ฝากน้องๆ “นักเรียน” ไว้ด้วย ยังไงๆ ก็อย่าลืม “การเรียน”

มีถ้อยคำฮิตอยู่คำหนึ่งที่ผมได้ยินทางสภาพัฒน์ หรือนักเศรษฐศาสตร์หลายๆ ท่านหลายๆ สำนักพูดถึงอยู่เสมอ คือคำว่า “ความสามารถในการแข่งขัน”

ถึงขนาดมีการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันกันขึ้นให้เห็นว่าประเทศไหนอยู่ในอันดับเท่าไร?

ตัวเลขที่ผมเคยจดไว้ล่าสุดสักประมาณเกือบมิถุนายน-กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น ทางสถาบันที่เรียกว่า IMD หรือ International institute for Management Development ระบุว่า 5 อันดับแรกจาก 63 ประเทศที่เขาเข้าไปศึกษาข้อมูลและจัดอันดับ ได้แก่

  1. สิงคโปร์ 2. เดนมาร์ก 3. สวิตเซอร์แลนด์ 4. เนเธอร์แลนด์ และ 5. ฮ่องกง ฯลฯ ในขณะที่ของไทยเราอยู่อันดับ 29 ของ 63 ประเทศ และลดลงไปจากปีก่อนซึ่งอยู่อันดับ 25 เป็นอันดับ 29 หรือลดไป 4 อันดับ

โดยวัดจากปัจจัยหลักของประเทศ 4 ประการ คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ดูไปแล้วก็ไม่ขี้เหร่จนเกินไปนัก แม้จะลดไปถึง 4 อันดับ แต่ก็ อยู่ในครึ่งแรกของ 63 ประเทศที่เขาจัดไว้ และก็เป็นความพยายามเป็นความตั้งใจทั้งของรัฐบาลไทยและหน่วยวางแผนของไทย โดยเฉพาะ สภาพัฒน์ ที่อยากจะเห็นอันดับของเราสูงขึ้นไปกว่านี้

เพราะความสามารถในการแข่งขันนั้น เมื่อลองไปดูข้อมูลประกอบย่อยๆ ของแต่ละหมวดแล้ว จะเรียกความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศได้มากกว่าข้อมูลอื่นๆ

เนื่องจากนักลงทุนไม่ว่าจากชาติไหนก็ตาม…ล้วนต้องการไปลงทุนในประเทศที่มีความสามารถสูงๆ ซึ่งจะช่วยการันตีประการหนึ่งว่าการลงทุนของเขาจะไม่สูญเปล่าแน่นอน

กุญแจสำคัญที่สุดของการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศที่นักวิชาการทั่วโลกเห็นพ้องกันก็คือ “ทรัพยากรมนุษย์” หรือ “คน” หรือ “กำลังคน” ของแต่ละประเทศนั่นเอง

ประเทศใดมีผู้คนที่มีการศึกษาดี โดยเฉพาะการศึกษาในวิชาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศยุคใหม่ โดยเฉพาะความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีต่างๆ จะได้เปรียบประเทศอื่นๆ

เพราะไม่ว่าเราจะไปเพิ่มความสามารถด้านเศรษฐกิจอย่างไร? ประสิทธิภาพภาคราชการอย่างไร? หรือประสิทธิภาพธุรกิจอย่างไร? ล้วนต้องการคนเก่งคนดีมีความสามารถในแต่ละด้านทั้งสิ้น

เขียนมาถึงตอนนี้ผมก็อ่านเจอข่าวว่านักเรียนบ้านเราที่เรียกตัวเองว่า กลุ่ม “นักเรียนเลว” ออกมาประท้วงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่าเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปีในหลายเรื่อง

ส่วนใหญ่ผมเห็นด้วยทุกเรื่องแหละครับ โดยเฉพาะเรื่องปฏิรูปการศึกษาที่ควรจะปฏิรูปมานานแล้ว

ไม่เห็นด้วยอยู่เรื่องเดียวเพราะไม่แน่ใจว่าน้องๆ นักเรียนเลวจะขอให้ปฏิรูปสถาบันด้วยหรือไม่…ถ้าปฏิรูปด้วยผมก็ขอคัดค้านและอยากจะขอร้องให้น้องๆ ลองคิดทบทวนและหันไปคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง อีกสักครั้งถึงความมีคุณค่าของสถาบันอันเป็นแกนหลักที่สำคัญของประเทศเรามานับร้อยๆ ปี

และที่จะไม่เห็นด้วยอีกอย่างก็คือไม่เห็นด้วยที่น้องๆ ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงเกินไป ซึ่งโดยรวมแล้วประเพณีของไทยเรายังถือว่าในการจะพูดจากับผู้ใหญ่หรือคนอายุมากกว่าควรใช้วาจาที่สุภาพ

ไม่ต้องถึงกับนอบน้อมก็ได้ แต่ต้องไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรงเพราะจะทำให้น้องๆ ถูกมองว่าไม่มีสัมมาคารวะในทันที

การประท้วงและการแสดงความเห็นอย่างสุภาพ อย่างมีเหตุผล จะทำให้ผู้ใหญ่รับฟังมากกว่าการก้าวร้าว

สุดท้ายที่อยากฝากไว้ก็คือความสามารถในการแข่งขันของ ประเทศไทยนี่แหละครับ

ลูกๆหลานๆ จะประท้วงจะแสดงออกอย่างไร (ขอให้สุภาพ) ก็เชิญได้เลย แต่เมื่อแสดงออกแล้วขอให้กลับไปเรียนหนังสือควบคู่ไปด้วย

อย่าทิ้งตำราอย่าทิ้งการเรียนเป็นอันขาดโดยเฉพาะน้องๆ สายเทคโนโลยี สายไอทีทั้งหลาย…ประเทศยังต้องการพวกคุณครับ

เพราะเรายังต้องการที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเรา เพื่อสู้กับประเทศอื่นๆ หลังโควิด–19 นี่ยิ่งจะต้อง แข่งกันหนักกว่าเดิมอีกหลายเท่าครับ.

“ซูม”

ความสามารถ, การแข่งขัน, เทคโนโลยี, ประเทศไทย, ซูมซอกแซก