100 ปีกลุ่มบริษัทสุภัทรา เจน 2 “สู่ยุคหญิงเหล็ก”

สัปดาห์ที่แล้ว ซอกแซกชุด “100 ปี กลุ่ม บริษัท สุภัทรา จำกัด” เจ้าของเรือโดยสารข้ามฟากในแม่น้ำเจ้าพระยา และเรือด่วนเจ้าพระยาตลอดจนเรือท่องเที่ยวทางน้ำ ฯลฯ จบลงด้วยการถึงแก่กรรมอย่างไม่คาดฝันเมื่อปี 2475 ของ “คุณหญิงบุญปั๋น สิงหลกะ” เจ้าของกิจการแจวเรือจ้างข้ามฟาก จากท่าวังหลัง ฝั่งธนบุรี สู่ท่ามหาราชและท่าช้างฝั่งพระนคร

นางสาว สุภัทรา สิงหลกะ ซึ่งเพิ่งพ้นชีวิตชาววังมาเป็น “บุษบาท่าเรือจ้าง” ช่วยคุณแม่ดูแลธุรกิจแจวเรือข้ามฟากได้เพียง 2 ปี จึงต้องแบกภาระดำเนินธุรกิจนี้ต่อไปด้วย 2 ไหล่และ 2 มือของเธอ โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าในช่วง ค.ศ.1930 หรือปี 2473 เป็นต้นมานั้น ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ขึ้นทั่วโลกที่เรียกว่า “The Great Depression” และได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงมาสู่ประเทศไทย

แน่นอนผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจย่อมมาถึงกิจการเรือจ้างข้ามฟากของนางสาวสุภัทราด้วย ทำให้ประสบการขาดทุนมาโดยตลอด

แต่ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่งและถือว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นมรดกที่แม่ทิ้งไว้ ประกอบกับเมื่อทำไปเรื่อยๆ เธอก็เริ่มมีความรัก ความผูกพันกับธุรกิจนี้มากขึ้นทุกขณะ ทำให้นางสาวสุภัทรายังคงเดินหน้ากัดฟันสู้ จนสามารถประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อมาได้

ในปี 2477 เพียง 2 ปี หลังจากที่เธอเข้าแบกรับธุรกิจเรือข้ามฟากเต็มตัว ก็มีการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่เรียนจบระดับมัธยม 8 หรือเทียบเท่า สามารถเข้าเรียนได้โดยมิต้องสอบเข้า

นางสาวสุภัทราก็ไปสมัครเรียนด้วย ควบคู่ไปกับการบริหารกิจการเรือข้ามฟาก โดยแบ่งเวลาให้อย่างทัดเทียมกัน จนในที่สุดก็เรียนสำเร็จได้รับ ปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต ในปี 2482 หรืออีก 5 ปีถัดมา

ปี 2482 ไม่ใช่เป็นเพียงปีที่เธอจบเป็นธรรมศาสตรบัณฑิตเท่านั้น ยังเป็นปีเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย แต่ในช่วงแรกผลกระทบยังมาไม่ถึงประเทศไทยมากนัก

ในช่วงนี้เองที่นางสาวสุภัทราเริ่มตระหนักแล้วว่า ธุรกิจเรือข้ามฟากของเธอจะไม่มีวันเจริญเติบโตไปกว่านี้อย่างแน่นอน หากยังใช้เรือสำปั้น หรือเรือแจวในการรับส่งผู้โดยสารต่อไป

เพราะเรือสำปั้นนั้นนอกจากจะลำเล็กรับส่งผู้คนได้ไม่มากแล้วยังเชื่องช้าอีกด้วย กว่าจะข้ามฟากได้ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน

เธอจึงตัดสินใจที่จะยกระดับธุรกิจของเธอจาก “เรือแจว” ขึ้นมาเป็น “เรือยนต์” ในทันที ซึ่งก็เป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของหญิงเหล็กคนนี้

เหตุเพราะเธอไม่มีทุนรอนอะไรสะสมอยู่เลยจำเป็นต้องขายสมบัติประจำตระกูลอันได้แก่ กระบะทองประดับกระต่าย ลูกตาฝังด้วยทับทิม ให้แก่พ่อค้าจีนรายหนึ่งในราคา 400 บาท

จนสามารถซื้อ เรือยนต์ลำแรก มาวิ่งรับ ผู้โดยการข้ามฟากได้สำเร็จ และต่อมาก็ซื้อเพิ่มอีกหลายลำ ทดแทนเรือสำปั้นที่จำเป็นต้องอำลาจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามกาลเวลา

เมื่อธุรกิจเริ่มลงตัวและมีความทันสมัยเปลี่ยนจากเรือแจวมาเป็นเรือยนต์เรียบร้อย นางสาวสุภัทราก็เปลี่ยนสถานภาพมาใช้คำว่า “นาง” นำหน้า เมื่อพบรักกับหนุ่มใหญ่วัยสูงกว่าเธอ 5 ปี ที่ชื่อว่า สะอาด มีชูธน อดีตมหาดเล็กของในหลวงรัชกาลที่ 7 และนักเรียนทุนการศึกษาหลวงไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู สหรัฐฯ จนจบปริญญาตรี ด้านวิศวกรเครื่องกล กลับมารับราชการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ก่อนจะ โยกย้ายไปที่กระทรวงอุตสาหกรรมและปฏิบัติราชการด้วยความขยันยันแข็ง เจริญก้าวหน้าเป็นถึงอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในที่สุด

นางสาว สุภัทรา สิงหลกะ เข้าพิธีสมรสกับนาย สะอาด มีชูธน เมื่อ พ.ศ.2485 อันเป็นปีที่เธอมีอายุ 32 ปี และคุณสะอาดมีอายุ 37 ปี

ทั้งคู่มีบุตรสาว 2 คน ได้แก่ สุภาพรรณ มีชูธน และ ภัทราวดี มีชูธน ซึ่งบุตรสาวคนโต หรือ คุณสุภาพรรณ นี่เองที่เข้ามารับช่วงสานต่อธุรกิจเดินเรือข้ามฟากของคุณแม่ และต่อมาได้ขยายธุรกิจคุณแม่เพิ่มเติมอีกหลายธุรกิจในปัจจุบันนี้

ส่วนบุตรสาวคนเล็ก ภัทราวดี มีชูธน นั้น มีใจรักด้านศิลปะการแสดงมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็เดินเข้าสู่การเป็นนักแสดงเต็มตัว และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เมื่อปี 2557

เมื่อสงครามโลกสงบลงในปี 2488 ประเทศ ไทยก็เข้าสู่โหมดของการพัฒนายุคใหม่ จากยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม ถึงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจฉบับแรกให้แก่ประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2504

ธุรกิจของคุณสุภัทราก็เจริญเติบโตไปตามเส้นทางการพัฒนาของประเทศ จนมาถึงปี 2506 อันเป็นปีที่เธอตัดสินใจจดทะเบียนกิจการเรือข้ามฟาก ในนามของ บริษัท สุภัทรา จำกัด นั้น… บริษัทของเธอมีเรือข้ามฟากถึง 32 ลำ ให้บริการขนส่งผู้โดยสารสู่ท่าเรือต่างๆรวม 14 ท่า

เราต้องไม่ลืมว่า ในยุคการพัฒนาประเทศอันใหญ่หลวงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งมีการสร้างถนนหนทางเชื่อมจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเป็นใยแมงมุมนั้น ได้ทำลายธุรกิจขนส่งและคมนาคมทางลำน้ำลงไปโดยสิ้นเชิง

แม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยมี เรือแดง เรือเขียว ซึ่งเป็นเรือยนต์ลำเขื่องโลดแล่นไปตามลำน้ำจากท่าเรือปากคลองตลาดไปจนถึงปากน้ำโพ กำแพงเพชร ฯลฯ ต่างต้องเลิกกิจการขายเรือปิดบริษัทไปตามๆกัน

แต่เรือยนต์ข้ามฟากของบริษัท สุภัทรา จำกัด ที่เริ่มมาจากเรือสำปั้นของ คุณหญิงบุญปั๋น สิงหลกะ สาวชาววังจากภาคเหนือกลับสามารถอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง

เรื่องราว 100 ปี ของกลุ่มบริษัทสุภัทรายังไม่จบครับ…เพราะทีมงานซอกแซกเพิ่งเขียนมาถึงปี 2506 ซึ่งเป็นปีที่ 43 ของบริษัทนี้เท่านั้น

ยังอีกตั้ง 57 ปี บริษัทจึงจะมีอายุครบ 100 ปี ซึ่งจะต้องผ่านคลื่นลมอีกมากมายกว่าจะมาถึงวันนี้…โปรดติดตามอ่านตอนจบในสัปดาห์หน้านะครับ.

“ซูม”

เรือข้ามฟาก, แม่น้ำเจ้าพระยา, เรือด่วนเจ้าพระยา, บริษัท 100 ปี, ซูมซอกแซก