CRG เดินหน้าลุย CSV ปลุกธุรกิจร้านอาหารช่วยเหลือสังคมแบบยั่งยืน

CRG ประกาศเดินหน้าโครงการ CSV ตามนโยบายบริษัทแม่กลุ่มเซ็นทรัล เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าร่วมให้กับสังคม สอดรับโครงการ “เซ็นทรัล ทำ” (Central Tham) ผ่านธุรกิจร้านอาหารในเครือ

พร้อมชูกลยุทธ์ 2P ตอบแทนคืนต่อสังคม คือ PEOPLE (การให้ความเสมอภาคในด้านของการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีของคน) และ PLANET (ด้านสิ่งแวดล้อม) หวังสร้างความเสมอภาคทางสังคมและสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม

CRG, เซ็นทรัล, ซูมซอกแซก

นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ผู้ดำเนินธุรกิจด้านอาหาร และเครื่องดื่มประเภทร้านอาหารเครือข่าย (Food Chain Industry) ของประเทศไทย เปิดเผยว่า

แนวทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ บริษัทจะหันมาให้ความสำคัญกับการทำ CSV (creating shared value) มากขึ้น ด้วยการนำเอาความเชี่ยวชาญในด้านการทำธุรกิจอาหารที่บริษัทมีมาสร้างคุณค่าร่วมให้กับสังคมไปพร้อมกัน ซึ่งแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวถือเป็นการเดินตามนโยบายของบริษัทแม่ นั่นก็คือ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ที่ต้องการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในมิติต่างๆ โดยการปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำ CSR  หรือการช่วยเหลือสังคมแบบเดิมๆ มาสู่การช่วยเหลือสังคมแบบยั่งยืน ด้วยการใช้แนวคิดการสร้างสรรค์คุณค่าร่วมให้กับสังคม (CSV) เป็นแกนหลักในการทำงาน เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความสำเร็จร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคม ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัล ทำ (Central Tham)”

CRG, เซ็นทรัล, ซูมซอกแซก

สำหรับในส่วนของ CRG นั้น จะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคมแบบยั่งยืนใน 2 ด้านหลัก  คือ  PEOPLE (การให้ความเสมอภาคในด้านของการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีของคน) และ PLANET (ด้านการรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม) โดยในส่วนของ PEOPLE นั้น CRG ได้เริ่มดำเนินโครงการทวิภาคี สหกิจศึกษา และฝึกงานกับ CRG มาตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว 16 ปี โดยการร่วมมือกับสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน 340 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นความร่วมมือระดับอาชีวศึกษา 332 สถานศึกษา และความร่วมมือระดับอุดมศึกษา 8 สถานศึกษา

นอกจากนี้ CRG ยังได้รับนักศึกษาใหม่เข้าโครงการทวิภาคีกว่า 1,600 คนต่อปี พร้อมกับมอบทุนการศึกษากว่า 3,000,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 900 ทุนต่อปี โดยปัจจุบันมีนักเรียนกำลังศึกษาอยู่ในโครงการทวิภาคีกว่า 493 คน (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2563) ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็น ระดับปวช. 304 คน ระดับปวส. 150 คน และระดับปริญญาตรี  39 คน

ขณะเดียวกัน CRG ยังได้มีการรับนักเรียนกลุ่มโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์เข้าร่วมโครงการฯ อีกหลายร้อยคน แบ่งเป็น นักศึกษากลุ่มศึกษาสงเคราะห์รับเข้าใหม่ปีละ 400 คน  และโรงเรียนกลุ่มศึกษาสงเคราะห์ที่ทำความร่วมมือกับ CRG  อีกประมาณ 51 สถานศึกษา

จากการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้จบการศึกษาไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 13,000 คน มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. และปวส. แล้ว 13 รุ่น มีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับ ป.ตรี แล้ว 6 รุ่น ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วและได้เข้าร่วมทำงานต่อกับ CRG ในตำแหน่งหัวหน้าร้านและพนักงานประจำกว่า 150 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

CRG, เซ็นทรัล, ซูมซอกแซก

อย่างไรก็ดี แม้ว่า CRG จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจากการทำโครงการดังกล่าว แต่ CRG ก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและสถานศึกษาในสถานการณ์ปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมด้านการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาไปสู่พนักงานปัจจุบัน ภายใต้ชื่อโครงการ “ไตรภาคี” เพื่อเป็นการต่อยอดทางการศึกษา สร้างและพัฒนาพนักงานระดับจัดการของฝ่ายปฏิบัติการรองรับการขยายตัวของธุรกิจอย่างยั่งยืน

นายณัฐ กล่าวอีกว่า กลุ่มคนอีกหนึ่งกลุ่มที่บริษัทให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ พนักงานกลุ่มพิเศษ  เนื่องจากบริษัทเล็งเห็นความสำคัญของคุณค่าของแต่ละบุคคล ด้วยแนวคิดที่มุ่งให้โอกาสในการเข้าทำงานแก่กลุ่มคนพิเศษ (ผู้พิการ) ให้สามารถดำรงชีพในสังคมไทย จึงได้ดำเนินงานตามนโยบายเพื่อส่งเสริมการจ้างงานกลุ่มคนพิเศษมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ด้วยการให้โอกาส และสร้างความเท่าเทียม เพื่อให้เพื่อนกลุ่มคนพิเศษสามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข  มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนพนักงานกลุ่มพิเศษภายในองค์กร อาทิ กิจกรรมสัมพันธ์สำหรับพนักงานกลุ่มพิเศษ, กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานกลุ่มพิเศษ, การให้โอกาสเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพของพนักงานทุกคนอย่างเสมอภาค รวมถึงการส่งพนักงานเข้าอบรมภาษามือเพื่อใช้ในการสื่อสารกับพนักงานกลุ่มพิเศษ  ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้ CRG  ได้รับรางวัลองค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการดีเด่นติดต่อกันมา 6 ปี

ปัจจุบัน CRG มีพนักงานกลุ่มพิเศษปฏิบัติงานทั้งที่ส่วนบริการหน้าร้าน และสำนักงานใหญ่ ประมาณ 120 คน  ซึ่งในส่วนของการปฏิบัติงาน CRG  ได้ให้ความสำคัญในการดูแลพนักงานกลุ่มพิเศษเท่าเทียมกับพนักงานปกติ  ด้วยการมีโครงการให้พนักงานกลุ่มคนปกติได้เรียนรู้ภาษามือ และมีคลิปวิดีโอสอนภาษามือผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้พนักงานสามารถสื่อสารกันได้ เช่นเดียวกับการประชุมสำคัญๆ ก็จะมีการเชิญล่ามภาษามือเข้ามาช่วยแปลให้ เพื่อให้พนักงานกลุ่มพิเศษได้รับรู้ข่าวการจากผู้บริหารไปพร้อมๆ กัน

CRG, เซ็นทรัล, ซูมซอกแซก

ขณะเดียวกัน CRG ยังมีการพัฒนาศักยภาพของพนักงานกลุ่มนี้ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานเหมือนกับคนปกติ  ซึ่งจากแนวทางการทำงานดังกล่าว ทำให้พนักงานกลุ่มพิเศษหลายคนได้รับการปรับเลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสทั้งในส่วนของพนักงานหน้าร้าน และพนักงานประจำสำนักงานใหญ่

สำหรับในส่วนของ P ที่สอง คือ PLANET (ด้านการรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม) CRG มุ่งเน้นไปที่การสร้างจิตสำนึกในด้านของการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดปัญหาขยะอย่างยั่งยืน เนื่องจากธุรกิจหลักของ CRG คือ ธุรกิจอาหาร จึงทำให้มีขยะจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหาร ขวดน้ำ หรือกระดาษ ซึ่งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว CRG ได้เริ่มสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับองค์กร เริ่มจากการลดใช้หลอดจากวัสดุธรรมชาติแทนการใช้หลอดพลาสติก เมื่อสั่งเครื่องดื่มมาตั้งแต่ปี 2561 ส่งผลให้สามารถลดการใช้หลอดได้ถึง 10 ล้านหลอดในช่วงที่ผ่านมา

ต่อมาในปี 2562 CRG ได้มีการจับมือกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ผู้ดำเนินธุรกิจศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล  ที่ CRG ได้เข้าไปเปิดธุรกิจร้านอาหาร โดยการคิดแยกขยะหน้าร้าน  ซึ่งจะมีทั้งเศษอาหาร  ขวดพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม กระดาษ และอื่นๆ ในร้านอาหารที่อยู่ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า บางนา และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ เพื่อให้ง่ายต่อกระบวนการจัดเก็บ และนำไปแปรสภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนต่างๆต่อไป  ซึ่งใน 5 เดือนแรกที่มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว CRG สามารถคัดแยกขยะต่างๆ ได้กว่า 5,000 กิโลกรัม

ล่าสุดในปี 2563 นี้  CRG ได้จับมือร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) เพื่อเข้าร่วมโครงการ “รักษ์อาหาร” ด้วยการรวบรวมอาหารส่วนเกินที่มีคุณภาพดีสามารถนำมาบริโภคได้ จากร้านมิสเตอร์ โดนัท ส่งต่อให้กับผู้ด้อยโอกาส เนื่องจากร้านมิสเตอร์ โดนัทจะมีอาหารที่จำหน่ายไม่หมดจำนวนหนึ่ง  CRG จึงเล็งเห็นโอกาสที่จะส่งต่อสิ่งดีๆ ไปให้กับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งในช่วงก่อนที่จะมีการนำอาหารจากร้านส่งต่อไปยังกลุ่มคนดังกล่าว CRG และ SOS ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพอาหารภายในห้องแล็ป เพื่อเช็คคุณภาพจนมั่นใจในความปลอดภัยของ “โดนัท” ก่อนที่จะมีการส่งต่อไปยังผู้ด้อยโอกาสตามสถานที่ต่างๆ

ปัจจุบัน CRG ได้เริ่มนำร่องโครงการรักษ์อาหาร ด้วยการนำร้านมิสเตอร์ โดนัท เข้าร่วมไปแล้วด้วยกัน 13 สาขา จากจุดเริ่มต้นที่นำเข้าร่วมโครการเพียง 5 สาขาเท่านั้น และจากความสำเร็จดังกล่าว CRG มีแผนที่จะนำร้านมิสเตอร์ โดนัทเข้าร่วมเพิ่มเป็น 18 สาขา ในสิ้นปี 2563 นี้ เพื่อให้มีโดนัทส่งต่อไปยังผู้ด้อยโอกาสตามสถานที่ต่างๆ รวมกว่า 70,000 ชิ้น เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ก.ค.- ส.ค. ที่ผ่านมา  ซึ่งมีการส่งต่อโดนัทไปให้กับผู้ด้อยโอกาสอยู่ที่ประมาณ 33,755 ชิ้น

นายณัฐ  กล่าวปิดท้ายว่า นอกจากจะให้ความสำคัญกับหน้าร้านแล้ว ในส่วนของสำนักงานใหญ่บริษัทก็ให้ความสำคัญในด้านของสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ด้วยการจัดทำโครงการ CRG Waste Segregation หรือ การจัดการคัดแยกขยะภายในองค์กร(สำนักงานใหญ่) เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้พนักงาน และให้พนักงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ ทั้งในส่วนของขยะทั่วไปและขยะรีไซเคิล  ซึ่งจากจากแนวทางดังกล่าว ในปี 2564 บริษัทมีแผนที่จะให้ร้านอาหารในเครือทำการคัดแยกขยะไปพร้อมกัน

ปัจจุบัน ซีอาร์จี มีแบรนด์ร้านอาหารภายใต้การบริหารทั้งหมด 16 แบรนด์  ได้แก่ มิสเตอร์ โดนัท ( Mister Donut), เคเอฟซี (KFC), อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s), เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch), ชาบูตง (Chabuton), โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery), ไทยเทอเรส (Thai Terrace), โยชิโนยะ (Yoshinoya), โอโตยะ (Ootoya), เทนยะ (Tenya), คัตสึยะ (Katsuya), อร่อยดี (Aroi Dee), สุกี้เฮ้าส์  (Suki House), เกาลูน (Kowlune), สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory) และ บราวน์ คาเฟ่ (Brown Cafe)