110 ปี “ป.อินทรปาลิต” ด้วยรัก, เคารพและขอบคุณ

หัวหน้าทีมซอกแซกได้รับหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก ชุด “สามเกลอ” พล-นิกร-กิมหงวน ตอน “อสุรกายอวกาศ” ของ ป.อินทรปาลิต มาตั้งแต่เดือนที่แล้ว และได้เขียนแนะนำสั้นๆ ในคอลัมน์ “เสาร์สารพัน” วันใดวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคมไปแล้วเช่นกัน

แต่เพิ่งจะมีโอกาสหยิบมาอ่านเมื่อวันหยุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง…ทำให้ทราบว่าหนังสือชุดนี้ สำนักพิมพ์แสงดาว ตั้งใจจะจัดพิมพ์เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบ 110 ปี ของ ป.อินทรปาลิต ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อไม่นานมานี้

โดยอุทิศหน้าที่ 3 หรือหน้าที่ 4 ให้หนึ่งหน้า ตีพิมพ์ข้อความพาดหัวไว้ว่า “100 ปีชาตกาล ป.อินทรปาลิต” พร้อมภาพวาดลายเส้นในแบบการ์ตูนเป็นรูปของท่านยืนเท้าเอวอมยิ้มเล็กน้อย ประกอบข้อความสั้นๆ อีก 2 บรรทัดว่า “ป.อินทรปาลิต : ชาตะ 12 พฤษภาคม 2453, มตะ 25 กันยายน 2511”

หัวหน้าทีมซอกแซกรู้สึกเสียดายที่มิได้หยิบมาอ่านเสียตั้งแต่ช่วงเวลาที่ได้รับหนังสือเล่มนี้ ซึ่งจะทำให้ทราบวันชาตะของท่านและทราบว่าปีนี้เป็นปีครบ 110 ปีชาตกาลของท่าน…จะได้เขียนถึงท่านในห้วงเวลาที่ใกล้เคียงกับวันที่ 12 พฤษภาคม วันเกิดของท่านโดยไม่ปล่อยให้ล่วงเลยมาจนถึงต้นเดือนมิถุนายนเช่นนี้

แต่ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ เพราะปกติงานเฉลิมฉลองการครบวาระชาตกาลของบุคคลต่างๆ เขามักจะดำเนินการกันไปตลอดทั้งปีของปีที่ครบวาระนั้นๆ…ดังนั้นการเขียนถึงท่านในวันนี้จึงไม่สายเกินไปแต่อย่างใด

สำหรับประวัติของ ป.อินทรปาลิต นั้น เป็นที่ทราบกันอย่างดีแล้ว ท่านเคยเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นประถมของโรงเรียนนายร้อยมาก่อน

ยุคนั้น การเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก หรือ จปร. ในปัจจุบันจะต้องเข้าตั้งแต่ชั้นประถม มัธยม แล้วก็ไปต่อที่โรงเรียนนายร้อย ซึ่งบิดาของท่านในฐานะ พันโท คนหนึ่งของกองทัพบกได้ส่งท่านไปเข้าชั้นประถมของโรงเรียนนายร้อย โดยหวังว่า ท่านจะเรียนไปเรื่อยๆ จนจบออกมาเป็นนายทหารเหมือนบิดา

แต่ก็ปรากฏว่าท่านต้องออกจากโรงเรียนประถมนายร้อยเพราะไม่ชอบอาชีพทหาร และเคยเขียนเล่าประวัติของท่านเอาไว้ว่า ท่านเป็นนักเรียนประถมโรงเรียนนายร้อย รุ่นเดียวกับ จอมพลถนอม กิตติขจร โดยมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายพลคนดังของประเทศไทยเป็นรุ่นพี่

เท่าที่หัวหน้าทีมซอกแซกเคยเห็นภาพถ่ายหมู่ของนักเรียนประถมของโรงเรียนนายร้อยรุ่นดังกล่าว จำได้ว่า ป.อินทรปาลิต หรือในชื่อจริง ปรีชา อินทรปาลิต ซึ่งยังเป็น ด.ช. หรือเด็กชาย ในขณะนั้น เป็น 1 ในจำนวนของเด็กชายนับร้อยคนที่อยู่ในภาพ โดยมี ด.ช.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยู่ในภาพดังกล่าวด้วย

ก็ถือเสียว่าเป็นข้อดีของพวกเรานักอ่านก็แล้วกัน เพราะถ้าท่านยังเรียนนายร้อยต่อไปจนจบ คงไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโตเพราะคงสู้ดวงของ จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ไม่ได้

ออกมาเป็นนักเขียนเช่นนี้ก็ถือว่ามีคุณประโยชน์ หรือทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติไม่แพ้ 2 จอมพลเหมือนกัน เพราะทำให้คนไทยหลายแสนอาจเป็นล้านคนเมื่อ 70 กว่าปีก่อนหันมาอ่านหนังสือและติดหนังสือที่ท่านเขียน ไม่ว่าจะเป็น “เสือดำ” “เสือใบ” “สามเกลอ” หรือ “ขุนพลแกละ” งอมแงมไปหมด

ทำให้เด็กไทยยุคโน้นอ่านหนังสือได้อย่างแตกฉาน เติบใหญ่ขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญของชาติ และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพนับพันนับหมื่นคนในช่วงเวลาต่อๆ มา

ที่เหนือกว่าเพื่อนนักเรียนประถมนายร้อยของท่านทั้ง 2 คน (จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม) ก็คือ ป.อินทรปาลิต มีแต่คนรักและไม่มีศัตรู เมื่อท่านจากโลกนี้ไปก็มีแต่คนสรรเสริญ ต่างกับเพื่อนร่วมรุ่นทั้ง 2 ของท่าน ที่มีทั้งคนรักคนชัง และดูเหมือนระยะหลังๆ จะออกไปทางชังมากกว่ารักขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม การเป็นนักเรียนนายร้อยของท่านก็มีส่วนในการชักนำท่านเข้าสู่วงการประพันธ์ และกลายเป็นนักประพันธ์ในที่สุด จากเรื่อง “นักเรียนนายร้อย” นวนิยายเรื่องที่สองของท่านที่ขายดิบขายดี จนทำให้ท่าน “แจ้งเกิด” ในทันทีที่เรื่องนี้ออกสู่ตลาด

หลังจากท่านลาออกจากโรงเรียนประถมนายร้อยแล้วก็ไปเรียนเทพศิรินทร์ และรับราชการเป็นเสมียนของหน่วยราชการหลายหน่วย ก่อนจะลาออกและไปเป็นนายท้าย เรือกลไฟ ขึ้นล่องระหว่าง กรุงเทพฯ–ปากน้ำโพ

ชีวิตระหว่างเป็นนายท้ายเรือกลไฟล่องแม่น้ำเจ้าพระยานี่เอง ทำให้ ป.อินทรปาลิตรู้จัก อำเภอโกรกพระ อำเภอหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์ และก็คงจะมีอะไรประทับใจอยู่ไม่น้อย

จึงได้สร้างตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในชุด “สามเกลอ” ให้เป็นเศรษฐีของอำเภอนี้ และเป็นญาติผู้ใหญ่ของสามเกลอ ในฐานะพี่ชายแท้ๆ ของ “เจ้าคุณประสิทธิ์” บิดาของ พล พัชราภรณ์

ได้แก่ “ลุงเชย” นั่นเองละครับ ตัวละครบ้านนอกขนานแท้ที่เข้ามาทำอะไรเปิ่นๆ ในเมืองหลวงหลายครั้งหลายหน จนทำให้คำว่า “เชย” กลายเป็นคำสแลง หมายความว่า ขี้เท่อ เปิ่น ล้าสมัย ตกรุ่น ฯลฯ มาจนถึงทุกวันนี้

ในฐานะชาวนครสวรรค์คนหนึ่ง แม้จะมิใช่เด็กโกรกพระ แต่ก็เคยไปเที่ยวบ่อยครั้ง และมีเพื่อนอยู่ที่อำเภอนี้หลายคน ต้องขอกราบขอบพระคุณบรมครู ป.อินทรปาลิต ที่กรุณาสร้างตัวละครดังจากอำเภอโกรกพระ แม้จะดังในทาง “เชยๆ” ก็เถอะ แต่ก็เป็นความเชยที่เป็นอมตะ ใช้พูดจากันมาไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี

เนื่องในโอกาสครบ 110 ปีชาตกาลของ ปรีชา อินทรปาลิต เวียนมาบรรจบในปีนี้ ทีมงานซอกแซกขอกราบขอบพระคุณท่านไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่เพียงแต่ท่านจะช่วยให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศเท่านั้น ท่านยังเป็นแรงบันดาลให้เด็กนครสวรรค์คนหนึ่งรักการอ่าน รักการเขียน จนมีโอกาสมาเป็น หัวหน้าทีมซอกแซก ของ ไทยรัฐ ในวันนี้ มีกินมีใช้ มีชื่อเสียงเล็กๆ น้อยๆ ตามสมควรแก่อัตภาพ

ขอใช้คำทันสมัยนะครับ…ว่าท่านคือ “ไอดอล” ของหัวหน้าทีมซอกแซก ทั้งตลอดมาตลอดไปและตลอดกาลนาน…ด้วยรัก, เคารพ และขอบพระคุณอย่างสูงยิ่งขอรับอาจารย์!

“ซูม”