ประกาศผล 8 เรื่องเด่นชิงรางวัลชมนาด’63 ตีแผ่สังคม-ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย

การประกาศผลรางวัลชมนาด โครงการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยาย (FICTION) ของนักเขียนหญิง รางวัลชมนาด ที่ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเวทียกระดับนักเขียนสตรีเข้าสู่ระดับสากล มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมากถึง 39 เรื่อง 

ล่าสุดทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสายวรรณกรรม ได้คัดเลือกเรื่องที่เข้ารอบทั้งหมด 8 เรื่อง เพื่อเข้าชิงรางวัลชมนาดครั้งที่ 9 ประกอบด้วยเรื่อง คำสาปบริสุทธิ์, ผาชัน เสือแค้น และคืนหนึ่ง, อาณาจักรที่แสงอาทิตย์ไม่เคยส่องถึง, หากค่ำคืนนี้หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน, รอยบาศ, ไผ่ลายหยก, ดินแดนที่ไร้รอยน้ำตา และ ดอกไม้ใต้แสงตะวัน

ทั้งนี้ นรีภพ จิระโพธิรัตน์ ประธานคณะกรรมการการคัดเลือกผลงานการประกวดรางวัลชมนาด รอบสุดท้าย กล่าวว่า ภาพรวม ปีนี้มี 39 เรื่องมีหลากหลายแนว แนวชีวิตสังคมจะมากหน่อย แนวนิยายเหนือ-จริง แฟนตาซีก็มี แนวชีวิตจะเข้มข้น  39 เรื่อง สนุกทุกเล่ม ตัดสินใจยากมาก อย่าง บางเล่มโครงเรื่องชัด ตัวละครชัด บางเรื่องตัวละครมีรอยตำหนิ ผู้เขียนเฆี่ยนตีตัวละครจนเราสงสารตัวละคร แต่การดำเนินเรื่องทำให้เราติดตามเนื้อหาตั้งแต่ต้นไปจนจบเรื่อง บางเรื่องแม้ไม่เห็นโครงเรื่องชัด แต่บรรยายตัวละครได้ดี บางเรื่องกล่าวถึงคุณธรรม ชีวิตต้องสู้เยอะมาก

“ครั้งนี้คัดเลือก 8 เรื่อง เพราะ 39 เรื่อง ดีๆ เกือบทุกเรื่อง (แต่เราต้องมาคัดว่าเล่มไหนเชิดชูเรื่องของผู้หญิง มีน้ำเสียงของผู้หญิง และมีความเป็นนวนิยายอย่างสมบูรณ์ นี่คือเกณฑ์การพิจารณาเรื่อง เนื้อหาเป็นผู้หญิงที่ถูกกระทำ แต่ในการถูกกระทำก็มีการสู้ชีวิต มีแรงกระเพื่อมให้กับคนอ่านกับสังคมได้ ใน 8 เล่ม มีหลากหลายแนว มีแนวแฟนตาซีหน่อยๆ เรื่องของเด็กวัยรุ่นที่ถูกกระทำ แต่เขาก็มีเหตุมีผลของเขา”

ขณะที่ จันทร์ยวีร์ สมปรีดา “รอมแพง” นักเขียนนวนิยายชื่อดัง กล่าวว่า ภาพรวมของผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ โดยรวมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เขียนได้สนุก เขียนได้ดี ตัดสินใจยากพอสมควร มีความดีงามไล่ๆ กัน เราจึงต้องเลือกเรื่องที่มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด

เรื่องที่ประทับใจคือ “รอยบาศ” เป็นเรื่องการกลับชาติมาเกิด การวนเวียนผูกพันกัน เป็นการใช้ไทม์ไลน์ที่แปลกดีเลยชอบ พูดถึงเรื่องเวรกรรม และการถูกกระทำของผู้หญิง การใช้ชีวิตและการตัดสินใจของผู้หญิงที่ทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมา

“ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้ มีหลากหลายแนวมาก ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม สะท้อนสังคม มีเรื่องของการบูลลี่ หรือเรื่องของสืบสวนสอบสวน ซึ่งถือได้ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียนที่สามารถเอาแนวนี้มาเขียนเป็นนิยายที่น่าสนใจได้ และมีการให้ความสำคัญกับตัวเอกที่เป็นผู้หญิงได้ดี จึงทำให้ผลงานในปีนี้มีทั้งหลากหลายและมีแตกต่างในเรื่องของความคิดอ่านต่างๆ บางเรื่องทำให้เราคิดเลยว่า เขาคิดได้อย่างไร มีความคิดดีทีเดียว และรู้สึกถึงความสดใหม่ของนักเขียนใหม่ๆ “

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 8 เล่มที่เข้ารอบจะต้องไปตัดสินกันในรอบสุดท้ายโดยคณะกรรมการจะคัดเลือกอีกครั้ง เพื่อหาเรื่องที่ดีที่สุดสมกับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยาย (FICTION) เพื่อรับเงินรางวัลและได้รับการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มพร้อมกับการแปลเป็น ภาษาต่างประเทศด้วย