เตรียมตัวรับตรุษจีน “เหงา” เจอทั้ง “โควิด”+“เศรษฐกิจ”

แม้วัน “ตรุษจีน” ปีนี้จะตรงกับวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่รัฐบาลไทยท่านประกาศให้เป็นวันหยุดพิเศษดังที่เราทราบกันเป็นอย่างดีแล้วนั้น

แต่ถ้าเราจะตรวจสอบ “เศรษฐกิจ” ในช่วงตรุษจีนว่าดีหรือไม่ดีแค่ไหนอย่างไร ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ พุธที่ 10 กุมภาพันธ์แล้วครับ

เพราะวันนี้คือ “วันจ่าย” หรือวันออกไปจับจ่ายซื้อข้าวของต่างๆ ทั้งเครื่องเซ่นไหว้และหมูเห็ดเป็ดไก่ เพื่อนำมาใช้ไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ หรือไหว้บรรพบุรุษที่จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ (11 ก.พ.) ที่เรียกกันว่า วันไหว้

นอกจากจับจ่ายซื้อของแล้ว บางบริษัท บางกงสีอาจจะจ่ายเงิน แต๊ะเอีย ตั้งแต่วันนี้เลย แต่ก็มีบางกงสีไปจ่ายในวันพรุ่งนี้หลังพิธีไหว้ ซึ่งอาจจะมีการกินเลี้ยงร่วมกันเสียก่อน

ส่วน วันตรุษจีน หรือวันขึ้นปีใหม่จีนในวันศุกร์นั้น ชาวจีนจะนิยมออกเที่ยวหรือแวะไปคารวะญาติมิตรต่างๆ แต่งตัวสวยงามพูดจาเป็นมงคล…บางครั้งก็เรียกกันว่า “วันเที่ยว” หรือไม่ก็ “วันถือ” เพราะจะต้องวางตัวทำโน่นนี่ให้ดีๆ เข้าไว้

ทั้งการ “จับจ่าย” ทั้งเงิน “แต๊ะเอีย” และ “การเที่ยว” ใน 3 วันนี่แหละครับที่จะเป็นวันชี้วัดเศรษฐกิจตรุษจีนจะดีหรือไม่ดีอย่างไร

ถ้าคนซื้อของไหว้เจ้าเยอะ ได้เงินแต๊ะเอียเยอะ ไปเที่ยวกันเยอะก็ไม่ต้องสรุปเป็นอย่างอื่นล่ะครับ ฟันธงได้เลยว่าเศรษฐกิจดีแน่นอน

สำหรับตรุษจีนปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ไม่ปกติเจอปัญหาโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างแรงผู้คนตกงานไปเป็นจำนวนมาก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หนึ่งในองค์กรพยากรณ์ด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ฟันธงไว้หลายวันมาแล้วว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายของ คนกรุงเทพมหานครจะอยู่ที่ประมาณ 11,700 ล้านบาท หดตัวลงถึงร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับตรุษจีนปีที่แล้วที่ยังไม่มีผลกระทบด้านโควิด

จากยอดรวมทั้งหมดที่ว่า แยกออกเป็นการใช้จ่าย เครื่องเซ่นไหว้ ประมาณ 5,600 ล้านบาท หรือหดตัวลงไปร้อยละ 5.1, การใช้จ่ายท่องเที่ยว/ทำบุญ/กินข้าวนอกบ้านประมาณ 2,900 ล้านบาท หดตัวถึง 20.8 เปอร์เซ็นต์

ส่วนการแต๊ะเอียนั้นรวมๆ แล้วประมาณ 3,200 ล้านบาท ซึ่งหดลงไปราวๆ ร้อยละ 8.1

นี่คือภาพการใช้จ่ายเฉพาะ กทม.นะครับ มิใช่รวมหมดทั้งประเทศ ซึ่งในข้อเท็จจริงหรือในรายละเอียดอาจไม่เป็นไปตามนี้เป๊ะ แต่ในแง่ “ทิศทาง” แล้วไซร้ ผมว่าที่คาดไว้ว่า “หดตัว” ทุกประเภทไม่น่าจะผิด

ผมเป็นคนที่เติบโตมาในยุคตรุษจีนเฟื่องได้เห็นได้สัมผัสความครึกครื้นความสนุกสนานและความยิ่งใหญ่ของตรุษจีนมาหลายครั้ง

ในยุคที่ตรุษจีนยิ่งใหญ่หรือเฟื่องฟูเราคงจำกันได้ผู้คนจะแน่นแออัดยัดเยียดทุกโรงหนังและหนังที่จะมาฉายช่วงตรุษจีนก็จะต้องเป็นหนังฟอร์มยักษ์เท่านั้น ฟอร์มกระจอกไม่มีสิทธิ์แหย็ม

ทุกห้างคนแน่นเอี้ยด ทุกสวนสนุกคนแน่นเอี้ยด วัดต่างๆทั้งวัดไทย วัดจีนคนแน่นเอี้ยด กระแสเงินทำบุญหมุนจี๋

จึงย่อมจะใจหายเป็นพิเศษ เมื่อมีการคาดว่าตรุษจีนปีนี้จะซบเซาอย่างแน่นอนดังที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแถลงข่าวไว้

แต่ผมก็ทำใจและยอมรับความจริงว่าปีนี้ไม่ใช่ปีธรรมดา เจอศึกหนักที่สุดในรอบ 80 ปี (เท่าอายุผม) ก็ว่าได้

ในฐานะพุทธศาสนิกชนผมเชื่อในคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่าทุกอย่างมีขึ้นมีลง มีความไม่แน่นอนเมื่อขึ้นได้ก็ลงได้ มนุษย์ทุกผู้ทุกนามจะต้องตระหนักและเตรียมรับมือไว้อยู่เสมอ

ขณะเดียวกันในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่า ผมก็เชื่อในเรื่อง วัฏจักรเศรษฐกิจ ที่มีขึ้นมีลงอยู่ตลอดเวลา บางครั้งหาสาเหตุไม่ได้ ต้องไปโทษว่าเป็นเพราะ “จุดดับในดวงอาทิตย์” ก็มีมาแล้ว

แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ก็คือเมื่อขึ้นได้ก็ลงได้ และเมื่อลงถึงจุดต่ำสุดแล้วมันก็จะขึ้นมาเอง…แม้ไม่ต้องปั๊มหรืออัดฉีดอันใดเลย มันก็จะฟื้นตามธรรมชาติเพียงแต่ช้าหน่อยเท่านั้น

ช่วงนี้เป็นช่วงขาลงโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจอันเกิดจากโรคระบาดก็ต้องอดทนอดกลั้นไว้…เอาตัวให้อยู่รักษาตัวให้รอดเอาไว้นะครับ

สักวันเศรษฐกิจขาขึ้นจะกลับมาแน่นอน…วันนั้นเราค่อยฉลองตรุษจีนบวกด้วยวาเลนไทน์ให้สะใจเป็นการชดเชยก็แล้วกัน.

“ซูม”

ข่าว, ตรุษจีน, เศรษฐกิจ, โควิด 19, แต๊ะเอีย, ท่องเที่ยว, ซูมซอกแซก