบริจาค เข้ามาเสริมเท่าที่จะสามารถเสริมได้

ผมขอให้กำลังใจและขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกๆ ท่านไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง ที่ได้ทุ่มเทเสียสละในการที่จะเอาชนะโรคร้ายในครั้งนี้ให้จงได้ ดังที่เราได้ทราบข่าวคราวมาโดยตลอด

ขณะเดียวกันวันนี้ก็มี “ข่าวดี” ที่เป็นความหวังของพวกเราชาวไทยว่า ทางฝ่ายของภาคเอกชนที่เสนอตัวเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐในการทำสงครามกับโควิด-19 นั้น พร้อมที่จะเสนอ “แผนการกระจายวัคซีน” ให้แก่นายกรัฐมนตรี ซึ่งตามข่าวก็คือในวันพุธที่ 28 เมษายน

ท่านประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สุพันธุ์ มงคลสุธี ชี้แจงแก่ผู้สื่อข่าวว่าคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน อันได้แก่ สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ และ สมาคมธนาคารไทย จะเข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุด

โดยภาคเอกชนพร้อมร่วมมือทั้งการนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติม สถานที่การฉีด อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากการระบาดรอบใหม่มีแนวโน้มการติดเชื้อที่มากกว่าทุกรอบ หากยืดเยื้อออกไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างใหญ่หลวง โดยประเมินมูลค่าเสียหายถึงเดือนละประมาณ 1 แสนล้านบาท ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถฉีดวัคซีนได้ 20-30 ล้านโดส ภายใน เดือนมิถุนายนนี้ ก็จะลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจได้

นายสุพันธุ์กล่าวด้วยว่ารายละเอียดต่างๆคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนได้จัดทำขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในวันดังกล่าว

ผมขอเอาใจช่วยให้การหารือระหว่างรัฐบาลกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนทั้ง 3 สถาบันจงเป็นไปด้วยดี และจบลงด้วยการมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน

สามารถไปซื้อหาวัคซีนยี่ห้อต่างๆ มาช่วยเสริมจากเดิมที่รัฐบาลเคยมีแผนอยู่แล้วได้ตามที่ตั้งใจไว้

จริงๆ แล้วภาคเอกชนเขาก็เข้าใจข้อจำกัดของรัฐบาลและเขาก็บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมานั้นเหมาะสมกับสถานการณ์เดิมอยู่แล้ว

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เชื้อโรครอบใหม่มาแรงกว่าที่คิด เขาก็มีความเห็นกันว่าควรจะได้มีส่วนช่วยรัฐบาลด้วย เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ภาคเอกชนนั่นแหละจะได้รับเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในด้านธุรกิจท่องเที่ยว ดังนั้นการร่วมมือกันจึงจะเกิดประโยชน์แก่ทุกๆ ฝ่าย

ผู้ที่ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้อย่างชัดเจนก่อนหน้านี้ก็คือท่านเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ นั่นเอง

นี่คือบรรยากาศที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วสำหรับการแก้ปัญหาวิกฤติ…คือจะต้องมองไปที่ประเด็นหลัก ไม่ใช่ประเด็นปลีกย่อย

ในยามวิกฤติย่อมจะมีการดำเนินการผิดพลาดในเรื่องต่างๆ บ้าง เป็นของธรรมดา เราจะต้องไม่เอามากระหน่ำซ้ำเติมให้มันหนักขึ้นไปอีก การชี้หน้าด่าทอหรือใช้อารมณ์รุนแรงในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาใดๆ ได้…มีแต่จะซ้ำเติมให้ปัญหาหนักขึ้น

ในทางตรงกันข้าม เราจะต้องช่วยกันแนะนำวิธีแก้ไขความผิดพลาดนั้นๆ และเข้าไปช่วยแก้ด้วยเลย ถ้าเรามีความสามารถพอที่จะช่วยได้ดังที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน และซีอีโอบริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลาย กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ผมขอขอบคุณภาคเอกชนทั้งในระดับสถาบันหลัก และระดับบุคคลหลายๆ ท่าน ที่ได้แสดงออกถึงเจตนารมณ์ที่ดีในการที่จะช่วยกันแก้วิกฤติของบ้านเมืองอย่างจริงใจ

ทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อยๆ ละครับ ถ้าเราร่วมมือกันอย่างนี้.

“ซูม”

ข่าว, โควิด 19, วัคซีน, วิกฤติ, บ้านเมือง, แผนการกระจายวัคซีน, ผู้ติดเชื้อ, ซูมซอกแซก