ตำนาน “วอร์รูม” เศรษฐกิจความสำเร็จในยุค “ป๋าเปรม”

ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วว่า รัฐบาลจะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด–19 ขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากข้อเสนอของพวกเราชาวไทยรัฐกรุ๊ป เมื่อวันที่ท่านนายกรัฐมนตรีเดินทางมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพวกเราสัปดาห์ที่แล้ว

เหตุผลที่พวกเราเสนอท่านเช่นนี้ ก็สืบเนื่องมาจากประสบการณ์ที่พวกเราอยู่ในแวดวงข่าวสารมายาวนาน ได้พบเห็นความสำเร็จของการจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการ” เพื่อแก้ปัญหาสำคัญๆ ต่างๆ มาหลายครั้ง

ตัวอย่างปัจจุบันที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือการจัดตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งนี่แหละ

ส่วนตัวอย่าง หรือประสบการณ์ในอดีตที่ประสบความสำเร็จก็มีในหลายๆ เหตุการณ์ แต่ที่ยังอยู่ในความทรงจำของพวกเราที่ทำข่าวเศรษฐกิจมายาวนานก็คือ การตั้ง “วอร์รูม” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังประกาศลดค่าเงินบาทครั้งใหญ่ในยุค “ป๋าเปรม” พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2528

กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อ พ.ศ.2526-2527 ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง และก็เลือกทางแก้ปัญหาด้วยการลดค่าเงินบาทหลายครั้ง

จนมาถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 ปู่ สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ประกาศลอยค่าเงินบาทแบบทิ้งทวน ส่งผลให้เงินบาทไทยอ่อนตัวลงจาก 23 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ กลายเป็น 27 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ หรือลดลงไป 14.8 เปอร์เซ็นต์

ทำให้เกิดเหตุการณ์ “วันลอยกระทง” เมื่อพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผบ.สส. และ ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ออกมาให้สัมภาษณ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างดุเดือดทางโทรทัศน์ช่อง 5

แต่ป๋าเปรมก็จัดการจนทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อย ทำให้รัฐบาลยังอยู่ได้และเดินหน้าต่อไป

ต่อมาในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2527 อันเป็นคืนส่งท้ายปีเก่านั้นเอง พล.อ.เปรมก็ออกมากล่าวสุนทรพจน์ปีใหม่ และเป็นสุนทรพจน์ที่ไม่เพียงแค่อวยพรปีใหม่เท่านั้น แต่ยังบอกประชาชนด้วยว่า รัฐบาลจะทำอะไร และอยากให้ประชาชนทำในเรื่องใด

ป๋ากล่าวตอนหนึ่งว่า ลดค่าเงินบาทแล้วทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเดือดร้อน แต่ก็จะทำให้อีกหลายส่วนดีขึ้น และได้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะภาคส่งออกและการท่องเที่ยว ดังนั้นท่านจะสั่งการให้ สภาพัฒน์ ไปจัดทำมาตรการเพื่อใช้ประโยชน์จากการลดค่าเงินบาทให้มากที่สุด กลับมาเสนอท่านภายใน 30 วัน

พอวันที่ 3 มกราคม 2528 ป๋าเปรมก็สั่งตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังลดค่าเงินบาท ขึ้นมาทันที

มอบหมายให้ ดร.เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นประธานศูนย์ร่วมกับผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่ คุณกำจร สถิรกุล และให้ คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาพัฒน์ ใน พ.ศ.ดังกล่าว เป็นเลขานุการศูนย์

อีก 30 วันต่อมา ศูนย์นี้ภายใต้การกำกับของ ดร.เสนาะ อูนากูล และคุณกำจร สถิรกุล ก็เสนอ 24 มาตรการ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อป๋าเปรมได้ตามกำหนด

ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังลดค่าเงินบาท (ชื่อที่แท้จริงคงต้องตรวจสอบกันอีกครั้ง) ทำหน้าที่อย่างได้ผล จัดประชุมกรรมการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทั้ง 24 ข้อ แบบวันต่อวัน

ได้มติอะไรก็นำไปผลักดันต่อ ผ่าน ครม.เศรษฐกิจ ซึ่งมีป๋าเปรม เป็นประธาน เช่นเดียวกับพลเอกประยุทธ์ยุคนี้

เพียงปีเศษๆเท่านั้นทุกอย่างก็ “ฉลุย” เศรษฐกิจไทยกลับมาเจริญรุ่งเรือง จนนิตยสาร ไทมส์ และ นิวสวีก ฉบับเอเชีย พาดหัวหน้า 1 ยกให้ไทยเป็น “เสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 แห่งเอเชีย”

แม้เศรษฐกิจตกต่ำครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสกว่ายุคป๋าเปรม 10 หรือ 20 เท่า การเอาชนะจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

แต่ถ้าใจสู้และทำทุกอย่างอย่างมีแบบมีแผน และคอยมีศูนย์ปฏิบัติการเป็นแกนในการเชื่อมโยงขับเคลื่อน จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาลงได้

ประสานักข่าวรุ่นเก่าที่ทำข่าว “วอร์รูม” ยุคป๋าเปรมมาอย่างใกล้ชิด ผมขอเอาใจช่วยให้ “วอร์รูม” ของบิ๊กตู่ประสบความสำเร็จเช่นกัน

แฮ่ม! อย่าลืมจุดธูปบอกป๋าเปรมด้วยนะครับ เผื่อป๋าจะส่งใจจากสวรรค์เบื้องบนมาช่วยบิ๊กตู่อีกแรงน่ะครับ.

“ซูม”

ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด–19, เศรษฐกิจไทย, โควิด–19, ซูมซอกแซก