เส้นทาง “การบินไทย” 10 ขั้นตอนสู่การ “คืนชีพ”

เมื่อเที่ยงๆ วันจันทร์ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์ทุกฉบับรายงานตรงกันว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยเข้าสู่กระบวน การฟื้นฟูกิจการตามที่บริษัทการบินไทยในฐานะลูกหนี้เป็นผู้ร้องขอ

ศาลได้พิจารณาอย่างละเอียดแยกเป็นประเด็นต่างๆ รวมทั้งประเด็นที่ว่าการบินไทยยังมีโอกาสที่จะชำระหนี้ได้ในอนาคต จึงมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ

โดยตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ทำแผน

ผมในฐานะเพื่อนบ้านของการบินไทยเพราะสำนักงานอยู่ตรงข้ามกันแค่ถนนวิภาวดีรังสิตขวางกั้น…อ่านข่าวแล้วก็รู้สึกดีใจที่ทราบคำสั่งศาลในลักษณะเช่นนี้

เพราะนั่นแปลว่าการบินไทยของเราสามารถก้าวข้าม ขั้นตอน ของการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายไปอีกขั้นตอนหนึ่ง

เท่าที่ผู้สันทัดกรณีสรุปเอาไว้นั้นการบินไทยจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ถึง 10 ขั้นตอนจึงจะสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเพื่อให้ธุรกิจหยุดการขาดทุนและกลับมามีกำไรอีกครั้งหนึ่ง

เว็บไซต์ “บิลเลียน มายด์เซต” เคยสรุป 10 ขั้นตอนที่ว่านี้ไว้ ซึ่งผมแอบจดลงสมุดบันทึกส่วนตัวไว้หลายเดือนแล้วขออนุญาตนำมาลงในวันนี้เพื่อให้กองเชียร์ทั้งหลาย พอจะคาดการณ์หรือกะเก็งได้ว่า การบินไทยจะลงมือปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูได้เมื่อไร?

ขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ขั้นตอน เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่าเกิดขึ้นแล้วและดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ ผ่านศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา

ขั้นตอนที่ 2 การบินไทย ยื่นคำร้องต่อศาล โดยเสนอตัวผู้ทำแผนฟื้นฟู พร้อมทั้งตั้งคณะเจรจาหนี้ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเช่นกัน

ขั้นตอนที่ 3 ศาลรับคำร้องฟื้นฟูกิจการ ซึ่งก็คือขั้นตอนที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 14 กันยายนตามข่าวที่ผมนำมาเรียนท่านผู้อ่านข้างต้น

ต่อไปก็จะเป็น ขั้นตอนที่ 4 การส่งจดหมายถึงเจ้าหนี้ เพื่อแจ้งว่าการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และให้เจ้าหนี้มาประชุมหาทางออกร่วมกัน

จากนั้นก็เป็น ขั้นตอนที่ 5 การประชุมหาผู้ทำแผนฟื้นฟู ซึ่งจะเป็นการประชุมระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อหาผู้จัดทำแผนฯ

ต่อไป ขั้นตอนที่ 6 ศาลตั้งผู้ทำแผน ฟื้นฟู และเริ่มจัดทำแผนฟื้นฟู

ขั้นตอนที่ 7 เสนอแผนฟื้นฟูกิจการ

ขั้นตอนที่ 8 ประชุมเจ้าหนี้อีกครั้ง เพื่อดูว่าแผนฟื้นฟูนั้นจะทำได้จริงแค่ไหน และตกลงว่าจะอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่

ขั้นตอนที่ 9 ศาลอนุมัติแผนฟื้นฟู โดยจะต้องส่งแผนมาให้ศาลอีกรอบ ตามปกติศาลจะพิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟู พร้อมกับแต่งตั้งผู้บริหารเข้ามาปฏิบัติงานตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว

ขั้นตอนที่ 10 ฟื้นฟูกิจการให้กลับมาทำกำไร หรือขั้นลงมือปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูที่เสนอต่อศาลแล้วนั่นเอง

ผมไม่แน่ใจว่าจะต้องทำทุกอย่างๆเป๊ะๆตามขั้นตอนนี้หรือไม่ แต่ถ้าดูเฉพาะขั้นตอนสำคัญๆ มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า การบินไทยจะเสนอแผนฟื้นฟูต่อศาลได้ในไตรมาส 4 ของปี 2563 นี้

จากนั้น ต้นปีหน้า 2564 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย และภายในไตรมาสแรกของปี 2564 ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบแผน และแต่งตั้งผู้บริหารแผนตามขั้นตอนที่ 9

ดูจากเป้าหมายเรื่องเวลาการลงมือปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูน่าจะเริ่มได้ราวๆ ต้นไตรมาส 2 ของปีหน้า

ก็ประมาณ 6-7 เดือน ถ้านับจากวันนี้

ตอนตั้งผู้บริหารแผนนั่นแหละสำคัญที่สุด ของสายการบิน เจแปน แอร์ไลน์ ตอนโน้นเขาตัดสินใจเลือกนาย คาซูเอะ อินาโมริ มาเป็นผู้บริหารสูงสุด ซึ่งเขาก็ทำได้ จนเจแปน แอร์ไลน์ ฟื้นคืนชีพอย่างสง่างาม

เราจะมีบุคคลที่มีความสามารถอย่างนายคาซูเอะ อินาโนริ มาช่วยชุบชีวิตการบินไทยหรือไม่? โปรดลุ้นกันต่อนะครับ.

“ซูม”

การบินไทย, การฟื้นฟูกิจการ, ล้มละลาย, ซูมซฮกแซก