เมื่อวานนี้ผมเขียนเล่าว่าผมไปนอนเฝ้าไข้แม่บ้านผมที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมา 3 คืน และตื่นมาเดินออกกำลังรอบโรงพยาบาลตลอดทั้ง 3 เช้า…เดินไปก็ระลึกความหลังของผมกับธรรมศาสตร์ไป…ตามประสา “สว.” ที่มักโหยหาถึงอดีตอยู่เสมอ
ผมเล่าความหลังของธรรมศาสตร์กับความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วมาจบด้วยเหตุการณ์วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2506 ที่ในหลวง ร.9 เสด็จฯ ไปทรงดนตรีครั้งแรกพร้อมกับนำทำนองเพลง “ยูงทอง” และต้น “หางนกยูง” 5 ต้น ไปพระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ท่าพระจันทร์ ซึ่งผมอยู่ในเหตุการณ์โดยตลอด
วันนี้ขออนุญาตรำลึกความหลังต่อนะครับ แต่จะไม่เล่าด้วยตัวเองละ…เพราะหนังสือพิมพ์ทุกฉบับยุคนั้นลงตีพิมพ์อย่างละเอียด
ใช้วิธีคัดลอกมาจากหนังสือพิมพ์ “เสียงอ่างทอง” ต้นตระกูลแท้ๆ ของ ไทยรัฐ มาฝากท่านผู้อ่านก็แล้วกัน
10 กุมภาพันธ์ 2506 หนังสือพิมพ์ “เสียงอ่างทอง” ได้เสนอภาพขนาดใหญ่ไว้หน้า 1 อย่างโดดเด่นพร้อมกับพาดหัวข่าวแถวยาวบนสุดว่า “ในหลวงทรงปลูกต้นหางนกยูงพระราชทานเพลงให้ มธ.”
“เมื่อเวลา 16.30 น. วันวาน (9 ก.พ.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เมื่อเสด็จฯ ไปถึงได้ทรงปลูกต้น หางนกยูง ที่ทรงเพาะชำด้วยพระองค์เองจำนวน 5 ต้น ทั้งสีเหลืองและสีแดง พระราชทานให้เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จากนั้นทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จเข้าสู่ห้องประชุมโดยมีนักศึกษาทั้งหญิง และชายประมาณ 1 หมื่นคน เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ณ โอกาสนี้ พล.อ.ถนอม กิตติขจร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กราบบังคมทูลถวายเงิน 25,069 บาท โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนอานันทมหิดล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชวาทให้นักศึกษาช่วยกันบำรุงรักษาต้นหางนกยูงให้เจริญเติบโตต่อไป และทรงเน้นว่านักศึกษาควรสำนึกอยู่เสมอว่าทุกคนเป็นคนไทย จงถือความสามัคคีเป็นหลักสำคัญและใช้วิชาต่างๆ ที่ได้ศึกษามาให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติให้มากที่สุด
หลังจากมีพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแซกโซโฟนร่วมกับวงดนตรี อส. และวงดนตรีของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักศึกษาคณะต่างๆ ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานเพลง โดยบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนอานันทมหิดล ซึ่งปรากฏว่ามีอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยและนักศึกษาโดยเสด็จเป็นจำนวนถึง 20,667.90 บาท
นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงแซกโซโฟนแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ได้ทรงเปียโนพระราชทานให้นักศึกษาฟังด้วย และก่อนจบรายการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพรแก่นักศึกษาที่กำลังจะสอบปลายปีด้วย”
ผมขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ทุกฉบับใน พ.ศ.ดังกล่าวอีกครั้งที่ลงตีพิมพ์ข่าวสำคัญของพวกเราชาวธรรมศาสตร์บนหน้า 1 อย่างพร้อมเพรียงกัน แต่ด้วยเนื้อที่จำกัดผมก็คัดลอกมาเพียงเท่านี้ (ท่านผู้อ่านสามารถไปขออ่านได้ที่ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี)
ในปีแรกที่เสด็จทรงดนตรีและพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น มีเฉพาะทำนองเพลงเท่านั้น แต่จากการที่มีการขอให้ทรงบรรเลงซ้ำแล้วซ้ำเล่าดังข่าวของ เสียงอ่างทอง ข้างต้น ทำให้นักศึกษารวมทั้งผมด้วยแทบจะเดินผิวปากหรือฮัมทำนองได้เลยเมื่อออกจากหอประชุม
เผอิญผมเรียนจบไปเสียก่อนมิได้เข้าเฝ้าฯ ในปีต่อมา ซึ่งก็ทราบว่าได้มีการประพันธ์เนื้อร้องโดยสมบูรณ์แล้ว เรียกกันขณะนั้นว่าเพลง “ยูงทอง” ประพันธ์โดย นายจรัล บุณยรัตพันธุ์ และได้มีการนำขึ้นร้องบนอัฒจันทร์เชียร์ฟุตบอลประเพณีคู่กับเพลงพระราชนิพนธ์ “มหาจุฬาลงกรณ์” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นปีแรก
แม้ผมจะมาหัดร้องในภายหลัง แต่ก็สามารถร้องได้ขึ้นใจ โดยเพื่อนๆ นำมา “ต่อ” หรือ “สอน” ให้ในงานเลี้ยงรุ่นของพวกผมหลังจากนั้น.
(อ่านตอนจบพรุ่งนี้)
“ซูม”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
• อีกหนึ่งบันทึกธรรมศาสตร์ ภาพจำเพิ่มเติมวัน “ทรงดนตรี”
• ปลูก “ยูงทอง” ไว้เคียง “โดม”..วันที่ “ชาวธรรมศาสตร์” ไม่เคยลืม
• ไปนอน รพ.ธรรมศาสตร์ คิดถึง “คำสอน” ธรรมศาสตร์
• จาก “โดมชรา” คนหนึ่ง ถึง “มหา’ลัย” อันเป็นที่รัก