20 ปี “ธนาคารสมอง”

ผมได้รับเอกสารสารคดีเชิงข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับหนึ่ง อ่านแล้วก็รู้สึกปีติตื้นตันและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นล้นพ้น

สารคดีเชิงข่าวเรื่อง “20 ปีอาคารสมอง” น่ะครับ 1 ในพระราชดำรัสของพระพันปีหลวง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 ซึ่งต่อมารัฐบาลได้สนองพระราชดำรัสดังกล่าวมอบหมายให้ สภาพัฒน์ เป็นแกนกลางในการจัดตั้ง “ธนาคารสมอง” ขึ้น และได้ดำเนินการติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่า วันที่ 11 สิงหาคม หรือวันนี้ในอดีต เป็นวันที่พวกเราชาวไทยรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ

ไม่ว่าจะออกไปทำภารกิจในเรื่องใด หรือแม้แต่จะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจก็ดี จะต้องรีบกลับบ้านก่อนเวลา 20.00 นาฬิกา เพื่อที่จะมานั่งชมโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจถ่ายทอดพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน พระราชทานแก่ตัวแทนของพสกนิกรจำนวนหนึ่งที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม หรือวันรุ่งขึ้น

นอกจากจะทรงเล่าถึงพระราชกรณีกิจตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ว่าได้ตามเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 ไปเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วราชอาณาจักรแล้ว ก็จะทรงเล่าถึงโครงการพระราชดำริส่วนพระองค์ เช่น โครงการศิลปาชีพ และโครงการอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย รวมทั้งโครงการปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าต้นนํ้าลำธาร ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับโครงการ “ธนาคารสมอง” นั้น พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 แสดงถึงพระราชวิสัยทัศน์เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ที่ประเทศไทยเริ่มมีขึ้นบ้างแล้วในห้วงเวลาดังกล่าว

ทรงกล่าวถึงผู้เกษียณ เมื่ออายุครบ 60 ปี โดยเฉพาะข้าราชการ ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น จึงควรที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของผู้เกษียณอายุออกมาใช้ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมต่อไป

ทรงเปรียบเทียบ ความรู้ความสามารถของผู้เกษียณอายุของประเทศว่า เปรียบเสมือน “เบรนแบงก์” หรือ “ธนาคารสมอง” นั่นเอง

ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม 2543 คณะรัฐมนตรีก็มีมติมอบหมายให้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปดำเนินการ เพื่อให้โครงการธนาคารสมองเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง

ซึ่งสภาพัฒน์ก็ได้จัดตั้ง หน่วยทะเบียนกลาง ธนาคารสมอง ขึ้น ในเบื้องต้นเพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล จัดทำบัญชี หรือทำเนียบผู้ทรง คุณวุฒิสาขาต่างๆ รวมทั้งประกาศเชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิ ให้มาเป็น “วุฒิอาสา” เพื่อร่วมทำงานพัฒนาประเทศตามพระราชประสงค์

จากวันที่มีพระราชดำรัสมาจนถึงวันนี้ ได้มี วุฒิอาสา ที่สมัครเข้าสู่ธนาคารสมอง และได้นำความรู้ความสามารถ ตลอดจนประสบการณ์ไปแนะนำ ให้การปรึกษาหารือ หรือแม้แต่ร่วมปฏิบัติเองในบางเรื่องเป็นจำนวนถึง 5,289 ท่าน จำแนกออกเป็นสาขาความรู้ความเชี่ยวชาญรวมทั้งสิ้น 21 ด้าน ดำเนินการทั่วทุกภาคของประเทศ

สำหรับบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สมัครมาเป็นวุฒิอาสา ก็เช่น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์มนตรี ตู้จินดา, ศ.เกียรติคุณ แพทย์หญิง ชนิกา ตู้จินดา, นายปราโมทย์ ไม้กลัด, นายอรุณ งามดี และ ศ.กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล เป็นต้น

เอกสารของสภาพัฒน์สรุปในที่สุดว่า โครงการธนาคารสมอง จะยังคงดำเนินต่อไป และผู้เกษียณอายุไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน รัฐบาล หรือภาคเอกชน ตลอดจนผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นวุฒิอาสา รวมทั้งองค์กรใดก็ตาม ชุมชนใดก็ตาม เครือข่ายพัฒนาใดๆก็ตาม ที่ประสงค์จะได้รับบริการจากวุฒิอาสา

สามารถติดต่อได้ที่ กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โทร.0-2280-4085 ต่อ 3507, 3512-13 หรืออีเมล brainbank@nesdc.go.th ตั้งแต่บัดนี้

นี่คือ 1 ในโครงการอันทรงคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างยิ่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานไว้ และยังดำเนินอยู่อย่างเข้มแข็ง แม้เวลาจะผ่านไปถึง 20 ปีแล้วก็ตาม.

“ซูม”

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, ธนาคารสมอง, ซูมซอกแซก