“สกลนคร” แห่งความหลัง วันนี้วันนั้นต่างกันลิบลับ!

สัปดาห์ที่แล้ว หัวหน้าทีมซอกแซกติดตามคณะกรรมการบริหารมูลนิธิไทยรัฐไปจังหวัดสกลนครมาครับ เพื่อร่วมในการประชุมประชาพิจารณ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่น้องประชาชนชาวตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร

ในกรณีที่ ไทยรัฐ กรุ๊ป จะขอเชิญชวน โรงเรียนบ้านชมภูพาน ของพี่น้องตำบลนี้มาเข้าร่วมโครงการ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพื่อชุมชนในชนบท อีกโรงเรียนหนึ่งนั้น พ่อแม่พี่น้องจะขัดข้องหรือไม่ ประการใด?

ผลปรากฏว่าการประชุมประชาพิจารณ์เป็นไปด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่งและจบลงด้วยพี่น้องชาวตำบลสร้างค้อ เห็นพ้องกันด้วยคะแนน เสียง 100 เปอร์เซ็นต์ ว่ายินยอมพร้อมใจ และนับแต่นี้ต่อไปก็จะได้ชื่อใหม่ว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 110 (บ้านชมภูพาน) ที่ไทยรัฐ กรุ๊ป จะลงไปสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ให้ทั้งหลัง พร้อมรับอุปถัมภ์ค้ำชูผ่าน มูลนิธิไทยรัฐ สืบต่อไปในวันข้างหน้า

นานๆ จะได้ไปสกลนครกับเขาสักหนหนึ่ง หัวหน้าทีมซอกแซกจึงถือโอกาสปฏิบัติหน้าที่ในการซอกแซกควบคู่ไปด้วย โดยแวะไปดูโน่นดูนี่ รวมทั้งไปรับประทานอาหารอร่อยๆ มา 2-3 มื้อ ได้รายละเอียดมาเป็นของฝากท่านผู้อ่านชะลอมใหญ่ๆ เลยทีเดียว

ขออนุญาตแกะชะลอมหยิบของฝากจากเมืองสกลมามอบให้แก่ท่านผู้อ่านเป็นลำดับไป ดังต่อไปนี้นะครับ

เริ่มจากคำขวัญของจังหวัดซะก่อนก็แล้วกัน เพราะเกือบทุกจังหวัดของเราก็ว่าได้ที่จะนำ “ของดี” หรือ “เอกลักษณ์” หรือ “สัญลักษณ์” ของจังหวัดมาแต่งเป็นคำขวัญที่ว่านี้

อ่านปุ๊บก็รู้เลยว่าจังหวัดนั้น จังหวัดนี้ มีอะไรดีๆ บ้าง

ของสกลนครนั้น มีข้อความว่า “พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลือเลื่องหนองหาร แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม”

นับดูได้ 6 อย่าง 6 ประการ พอดีครับที่อยู่ในคำขวัญของจังหวัด

สำหรับ พระธาตุเชิงชุม นั้น เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองและคู่จังหวัดมาแต่โบราณกาล ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ถนนเจริญเมือง ในอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร นั่นเอง ยอดฉัตรเหนือพระองค์ธาตุทำด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก 247 บาท และภายในวิหารใกล้ๆ องค์พระธาตุยังเป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อองค์แสน อันเป็นที่เคารพบูชาอย่างยิ่งของชาวสกลนคร

ซึ่งก็ปรากฏว่า คณะกรรมการบริหารของมูลนิธิไทยรัฐได้จัดโปรแกรมไว้เป็นโปรแกรมแรกของการเยือนสกลนครงวดนี้เลยทีเดียว เรียกว่าพอลงจากเครื่องบินปุ๊บ ก็ไปสักการะทันที ทำให้หัวหน้าทีมซอกแซกได้มีโอกาสไปกราบขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลสมดัง ความมุ่งมาดปรารถนา

ในส่วนของ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ซึ่งเป็น “เอกลักษณ์” สำคัญประการที่ 2 ของจังหวัดสกลนครนั้น แม้หัวหน้าทีมซอกแซกจะไม่มีโอกาสขึ้นไปชมในการเดินทางครั้งนี้ แต่รถของคณะเราก็แล่นผ่านทางขึ้นพระตำหนักในเช้าวันที่เราไปทำประชาพิจารณ์นั่นเอง

เนื่องเพราะ โรงเรียนบ้านชมภูพาน ซึ่ง ต่อไปจะได้ชื่อใหม่ว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 110 (บ้านชมภูพาน) ตั้งอยู่ที่อำเภอภูพาน ดังได้กล่าวไว้แล้ว ทำให้คณะของเรามีโอกาสผ่านทางขึ้นพระตำหนักทั้งเที่ยวไปเที่ยวกลับ

ทุกครั้งที่หัวหน้าทีมซอกแซกนั่งรถผ่านพระตำหนักแห่งนี้ จะยกมือไหว้อยู่เสมอด้วยสำนึก ในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.9 เป็นล้นพ้น ที่ทรงพระราชดำริในการสร้างพระตำหนักแห่งนี้ขึ้น ณ บริเวณส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน

เทือกเขาซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งซ่อนตัวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และเป็นสมรภูมิในการสู้รบระหว่างเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับ ผกค.ในยุคที่ความคิดของคนไทยแบ่งออกเป็น 2 ฝักฝ่าย จนถึงขั้นต้องลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้กันเอง

เมื่อสร้างพระตำหนัก ภูพานราชนิเวศน์ ขึ้นแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ก็เสด็จมาประทับทรงงาน เพื่อการพัฒนาภาคอีสานมาโดยตลอด สลับเปลี่ยนไปกับ พระตำหนัก ภูพิงค์ราชนิเวศน์ ในภาคเหนือ และ พระตำหนัก ทักษิณราชนิเวศน์ ในภาคใต้

การเสด็จทรงงานอย่างใกล้ชิดกับราษฎรของทั้ง 2 พระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ไปตามท้องถิ่นทุรกันดารของจังหวัดสกลนคร และจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ยังเป็นภาพที่อยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทยมาจนถึงบัดนี้

ต่อมาเมื่อนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ.ดังกล่าว พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 66/23 ในปี 2523 เพื่อเชิญชวน ให้ผู้ก่อการร้ายวางอาวุธกลับมาช่วยพัฒนาชาติบ้านเมือง อันเป็นผลให้เหตุการณ์อันรุนแรงคลี่คลายลงไปจนแผ่นดินไทยทั้งประเทศกลับสู่ความสงบร่มเย็นอีกครั้ง

รวมทั้งเทือกเขาภูพาน ก็กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของ อุทยานแห่งชาติภูพาน ที่สงบร่มรื่น ในแต่ละปีจะมีประชาชนไปขอพักค้างคืน และเยี่ยมชมธรรมชาติอันสวยงามจำนวนมาก

ไม่อยากจะบอกเลยว่าบริเวณตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน ที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนไทยรัฐ–วิทยาแห่งใหม่ล่าสุดนี้ ก็เคยเป็นแผ่นดินที่ร้อนระอุด้วยเสียงปืนเสียงระเบิดมาแล้ว

แต่ทุกวันนี้คนละเรื่องเลยครับ ทั้ง 2 ฟาก ถนนเต็มไปด้วยไร่บ้าง สวนบ้าง รวมทั้งบ้านเรือนที่สวยงามแข็งแรงบ้าง และลึกไปหน่อยก็เป็นบริเวณป่าอันร่มรื่นและเขียวครึ้มดังกล่าว

นี่คือเหตุผลที่หัวหน้าทีมซอกแซกต้องยกมือขึ้นไหว้พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ในทุกครั้งที่นั่งรถผ่านไป

สัปดาห์หน้าเรามาว่ากันถึง “ของดี” ในคำขวัญต่อนะครับ รวมทั้งของดีอื่นๆที่อยู่นอกคำขวัญด้วย––อย่างว่าแหละครับ นานๆได้กลับไปสกลนครสักที นี่ก็น่าจะเกิน 20 ปีแล้ว กระมัง เขียนแค่สัปดาห์เดียวจบได้ยังไงล่ะ

ป.ล. ขอขอบคุณภาพจากเว็บไซต์สำนักงานจังหวัดสกลนครไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ.

“ซูม”

อำเภอภูพาน, จังหวัดสกลนคร, โรงเรียนไทยรัฐวิทยา, พระธาตุเชิงชุม, พระตำหนัก ภูพานราชนิเวศน์, ซูมซอกแซก