ห่วงโกง “เที่ยวด้วยกัน” บิดเบือนตัวเลขเศรษฐกิจ

เมื่อวานนี้ ผมเขียนถึงข่าวการจับกุมโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และประชาชนที่ให้ความร่วมมือจำนวนมาก ในการโกงโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของรัฐบาล พร้อมกับตั้งคำถามไว้ว่า การโกงอย่างมโหฬารครั้งนี้ เป็นเพราะอะไรกันแน่?

เกิดจาก อุปนิสัย ของคนไทยยุคใหม่ที่มีข้อสังเกตว่า โกงมากขึ้น แผ่ขยายวงกว้างขึ้น ไม่เฉพาะภาคข้าราชการเท่านั้น แต่ระยะหลังๆ ภาคเอกชน ภาคประชาชนบางส่วนก็เอาด้วย กลายเป็นโกงทุกระดับประทับใจ

หรือว่าเกิดจากความ เดือดร้อน เกิดจากความเคราะห์ร้ายโชคร้าย ธุรกิจพังทลายจากพิษโควิด-19 ซึ่งเป็นมหันตภัยทั้งแก่ชีวิตมนุษย์ และทำลายเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย?

จริงๆ แล้วใจผมค่อนข้างเชื่อไปทางข้อแรก เพราะช่วงหลังๆ นี้ไม่เพียงแต่นักวิชาการเท่านั้น ที่มีสถิติว่าการโกง หรือคอร์รัปชันในภาคเอกชนก็สูงไม่น้อย…เพื่อนผมที่ทำธุรกิจใหญ่ๆ หลายคนก็มาบ่นเสมอว่า ต้องคอยควบคุมดูแลอยู่ตลอด เผลอเมื่อไรเป็นรั่วไหลทันที

ผมเองเมื่อเขียนคอลัมน์เมื่อวานส่งมาโรงพิมพ์เรียบร้อยแล้ว ก็นึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อตอนเกิดเหตุการณ์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เศรษฐกิจไทยพังครืน เมื่อปี 2540 นั้น ได้มีการพูดกันอย่างกว้างขวางว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเราย่ำแย่กว่าที่ควรจะเป็นก็เพราะการขาด ธรรมาภิบาล ในการบริหารงานของบริษัทต่างๆ ในภาคเอกชนจำนวนไม่น้อย

ที่ฮือฮามากก็คือการก่อตั้งบริษัทขึ้นแล้วทำทีว่า ค้าขายโน่นนี่กับลูกค้าในต่างประเทศ จนยอดการค้าสูงลิ่ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการค้าจริง

ตั้งบริษัทขึ้นก็เพื่อที่จะหลอกขอภาษีแวตคืนจากกรมสรรพากรโดยเฉพาะ

มีอยู่ช่วงหนึ่ง กรมสรรพากรมีนโยบายส่งเสริมผู้ส่งออกให้คืนแวตได้เร็วแบบคืนก่อนตรวจทีหลัง ก็เลยเข้าทางกลุ่มหัวใสที่ว่านี้…สามารถโกงเงินคืนแวตไปเป็นจำนวนมาก

การค้าขายปลอมๆ นี่เองที่เป็นผลทำให้ตัวเลขส่งออกของประเทศพุ่งกระฉูด ทั้งๆ ที่ไม่มีการส่งออก

มีการพูดกันในแบบเบื้องหลังข่าว ซึ่งอาจเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้ว่า ที่นาย จอร์จ โซรอส เข้ามาจู่โจมค่าเงินบาทประเทศไทย จนทำให้เราพังในครั้งนั้นก็เพราะตัวเลขส่งออกนี่แหละ

เหตุเพราะก่อนปี 2540 ตัวเลขส่งออกของเราสูงมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นตัวเลขปลอมๆ เพื่อโกงเงินแวตดังได้กล่าวแล้ว

จนปี 2538 หรือ 2539 นี่แหละ กรมสรรพากรเริ่มจับได้และ หันมาควบคุมการขอคืนแวตอย่างจริงจัง

ปรากฏว่า ยอดส่งออกที่เคยเพิ่มถึงปีละ 25 เปอร์เซ็นต์ ก่อนหน้านั้นลดเหลือแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในปีต่อมา

บอกแล้วว่าเป็นเรื่องเล่าที่ไม่มีการยืนยันความถูกต้องหรือหลักฐาน …แต่ที่ผมนำมาเล่าก็เพื่อเป็นอุทาหรณ์ไว้ว่า ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ก็น่าสาปแช่งพวกขี้โกงกลุ่มนั้นให้หนักขึ้น

เพราะไม่เพียงแค่จะโกงเงินหลวงไปเข้ากระเป๋าตัวเองเท่านั้น ยังทำให้เกิดตัวเลขที่เกินความจริง และไปเข้าตาปีศาจการเงินอย่างนายโซรอส จนเข้ามาแหย่ ทำให้เศรษฐกิจของเราพังเร็วขึ้นและแรงขึ้น

มองย้อนหลังกลับไปอย่างนี้แล้ว ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่า อุปนิสัยอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตนั้นได้เกิดขึ้นในภาคเอกชนไทยเรานานแล้ว

อย่างน้อยก็ในช่วงก่อนต้มยำกุ้งที่เห็นได้ชัดเจนนั่นแหละ

กลับมาที่ประเด็นของการทุจริตในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” คราวนี้อีกครั้ง เพราะไหนๆ ก็เล่าเรื่องตัวเลขส่งออกปลอมแล้ว ผมก็ขอฝากให้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจที่ทำหน้าที่คำนวณจีดีพีของประเทศไทยได้ตรวจสอบตัวเลขล่าสุดให้ถูกต้องด้วย

ดูให้ชัดว่า การโกงในโครงการนี้มีผลกระทบต่อตัวเลขหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเท่าไร เพราะเมื่อไม่ได้มีการใช้จ่ายจริงๆ หรือเข้าพักจริงๆ หรือซื้ออาหารจริงๆ เช่นนี้ ตัวเลขที่แท้จริงคงจะหดมาบ้าง

เพื่อประโยชน์ในการวางนโยบายที่ถูกต้องของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ว่างั้นเถอะ

เราเคยพูดกันว่า ไตรมาสที่แล้วเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นเยอะเลย และโครงการนี้แหละเป็นพระเอกเลย

มาถึงตอนนี้ชักไม่แน่แล้วซีว่า เป็นพระเอกจริงหรือเปล่า? และตัวเลขที่ว่าดีขึ้นนั้นดีจริงหรือไม่? ผมก็ฝากสภาพัฒน์ ฝากแบงก์ชาติ ช่วยดูอีกทีก็แล้วกันนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, เศรษฐกิจ, โรงแรม, ร้านค้า,  ร้านอาหาร, โกง, เราเที่ยวด้วยกัน, โควิด 19, จีดีพี, ประเทศไทย, ซูมซอกแซก