ด้วยรักและห่วงใย “อินเดีย” ติดโควิดพุ่ง “อันดับ 2” โลก

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงวัน “โป๊ะแตก” หรือวันที่ประเทศไทยเราติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศครั้งแรก หลังจาก “ปลอดเชื้อ” ไม่มีการติดในประเทศยาวนานถึง 101 วัน พร้อมกับสรุปว่าเราจะต้องกัดฟันจับมือกันสู้โควิดต่อไปอีก เพราะสถานการณ์ของโลกยังไม่คลี่คลายลงแต่อย่างใด

ยอดรวมติดเชื้อใหม่วันเดียวของโลกที่ผมเขียนไว้เมื่อวานนี้ ซึ่งขณะเขียนตรงกับวันเสาร์ที่ 5 กันยายน ยังสูงถึง 292,509 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก และรุ่งขึ้นอีกวันคือวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน ก่อนที่ผมจะเขียนต้นฉบับวันนี้ก็ยังสูงถึง 269,378 ราย แม้จะลดลงมาบ้าง แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่อยู่ในเกณฑ์สูงมากอยู่ดี

ที่สำคัญเมื่อมองไปในรายละเอียดของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศอินเดีย เพื่อนร่วมทวีปเอเชียของเรา ผมถึงกับสะดุ้ง

เพราะเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมปลายเดือนก่อน ยอดติดเชื้อวันเดียวของอินเดียขึ้นไปที่ 78,761 ราย ทำสถิติติดเชื้อใหม่ในวันเดียว “สูงสุด” ของโลก จากรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศทุกสำนัก

ทำลายสถิติที่สหรัฐฯ เคยทำไว้วันเดียวสูงสุดของโลก เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม รวม 77,299 รายไปเรียบร้อย

แต่ ณ วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน ขณะที่ผมกำลังจะเขียนต้นฉบับวันนี้ตัวเลขเพิ่มประจำวันของอินเดียกระโดดไปที่ 90,600 โน่นเลย

แม้จะยังไม่มีสำนักข่าวต่างประเทศสำนักไหนหยิบไปพาดหัว แต่ด้วยตัวเลขวันละ “90,600” ราย เช่นนี้ ผมก็ขออนุญาตนำมาพาดหัวเองและขอเขียนถึง อินเดีย ด้วยความรักและห่วงใยอย่างแท้จริงในวันนี้

ด้วยยอดติดเชื้อประจำวันถึง 9 หมื่นกว่ารายดังกล่าวทำให้ยอดติดเชื้อสะสมของอินเดียกระฉูดไปที่ 4,110,839 (อ่านว่าสี่ล้าน 1 แสน 1 หมื่นรายเศษ) เข้าไปแล้ว

แพ้ บราซิล ประเทศติดเชื้อโควิด-19 อันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีสถิติสะสม 4,123,000 ถึงวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ย.เช่นกัน เพียง 12,161 รายเท่านั้น

ผมคาดว่าตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 กันยายน เป็นต้นไป อินเดีย น่าจะแซง บราซิล ขึ้นเป็นประเทศติดเชื้อสูงสุดอันดับ 2 ของโลกไปเรียบร้อย

หากเมื่อวานยังไม่แซง ผมก็เชื่อว่าไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้จะต้องแซงแน่ๆ

รัฐบาลอินเดีย โดยเฉพาะผู้นำท่านนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมที ท่านมิได้เป็นคนอวดเก่ง อวดกล้า จนมองว่าโควิด-19 เป็นเรื่องเล็กๆ หรือเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา ดังเช่น คุณ โดนัลด์ ทรัมป์ (แชมป์อันดับ 1) หรือ คุณ ฌาอีร์ โบลโซนารู (ประธานาธิบดีบราซิล ประเทศติดเชื้ออันดับ 2) แต่อย่างใดเลย

ในทางตรงข้ามท่านทุ่มเทเอาใจใส่มองว่า โควิด-19 เป็นเรื่องน่ากลัว และตั้งใจรับมือเต็มที่

ยอมล็อกดาวน์ ปิดบ้าน ปิดเมือง ปิดมหาวิทยาลัย ปิดโรงเรียน ปิดโรงงาน ฯลฯ ทุกอย่างตามที่ตำราสอนไว้

เป็นผลให้เศรษฐกิจของอินเดียซบเซาถดถอยอย่างหนักมากๆ โดยเฉพาะเมื่อไตรมาสที่แล้ว ทรุดไปถึง 23.9 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดนับตั้งแต่อินเดียเริ่มจัดทำตัวเลขภาวะเศรษฐกิจเป็นรายไตรมาส เมื่อปี 1996 เป็นต้นมา หรือ 24 ปีพอดิบพอดี

และจากยอดผู้เสียชีวิตสะสมทั้งหมดนับถึงวันอาทิตย์ที่แล้ว 70,679 ราย ซึ่งเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น ได้รวมชีวิตของอดีตประธานาธิบดีประนาบ มุกเคอร์จี วัย 84 ปี ของอินเดียไว้ด้วย

แม้รัฐบาลอินเดียจะทุ่มเทเต็มที่ แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มากมายมหาศาล และการอยู่อาศัยอย่างแออัดในเมืองใหญ่ๆ ล้วนเป็นอุปสรรคอย่างมากในการที่จะยับยั้งการระบาดของโควิด-19

ที่น่ากังวลอย่างยิ่งก็คือ พื้นที่อินเดียอยู่ติดกับเมียนมาบางส่วน หรือติดกับบังกลาเทศที่อีกหน่อยเดียวก็จะเข้าเมียนมาได้ในบางส่วน

วัฒนธรรมอินเดียในอดีตที่เข้ามาสู่ตะวันออกไกล รวมทั้งบ้านเราด้วยก็มาตามเส้นทางสายนี้

ก็ไม่รู้โควิด-19 จากอินเดียจะเดินตามเส้นทางสายวัฒนธรรมมาด้วยหรือไม่? อย่างไร? หลายๆ เสียงบอกว่าน่าจะมาตามนั้นแหละ และก็ มาถึงเมียนมาเรียบร้อยแล้วในขณะนี้

ดังนั้น นอกจากเขียนให้กำลังใจอินเดียแล้ว ข้อเขียนวันนี้ ยังตั้งใจจะเขียนฝากเจ้าหน้าที่ชายแดนที่ติดกับเมียนมาทุกจังหวัดให้เตรียมพร้อมสูงสุดและอย่าลืมปิดชายแดนให้แน่นสนิทด้วยนะครับ.

“ซูม”

ประเทศอินเดีย, โควิด19, ยอดผู้ติดเชื้อโควิด19, ซูมซอกแซก