ห่วงธุรกิจท่องเที่ยวไทย โดน “ทุนต่างชาติ” กว้านซื้อ

ผมอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” ของคุณนิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย ในหน้า 2 ไทยรัฐเมื่อ 2-3 วันก่อนแล้ว…เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความวิตกกังวลบางประการที่คุณนิติการุณย์เสนอไว้

จึงขออนุญาตที่จะหยิบมาเขียนสนับสนุนข้อคิดนี้อีกแรงหนึ่ง เพื่อให้ภาครัฐตระหนักและรีบหาทางแก้ไขโดยเร็วที่สุด

คุณนิติการุณย์เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงข่าวที่เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงนี้ว่า นักธุรกิจ อินเดีย และนักธุรกิจ จีน ที่มีตัวแทนอยู่ในเมืองไทยกำลังวิ่งซื้อโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ตามทำเลทองต่างๆ ในแหล่งท่องเที่ยวของไทยในราคาที่ถูกมากๆ

อาทิ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต เกาะช้าง เกาะสมุย ฯลฯ เป็นต้น อันเป็นผลมาจากวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวล้มระเนนระนาด ผู้ประกอบการขาดทุนไปตามๆ กันแทบไม่มีทางชำระหนี้ธนาคาร

คุณนิติการุณย์ฝากข้อสังเกตไว้ว่า หากธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ในกำมือของนักลงทุนต่างชาติหมด ต่อไปในอนาคตเมื่อธุรกิจนี้เริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว คนไทยและประเทศไทยก็แทบจะไม่ได้อะไรเลย

อย่างเก่งก็ได้แค่ค่าจ้างงานของพนักงานต่างๆ บ้างเท่านั้น จะคุ้มกันหรือไม่กับต้นทุนของชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวที่เราสั่งสมไว้ในอดีต และทรัพยากรท่องเที่ยวอันทรงคุณค่าและสวยงามต่างๆ ที่เป็นสมบัติของคนไทย ซึ่งผลตอบแทนควรจะตกอยู่กับประเทศไทยและคนไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับและเห็นว่าภาครัฐหรือภาคการธนาคารของเราจะต้องร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหาเรื่อง “กว้านซื้อ” โรงแรมโดยนักลงทุนต่างชาติโดยด่วน

ยิ่งบอกว่านักธุรกิจต่างชาติที่กำลังมากว้านซื้อเป็นนักธุรกิจจีน นักธุรกิจอินเดียด้วยแล้ว ก็ยิ่งน่าวิตกอย่างยิ่ง

ในกรณีของอินเดีย ผมยังไม่เคยได้ยินว่าพฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจของเขาเป็นอย่างไร? ลงทุนมีกำไรแล้วรีบส่งกลับประเทศตนเองหรือไม่?

แต่ในกรณีของจีนนั้น เราเจอมาแล้วในยุคท่องเที่ยวเฟื่องฟูจากกรณีทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่นักธุรกิจจีนมักจะสูบผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับประเทศของเขา และเหลือส่วนแบ่งไว้ให้ประเทศไทยจนแทบไม่คุ้มกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรท่องเที่ยว

เวลาพูดถึงจีนเราต้องแยกออกไป 2 ส่วนคือ ภาครัฐบาล กับ ภาคเอกชน ซึ่งในภาครัฐบาลนั้นผู้คนจะชื่นชมมากว่ามีความจริงใจ มีความเป็นมิตร พร้อมที่จะช่วยเหลือดูแลประเทศที่อ่อนแอกว่า

ในขณะที่ภาคเอกชนหรือนักธุรกิจของเขาจะไปอีกแบบหนึ่ง คือจะดำเนินธุรกิจแบบทำกำไรสูงสุด จนกระทั่งถูกมองว่าเอาเปรียบจนหลาย ๆประเทศที่ค้าขายด้วยรู้สึกไม่พอใจ

ทุนจีนเข้าไปประเทศไหนก็ทำให้เกิดความหวาดหวั่นในประเทศนั้น

ในการค้าขายหรือทำธุรกิจกับจีนจึงจะต้องมีความรู้ที่เท่าทัน สร้างพลังต่อรองให้เข้มแข็ง มิฉะนั้นก็จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ถ้าเราดูสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกหลังเกิดโควิด-19 ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จีนเป็นประเทศที่เสียหายน้อยที่สุด และเริ่มฟื้นตัวก่อนคนอื่น จึงมีพลังเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุด

การเข้ามาของทุนจีนในการกว้านซื้อโรงแรมหรืออสังหาริมทรัพย์ในธุรกิจท่องเที่ยวดังที่กล่าวมานี้ จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ซึ่งเราควรจะต้องหาทางหลบเลี่ยงหรือมิฉะนั้นก็ต้องต่อรองให้ถึงที่สุดเพื่อมิให้ทุนจีนเข้าครอบงำธุรกิจท่องเที่ยวจนแทบไม่มีอะไรเหลือสำหรับนักธุรกิจไทย

ผมก็นึกถึงโครงการ “โกดังเก็บหนี้” หรือ Assets Warehousing ที่เคยพูดกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วที่บอกว่าจะให้เจ้าของธุรกิจโรงแรมขายหรือขายฝากโรงแรมให้กับสถาบันการเงินหรือธนาคารไว้ก่อนเหมือนเอาสินค้าไปฝากโกดังไว้

แต่ก็ยังให้โรงแรมนั้นเช่าดำเนินการต่อไปในอัตราที่สามารถจะดำเนินการได้ อีกหน่อยธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นเจ้าของโรงแรมมีกำรี้กำไรมีเงินทุนพอเพียงค่อยมาซื้อกลับคืนไปจากโกดัง

หรือบางกระแสก็พูดกันว่าให้จัดตั้ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ ขึ้นมารับซื้อทรัพย์สินของโรงแรมต่างๆ ที่มีปัญหาและดำเนินการในทำนองเดียวกัน

พูดกันมานานแล้วตกลงในรายละเอียดที่จะดำเนินการกันได้หรือยังครับ…อย่าให้ช้าไปกว่า “ทุนจีน” หรือ “ทุนอินเดีย” นะครับ เดี๋ยวธุรกิจท่องเที่ยวจะกลายเป็นอาหารโอชะของทุนต่างชาติซะหมด

ถ้าเป็นแบบนี้ในอนาคตข้างหน้าแม้จะมีนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวบ้านเราเยอะแค่ไหนก็ไลฟ์บอยครับ เพราะประเทศไทยและคนไทยจะได้รับประทานเพียงเศษเนื้อข้างเขียงเท่านั้นเอง.

“ซูม”

ข่าว, ท่องเที่ยว, ธุรกิจ, ถูกซื้อ, นักธุรกิจ, อินเดีย, จีน, ซื้อโรงแรม, กว้านซื้อ, โกดังเก็บหนี้, ซูมซอกแซก