จาก “เรือแจว” สู่ “เรือด่วน” 100 ปี กลุ่มบริษัท “สุภัทรา”

นับตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนต่างๆ เป็นระยะๆ ว่าบริษัทไทยชื่อดัง 2 บริษัท ที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยอย่างดียิ่ง…จะมีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์ และจะมีการเฉลิมฉลองตามสมควรภายใน พ.ศ.นี้

ได้แก่กลุ่ม “บริษัทสุภัทรา” เจ้าของกิจการเรือข้ามฟากและเรือด่วนเจ้าพระยา ตลอดจนเรือท่องเที่ยวทันสมัยหลายสิบลำที่โลดแล่นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาและลำคลองใหญ่น้อยต่างๆ

กับกลุ่ม “สิทธิผล 1919 จำกัด” เจ้ายุทธจักรด้านการผลิตและจำหน่ายอะไหล่ยานยนต์ตลอดจน ยางรถจักรยานยนต์ และอุปกรณ์ แสงสว่าง ฯลฯ อันดับต้นๆ ของประเทศไทย

การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี แถมยังมั่นคงแข็งแรงส่อแววว่าจะอยู่ต่อไปได้อีกนานหลายสิบปีในอนาคตข้างหน้า ย่อมไม่ใช่เป็นเรื่อง “ฟลุก” หรือ “โชคเข้าข้าง” อย่างแน่นอน

หากแต่เป็นเรื่องของความรู้ ความสามารถ ในการบริหารจัดการตลอดจนวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรหรือบริษัทนั้นๆ ที่สามารถบริหารได้อย่างดียิ่ง และมองเหตุการณ์ข้างหน้าได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งได้สร้างทายาทให้รับช่วงต่ออย่างเหมาะสม

ทีมงานซอกแซกได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารรุ่นปัจจุบันของทั้ง 2 กลุ่ม รวมทั้งศึกษาจากเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จะค้นหาได้มาพอสมควร เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะหยิบยกเรื่องราวความเป็นมาของทั้ง 2 กลุ่มบริษัทมาถ่ายทอดต่อสัก 2-3 สัปดาห์ จากนี้ไป

เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังที่จะได้เรียนรู้ถึงวิถีแห่งความสำเร็จของทั้ง 2 กลุ่มบริษัทที่ว่านี้ และนำมาใช้ในการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อก่อตั้งบริษัท ห้างร้าน หรือกิจการใดๆ ก็ตาม ให้เติบใหญ่ขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต เช่นเดียวกับที่ทั้ง 2 บริษัทนี้ริเริ่มขึ้นในอดีตกาลและยั่งยืนยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

นานๆ ทีขอเขียนเรื่องหนักๆ ในคอลัมน์เบาๆ อย่างซอกแซกวันอาทิตย์สักครั้งนะครับ…

เรามาเริ่มกันที่กลุ่ม บริษัท สุภัทรา ซึ่งมี บริษัทสุภัทรา (จำกัด) เป็นแม่ข่ายเป็นบริษัทแรกเพราะเพิ่งจะมีงานฉลองร้อยปีอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เนรมิตริมฝั่งเจ้าพระยาและแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ๆ ที่ตั้งบริษัทให้เป็นโรงละครกลางแจ้งที่มีชีวิตชีวาเสมือนจริงขนาดใหญ่ จนกลายเป็นข่าวใหญ่ในสื่อทุกแขนง ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ทีมงานซอกแซกมีโอกาสสัมภาษณ์ผู้นำทายาทรุ่นที่ 3 ของกลุ่มคุณ สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม อย่างละเอียดเมื่อปีที่แล้ว และได้รับหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้น เนื่องในโอกาสฉลอง 100 ปี ที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Women of the River” รวบรวมความเป็นมาและเป็นไปของบริษัทในช่วง 100 ปี เอาไว้อย่างครบครัน

จากหนังสือเล่มนี้เองที่ทำให้เราทราบว่าผู้ให้กำเนิดบริษัทนี้เป็นสุภาพสตรีชาววังผู้หนึ่ง ซึ่งเมื่อแต่งงานออกเรือนและออกจากวังมาพำนักที่บ้านพักของสามี ณ บริเวณวังหลังฝั่งธนบุรีแล้วก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องข้ามฝั่งมาพบปะญาติมิตรและผู้หลักผู้ใหญ่ที่วังหลวงอยู่บ้าง

ทำให้ท่านทราบว่าการจะข้ามฟากมาได้ของบุคคลธรรมดาทั่วๆ ไปที่ไม่มีเรือเป็นของตนเองไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย…จำเป็นจะต้องอาศัยเรือของขุนนางหรือของผู้มีอันจะกินอื่นๆ เป็นพาหนะ สำหรับเดินทางไปไหนมาไหนในยุคนั้น

เป็นที่มาของแนวคิดที่จะเริ่มต้นธุรกิจ “เรือข้ามฟาก” เพื่อรับส่งผู้โดยสารทั่วไป ของ คุณหญิงบุญปั๋น ข้าหลวงคนหนึ่งของ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5…ที่ต่อมาได้รับพระกรุณาจากพระราชชายาให้ลาออกจากตำแหน่งนางข้าหลวงไปแต่งงานกับข้าราชการหนุ่มที่ชื่อว่า สง่า สิงหลกะ หรือ หลวงเทพสมบัติ ซึ่งพำนักอยู่ที่ย่านวังหลัง ฝั่งธนบุรี ดังกล่าว

คุณหญิงบุญปั๋น เข้าหุ้นกับนางเผือก เพื่อนบ้านซื้อ “เรือสำปั้น” แบบต้องใช้คนยืนแจวท้ายเรือมา 1 ลำ พร้อมกับเริ่มต้นรับผู้โดยสารข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าวังหลัง สู่ท่ามหาราชเยื้องวังหลวงฝั่งพระนคร…ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2463 เป็นต้นมา

คุณหญิงบุญปั๋นกับ หลวงเทพสมบัติ หรือ สง่า สิงหลกะ มีทายาทถึง 6 คน เป็นบุตรชาย 4 คน และบุตรสาว 2 คน และตั้งชื่อลูกสาวคนสุดท้องว่า “เล็ก” หรือ ด.ญ.สุภัทรา สิงหลกะ ซึ่งใกล้ชิดแม่บุญปั๋นมากกว่าลูกคนอื่นๆ

แม้จะออกจากวังมาเป็นเวลาที่เนิ่นนาน แต่คุณหญิงบุญปั๋นก็ยังเห็นคุณค่าของความเป็น “สาวชาววัง” จึงส่งบุตรสาวคนเล็กไปถวายตัวเป็นนางข้าหลวงในวังตั้งแต่อายุ 12 ปี เช่นเดียวกับที่ท่านเคยใช้ชีวิตในวังมาก่อน

ส่งผลให้ ด.ญ.เล็ก หรือ ด.ญ.สุภัทรา สิงหลกะ ได้มีโอกาสเป็นสาวชาววังและได้รับการอบรมสั่งสอนจนสามารถทำงานสนองพระเดชพระคุณในหลวงรัชกาลที่ 6 มาจนอายุ 20 ปี เข้าสู่ยุคในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงลาออกจากวังกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านย่านวังหลังของแม่อีกครั้ง

พร้อมกับช่วยแม่ดูแลกิจการเรือจ้างข้ามฟากเป็นงานหลักเรื่อยมา จนถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต คุณหญิงบุญปั๋นถึงแก่กรรมอย่างไม่คาดฝันใน พ.ศ.2475

ธุรกิจเรือจ้างข้ามฟาก ซึ่งยังเป็นเรือแจวไม่กี่ลำใน พ.ศ.ดังกล่าว จึงกลายเป็น “มรดก” ที่ น.ส.สุภัทรา สิงหลกะ จะต้องรับช่วงในการบริหารแทนมารดา นับแต่บัดนั้น

หญิงสาวอายุเพียง 22 ปี สามารถสานต่อเจตนารมณ์ของแม่จาก “เรือแจว” ข้ามฟากไปสู่ธุรกิจ “เรือยนต์ข้ามฟาก” ที่คนรุ่นเรารู้จักคุ้นเคยอย่างดีไปจนถึงยุคของ “เรือด่วนเจ้าพระยา” ได้อย่างไร?

โปรดติดตามอ่านต่อใน “ซอกแซก” สัปดาห์หน้านะครับ.

“ซูม”

เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือข้ามฟาก, ฉลอง 100 ปี, 100 ปี, บริษัท, ซูมซอกแซก