ขอบคุณ “กรมสุขภาพจิต” แนะ “5 วิธี” แก้โรคเครียด

วันนี้ผมขอทำหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้แก่กรมสุขภาพจิตสักวันนะครับ เพราะท่านอธิบดีท่านเพิ่งแถลงข่าวไปเมื่อสายๆ ของวันจันทร์ที่ผ่านมานี่เอง ผมนั่งฟังวิทยุสรุปข่าวขณะนั่งรถเข้าโรงพิมพ์ก็ตัดสินใจในเดี๋ยวนั้นว่า จะเขียนถึงเรื่องนี้แหละ

เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีเสพข่าวไม่ให้เครียด รวมทั้งสิ้น 5 ข้อ 5 วิธีการครับ เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเดือน 2 เดือนนี้ที่กำลังอยู่ในภาวะเครียดจัดพอดิบพอดี

ดังนั้น พอถึงโรงพิมพ์ผมก็ขอรายละเอียดทั้งหมดจากโต๊ะข่าวไทยรัฐนำมาฝากท่านผู้อ่านทันทีทันควันดังต่อไปนี้

ท่านอธิบดีกรมสุขภาพจิต แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร ท่านเกริ่นไว้ก่อนที่จะแนะนำวิธีการทั้ง 5 ข้อ ว่า ขณะนี้สถานการณ์และข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นที่สนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก

ซึ่งในข้อเท็จจริงโดยปกติแล้วการติดตามข่าวสารและสถานการณ์ของประเทศเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เรามีความรอบรู้ว่าในแต่ละวันมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้าง

แต่ขณะเดียวกันถ้าเราติดตามข่าวสารมากเกินไป โดยเฉพาะข่าวสารที่มีการกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ในหลายๆ รูปแบบ เช่น อารมณ์โกรธ อารมณ์เศร้า หรือความกังวลต่างๆ จะมีผลทำให้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจไม่เต็มที่ ไปจนถึงมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรงผิดปกติ ฯลฯ ได้

ลามไปจนถึงนอนไม่หลับ และมีอาการทางจิตใจตามมา ได้แก่ อาการวิตก หวาดหวั่น กังวล เสียสมาธิ กลายเป็นคนขี้โมโห เจ้าอารมณ์ โกรธ ฉุนเฉียวง่าย

หรือในทางตรงข้ามอาจจะกลายเป็นคนเก็บกด ซึมเศร้า เบื่อโลก เบื่อสังคม เบื่อการเมือง ไปจนถึงเบื่อชีวิตไปได้เช่นกัน

ดังนั้น ในการติดตามข่าวจึงต้องระมัดระวัง อย่าให้ “อิน” มากนัก และควรยึดหลักปฏิบัติดังนี้

  1. ให้ความสำคัญกับ “สติ” ของตนเองทุกครั้งในระหว่างเสพข่าว… ขอให้สังเกตอารมณ์ของตนเองและผลกระทบจากอารมณ์นั้นๆ และติดตามภาวะจิตใจของตนเองอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว

2. จัดสรรเวลาติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างพอดี โดยไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกินไป

3. พยายามทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ และหันเหความสนใจจากข่าวสารไปเรื่องอื่นบ้าง โดยละเว้นการรับรู้ข่าวสารที่มีผลต่อความเครียดเอาไว้ชั่วคราว แต่ไม่ละเลยหน้าที่หลักของเราเอง ทั้งในเรื่องการทำงาน การเรียน และการใช้เวลากับครอบครัว

4. เคารพความเชื่อและความคิดเห็นแบบประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลาย โดยไม่ดูข่าวหรือรับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว หรือสื่อเดียว ฝึกการเปิดใจให้กว้างและทดลองรับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกับความเชื่อเดิมของเราบ้าง ขณะเดียวกันก็ควรรับฟังและเปิดใจรับฟังความคิดความเชื่อของคนรอบข้างด้วย

5. ควรพักผ่อนและคลายความเครียดด้วยการนอน การออกกำลังกายฝึกโยคะ ทำสมาธิ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ รวมไปถึงการฝึกหายใจเพื่อให้คลายเครียด ฯลฯ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อปฏิบัติตามหลักการ 5 ข้อนี้แล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะยังควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ และยังมีความเครียดรุนแรงไปจนถึงขั้นสูญเสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ฯลฯ ก็อย่าได้ชักช้าอยู่เลยครับ

รีบโทรศัพท์ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรีๆ ตลอด 24 ชั่วโมง หรือจะแวะไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านก็ได้…ท่านอธิบดีย้ำส่งท้าย

ครับ! ก็เป็นข้อพึงปฏิบัติ 5 ประการ หรือบัญญัติ 5 ประการ จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำหรับพวกเราประชาชนทั่วๆ ไป ที่ต้องเสพข่าวสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในขณะนี้

จริงๆ แล้วไม่ต้องทำทั้ง 5 ข้อก็ได้ครับ แค่ 2-3 ข้อ ก็น่าจะเอาอยู่แล้วละ โดยเฉพาะข้อ 1 คือ การมี “สติ” อยู่ตลอดเวลา กับข้อ 5 คือหาทางพักผ่อนด้วยการออกกำลังจะทำให้ลืมเรื่องเครียดๆ ได้แน่นอน

อย่าใช้ “มือถือ” เสพข่าวอย่างเดียวครับ คลิกไปที่ “ยูทูบ” เลือกเพลงมันๆ แล้วลุกขึ้นเต้นหรือเซิ้งตามจังหวะสัก 4-5 เพลง ก็ได้เหงื่อแล้วละ จากนั้นความเครียดจะหายไปทันที เชื่อท่านอธิบดีเถอะครับ.

“ซูม”

สายด่วน, สุขภาพจิต, โรคเครียด, สถานการณ์, การเมือง, ซูมซอกแซก