ส่งท้าย “100 ปีเรือข้ามฟาก” เคียงคู่ “เจ้าพระยา” สู่อนาคต

หลังจากจดทะเบียนก่อตั้ง “บริษัท สุภัทรา จำกัด” เมื่อ พ.ศ.2506 อันเป็นปีที่ 43 ของการดำเนินธุรกิจรับผู้โดยสารข้ามฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยาที่ริเริ่มโดยคุณหญิงบุญปั๋น สิงหลกะ เรียบร้อยแล้ว หญิงเหล็ก สุภัทรา สิงหลกะ ก็เดินหน้าพัฒนาธุรกิจเล็กๆ ที่มารดาทิ้งไว้ให้จนกลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ตามยุคสมัย

จากเรือสำปั้นเพียง 2-3 ลำ กลายเป็นเรือยนต์ถึง 32 ลำ และจากการให้บริการเพียง 3-4 ท่า ก็กลายเป็น 14 ท่า ดังที่สรุปไว้ในซอกแซกสัปดาห์ที่แล้ว

ต่อมาในปี 2514 หรืออีก 8 ปี หลังจดทะเบียนบริษัทอย่างเป็นทางการ เธอก็ได้ “เรือด่วน” ซึ่งวิ่งแล่นรับผู้โดยสารจากท่าเหนือสุดของ กทม. ลงไปสู่ท่าใต้สุดของ กทม. มาเป็นทรัพย์สินของบริษัทอีก 23 ลำ พร้อมกับจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นใหม่ในชื่อ “บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา” ดำเนินกิจการรับส่งผู้โดยสารตามเส้นทางดังกล่าว

ถ้าจะว่าไปแล้ว การเปิดธุรกิจเรือด่วนไม่ได้อยู่ในแผนงานหรืออยู่ในความคิดของหญิงเหล็กสุภัทราแม้แต่น้อย

ต้นคิดที่แท้จริงก็คือกระทรวงคมนาคมนั่นเอง ที่มองเห็นความจำเป็นของการจัดเรือโดยสารทางนํ้าสำหรับบริการประชาชนที่อยู่ 2 ฟากฝั่งแม่นํ้า จึงได้มอบหมายให้ องค์การรับส่งสินค้า และ พัสดุภัณฑ์ หรือ ร.ส.พ. รัฐวิสาหกิจของกระทรวงคมนาคม จัดซื้อเรือด่วนมาให้บริการแก่ประชาชน ตั้งแต่ปี 2512

ในช่วงแรกๆ เธอมีความรู้สึกว่า “เรือด่วน” ของ ร.ส.พ. เหล่านี้เป็น “ตัวก่อกวน” หรือ “ผู้สร้างปัญหา” ให้แก่กิจการรับผู้โดยสารข้ามฟากของเธอเสียด้วยซํ้า

เพราะมาแย่งท่าเรือของเธอจอด ทำให้การข้ามฟากไม่สะดวก แถมยังมาเร็วไปเร็ว ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารทั้งที่มากับเรือด่วนเองและผู้โดยสารข้ามฟากของเธอที่ต้องเจอทั้งคลื่นและการชิงเข้าท่าตัดหน้า

แต่แล้วธุรกิจเรือด่วนของ ร.ส.พ. ซึ่งประสบการขาดทุนมาโดยตลอด ก็ไปไม่รอด จึงมาขอร้องให้บริษัท สุภัทรา จำกัด เป็นผู้รับซื้อ หรือ “เซ้ง” ทั้งเรือและสัมปทานไปทั้งหมด

หญิงเหล็กสุภัทราตัดสินใจซื้อทันที แม้จะทราบดีว่ากิจการขาดทุนและเมื่อรับมาบริหารเองแล้วก็อาจจะขาดทุนต่อ แต่ผลดีที่จะเกิดขึ้นก็คือ เธอจะได้จัดระเบียบการวิ่ง การรับผู้โดยสารสำหรับเรือด่วนด้วยตนเอง

อันจะทำให้การก่อกวนหรือการสร้างปัญหาของเรือด่วนรัฐวิสาหกิจที่ทำความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านและแก่เรือข้ามฟากของเธอหมดสิ้นไป

แม้ปี พ.ศ.2512 จะเป็นปีที่หญิงเหล็กสุภัทรามีเรื่องเดือดร้อนรำคาญใจบ้าง จากการที่มีเรือด่วนของ ร.ส.พ.มาแย่งจอดตามท่าข้ามฟากของเธอหลายแห่ง แต่ก็ต้องถือว่าเป็นปีมหามงคลยิ่งสำหรับเธอ เมื่อได้รับพระราชทานเครื่องราช อิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าชั้นจตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.) จากในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถที่จะใช้คำว่า “คุณหญิง” ขึ้นนำหน้าชื่อของเธอในปีเดียวกัน

คุณหญิง สุภัทรา สิงหลกะ บริหารกิจการทั้งเรือข้ามฟากและเรือด่วนเจ้าพระยาควบคู่ไปกับกิจกรรมสังคมสงเคราะห์และการกุศลต่างๆ มาจนถึง พ.ศ.2527 หรืออีก 15 ปีให้หลัง เธอก็เรียกตัวลูกสาวคนโตที่จบการศึกษาจากต่างประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว แต่งงานออกเรือนไปแล้ว และทำงานกับรัฐวิสาหกิจและธนาคารเอกชนหลายแห่ง…ให้กลับมาช่วยงานของครอบครัว

สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม (สมรสกับสถาปนิกชื่อดัง เปาว์ พิชัยรณรงค์สงคราม) หรือคุณติ๋ม จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอเมริกัน กรุงวอชิงตัน และจบปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์ และผ่านประสบการณ์ในการทำงานมาหลายแห่ง นับว่ามีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะเป็นทายาทรุ่นที่ 3 รับไม้ต่อจากคุณแม่

ต่อมาอีก 9 ปีให้หลัง หรือเมื่อ พ.ศ.2536 “หญิงเหล็ก” ผู้เป็นตำนานรุ่นที่ 2 คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ซึ่งล้มป่วยอยู่ระยะหนึ่งก็ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 83 ปี

“คุณติ๋ม” สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม จึงเข้ารับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ของธุรกิจในเครือบริษัท สุภัทรา จำกัด อย่างเต็มตัวนับแต่นั้น

ประสบการณ์ที่มาช่วยคุณแม่บริหารเกือบ 10 ปี ทำให้คุณติ๋มกลายเป็น “หญิงเหล็ก” คนใหม่แห่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีความแข็งแกร่งไม่แพ้คุณยายบุญปั๋น และคุณแม่สุภัทราผู้ล่วงลับ

เธอยืนหยัดสู้กับผู้ทรงอิทธิพลที่นำเรือด่วนเข้ามาวิ่งทับเส้นทางอยู่ถึง 3 ปีเต็มๆ ก่อนจะได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด เมื่อคู่แข่งประสบการขาดทุนจนต้องขายเรือทั้ง 40 ลำทิ้งอย่างหมดรูป

จากชัยชนะครั้งนั้น ทำให้คุณติ๋มมีความมั่นใจในการบริหารงานในบริษัท สุภัทรา จำกัด เพิ่มขึ้นไปอีก และสามารถต่อยอดกิจการต่างๆ ที่คุณแม่สร้างไว้ อีกหลายต่อหลายกิจการ

ณ วันที่กิจการเรือข้ามฟากมีอายุครบ 100 ปีในปีนี้ คุณติ๋มให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า บริษัทในกลุ่มของเธอมีเรือยนต์ถึง 96 ลำ ให้บริการ ณ ท่าเรือทั้งสิ้น 41 ท่า โดยเป็นเรือด่วนเจ้าพระยามากที่สุดถึง 61 ลำ แต่ละลำรับส่งผู้โดยสารได้เต็มที่ถึงเที่ยวละ 200 คน และเริ่มให้บริการด้วยเรือด่วนติดแอร์ระยะทดลองถึง 4 ลำในปัจจุบัน

ยังไม่รวม “เรือท่องเที่ยว” สีสันสดสวยในแบบเรือ 2 ชั้น ที่มีคำว่า Hop On HoP Off ประดับอยู่ข้างเรือ ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น อู่ต่อเรือ อู่ซ่อมเรือ ฯลฯ แตกแขนงออกไปอีกด้วย

คุณติ๋มอายุ 76 ปีแล้วในปีนี้ ยังแข็งแรงและยังไม่เหนื่อยที่จะเป็นนายท้ายเรือให้กับบริษัทในเครือของเธอต่อไป แต่ก็พร้อมเสมอที่จะส่งไม้ต่อให้แก่ทายาทรุ่นที่ 4 ที่ผ่านการเล่าเรียนและการฝึกฝน รวมทั้งการทำงานเป็นกำลังหลักในจุดต่างๆ ของบริษัทในเครือสุภัทราอยู่ในขณะนี้

ใครจะเชื่อว่า เรือสำปั้นของ คุณหญิงบุญปั๋น สิงหลกะ ที่แจวข้ามฟากจากฝั่งธนบุรีสู่ฝั่งพระนคร เมื่อ พ.ศ.2463 นั้น จะสามารถโลดแล่นมาจนครบ 100 ปี และยังจะโลดแล่นต่อไปได้อีกยาวนานในอนาคตข้างหน้า

ตราบเท่าที่แม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่เคียงคู่กับประเทศไทย.

“ซูม”

ซูมซอกแซก, บริษัท 100 ปี, เรือข้ามฟาก, เรือด่วนเจ้าพระยา, แม่น้ำเจ้าพระยา