เป็นห่วง “การเมือง” วุ่น ทำเศรษฐกิจไทย “ฟุบ” ยาว

ผมเพิ่งจะนึกขึ้นมาได้ว่าวันนี้ (ศุกร์ที่ 20 พ.ย.2563) เป็นวันหยุดราชการตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่กำหนดให้วันพฤหัสบดี 19 พ.ย. และศุกร์ 20 พ.ย. เป็นวันหยุดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีวันหยุดยาว 4 วัน เพื่อให้ประชาชนออกเดินทาง ไปพักผ่อน หรือท่องเที่ยว เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังประสบปัญหาเพราะโควิด-19 อยู่ในขณะนี้

แปลว่าเราเริ่มหยุดกันมาตั้งแต่เมื่อวานโน่นแล้ว ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหมายไว้ พี่น้องประชาชนทั้งหลายคงจะทยอยกันออกเดินทางท่องเที่ยวกันแล้วตั้งแต่เมื่อวานเป็นต้นมา

ผมหวังว่าทุกจังหวัดท่องเที่ยวของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลักหรือเมืองรอง คงจะมีผู้คนไปท่องเที่ยวจำนวนมาก จนสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดให้กระเตื้องขึ้นตามเป้าหมายนะครับ

โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างลมหนาวกำลังมาเยือน อากาศเย็นลงทุกจังหวัดและยังไม่มีฝุ่นพิษ PM2.5 มารบกวนมากนัก…คงจะมีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากเป็นพิเศษ

ท่านที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ…จะตัดสินใจวันนี้พรุ่งนี้ออกไปเที่ยวจังหวัดใกล้ๆ กทม. ก็ยังทันนะครับ

ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ ดนุชา พิชยนันท์ เพิ่งแถลงไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้เองว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปีนี้ติดลบที่ 6.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการติดลบ หรือลดลงถึง 12.1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไตรมาสที่แล้ว

ส่งผลให้รวมเวลา 9 เดือนแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.7 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คาดว่าตลอดทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยเราอาจจะติดลบเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าที่เคยคาดไว้ว่าจะติดลบทั้งปี 7.5 เปอร์เซ็นต์ ในการแถลงข่าวสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจไทยหลังผ่านไตรมาส 2 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเราเริ่มปรับตัวดีขึ้นนั้น ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ให้เหตุผลว่า เป็นผลมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในอัตราเร่งมากขึ้น การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จนทำให้อัตราติดลบของตัวเลขสำคัญๆ เหล่านี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ยกตัวอย่างเช่น การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 3 ติดลบแค่ 0.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เทียบกับไตรมาส 2 ก่อนหน้านี้ที่ติดลบถึง 6.8 เปอร์เซ็นต์

หรืออย่างการส่งออกของไตรมาสนี้ แม้จะยังติดลบอยู่ แต่ก็ติดลบราวๆ 8.2 เปอร์เซ็นต์ ลดจากไตรมาสที่แล้ว ที่ติดลบถึง 17.8 เปอร์เซ็นต์กว่าเท่าตัว

ทำให้ท่านเลขาฯ สภาพัฒน์ท่านมั่นใจว่า ในปีหน้า 2564 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ในอัตราบวกประมาณ 3.5-4.5 เปอร์เซ็นต์

แต่ท่านก็ฝากข้อคิดไว้เช่นกันว่า การที่จะให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้า เป็นบวกได้นั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการในหลายๆ เรื่อง เช่น จะต้องเร่งขับเคลื่อนการใช้จ่ายของรัฐ การช่วยกันระมัดระวังอย่าให้โควิด-19 กลับมาระบาดรอบ 2 เร่งขับเคลื่อนการส่งออก และเร่งสำหรับการลงทุน ฯลฯ

รวมทั้งเงื่อนไขสำคัญที่สุดข้อหนึ่งก็คือ “การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ”

ในการแถลงข่าวนั้น ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์วางเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรยากาศการเมืองไว้เป็นข้อที่ 7 หรือเกือบท้ายๆ…แต่สำหรับผมเห็นว่าเงื่อนไขข้อนี้น่าจะอยู่เป็นข้อแรกๆ

เพราะถ้าการเมืองไทยยังวุ่นวายขายปลาช่อนอย่างเช่นทุกวันนี้ โดยยังมีม็อบวันเว้นวัน ยังมีการฉีดนํ้า และใช้แก๊สนํ้าตาสลับฉาก แถมมีม็อบชนม็อบอย่างที่เกิดขึ้นหน้ารัฐสภา เมื่อ 2-3 วันที่แล้ว

รวมทั้ง หลังผมส่งต้นฉบับสัก 3-4 ชั่วโมง (ประมาณคํ่าๆ วันพุธที่ 18 พ.ย.) เห็นว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ที่ราชประสงค์กันอีก และมีการขู่ว่า จะเพิ่มความกดดันมากขึ้น…จนไม่แน่ว่าจะจบลงอย่างไร?

ผมก็หวังว่าจะจบด้วยดี ทำให้พี่น้อง ประชาชนชาวไทยสามารถออกท่องเที่ยวฉลองวันหยุดพิเศษ ตั้งแต่เมื่อวานมาถึงวันนี้พรุ่งนี้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลตั้งไว้ อันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

แต่ถ้าจบลงแบบไม่ค่อยดี และก็ยังมีการประท้วงและการปะทะกันต่อไปเรื่อยๆ เผลอๆ ปีหน้าเศรษฐกิจไทยอาจจะยังจะติดลบต่อไปก็ได้นะครับ แทนที่จะกลับมาบวกอย่างที่สภาพัฒน์หวังไว้.

“ซูม”

การเมืองไทย, ประท้วง, เศรษฐกิจไทย, กระตุ้นเศรษฐกิจ, ซูมซอกแซก