ตามมูลนิธิไทยรัฐไป “ภูพาน” ได้ “ความหลัง” บางอย่างมาฝาก

เมื่อวันเสาร์–อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมติดตามพี่มานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และกรรมการบริหารมูลนิธิไทยรัฐ ไปที่หมู่บ้านชมภูพานเหนือ ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร มาครับ

ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวมาโดยตลอดคงจะจำได้ว่า เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการประกาศยกย่องท่าน ผอ.กำพล วัชรพล เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาและการสื่อสารมวลชน โดยยูเนสโกนั้น

ไทยรัฐ กรุ๊ป ได้ตัดสินใจที่จะสร้างโรงเรียน ไทยรัฐวิทยา เพิ่มขึ้นอีก 10 โรง จาก 101 โรง เป็น 111 โรง

จากนั้นก็ได้ทยอยสร้างเรื่อยมาจากปี 2561-2562 จนแล้วเสร็จส่งมอบให้แก่ทางราชการไปแล้วเกือบครบ เหลือเพียงโรงเรียนเดียวเท่านั้นที่ยังไม่ได้เริ่มต้นดำเนินการใดๆเลยแม้จะได้หมายเลขล่วงหน้าไปแล้วคือ ไทยรัฐวิทยา 110 ที่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร นี่เอง

ขั้นตอนสำคัญที่สุดก็คือ ขั้นตอนเริ่มต้นที่เรียกว่า ประชาพิจารณ์ เพื่อขอความเห็นของพี่น้องประชาชนในเขตที่แต่ละโรงเรียนตั้งอยู่แต่เดิมว่าพร้อมที่จะเข้าร่วมกับเราในโครงการนี้หรือไม่

กำหนดวันประชุมประชาพิจารณ์เอาไว้คราวใด ก็ให้มีเหตุต้องเลื่อนออกไปคราวนั้น เพิ่งมาได้ฤกษ์งามยามดีครั้งใหม่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงไป

ปกติในการประชาพิจารณ์จังหวัดอื่นๆ ผมจะไปร่วมประชุมบ้างเท่าที่จะปลีกตัวไปได้ แต่สำหรับโรงเรียนแห่งนี้ผมจองคิวไว้เลยว่า ยังไงๆ ก็ต้องขอไป เพราะไม่ได้กลับไปเยี่ยม สกลนคร มานานมาก

ในช่วงที่ผมรับราชการ และได้ทำงานด้านพัฒนาชนบทนั้น ต้อง ออกเดินทางไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ และร่วมกับจังหวัดต่างๆ ในการขับเคลื่อน แผนพัฒนาชนบทยากจน (พ.ศ.2525-2529) อยู่ตลอด

โดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งยากจนที่สุดใน พ.ศ.นั้น ผมมาตระเวนเก็บข้อมูล ตั้งแต่ พ.ศ.2520 แล้วละครับ

ช่วงนั้นยังเป็นดง ผกค. หรือเขตผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์อยู่เลย

ยังมีปะทะ มีซุ่มโจมตี กันแทบทุกวัน ทำให้เสียชีวิตเสียเลือดเนื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร และเทือกเขาภูพาน ถือเป็นกองบัญชาการใหญ่แห่งหนึ่งของ ผกค.ในประเทศไทยก็ว่าได้

ยิ่งพอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นทำให้นิสิตนักศึกษาหนีเข้าป่าจำนวนมาก ก็ยังทำให้ขุมกำลัง และมันสมองในการวางแผนการสู้รบของ ผกค.แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ทุกครั้งที่มาเก็บข้อมูล ลงหมู่บ้านต่างๆในจังหวัดสกลนคร พวกเรา จะต้องระมัดระวังตัวอย่างที่สุด เพราะมีสถิติการปะทะค่อนข้างสูง

แต่สถานการณ์ก็ทำให้ผมต้องมาที่นี่บ่อยครั้ง เพราะสกลนครเป็น 1 ในจังหวัดที่อยู่ในสถานการณ์ยากจนมากใน พ.ศ.ดังกล่าว

ต่อมาเมื่อ พลเอกเปรม ตินสูลานนท์ ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 หรือที่เรียกกันนั้นว่า 66/23 นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ใช้การเมืองนำหน้าการทหาร โดยให้ปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์แล้วกลับมามอบตัวอย่าง “ประชาชนร่วมชาติ” และสนับสนุนให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม

ความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของคนไทย ถึงขั้นมีการจับอาวุธสู้รบกันในหลายพื้นที่จึงสงบโดยสิ้นเชิง

ทุกๆ จังหวัดที่เคยเป็นพื้นที่สีแดงก็กลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวแห่งความร่มเย็นเป็นสุข รวมทั้งจังหวัดสกลนครนี้ด้วย

ผมก็ขอถือโอกาสเล่าความหลังอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมต้องมาติดตามพี่มานิจมาสกลนครเอาไว้ด้วย เพราะในช่วงเวลานี้ดูเหมือนว่าประเทศไทยเรากำลังเข้าสู่วงจรของการขัดแย้งอีกแล้ว

ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าความรักใคร่กลมเกลียว ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชาติบ้านเมืองหรอกครับ เราเคยมีบทเรียนมาแล้ว ก็ขออย่าให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกเลย

อนึ่ง สำหรับการทำประชาพิจารณ์ระหว่างผู้แทนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐกับพี่น้องตัวแทนบ้านชมภูพานเป็นไปด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง

เราทั้ง 2 ฝ่ายคือ ไทยรัฐ กรุ๊ป และชุมชนลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะร่วมกันพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 110 (บ้านชมภูพาน) เพื่อประโยชน์ของลูกหลานชาวชมภูพานและใกล้เคียงสืบต่อไปครับ.

“ซูม”

มูลนิธิไทยรัฐ, โรงเรียนไทยรัฐวิทยา, ซูมซอกแซก