คำสอน “เศรษฐกิจพอเพียง” ต้องกลับมาอยู่ในหัวใจคนไทย

จากทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยที่จะต้องเริ่มจากการ “พึ่งตนเอง” อย่างมาก ในช่วงต้นๆ ของการฟื้นฟู ด้วยเหตุผล ที่ว่า วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้ล้มและบาดเจ็บไปทั้งโลก ไม่มีใครที่จะเหลือเรี่ยวแรงไปช่วยคนอื่นๆ

นโยบาย “เที่ยว กิน ใช้ในประเทศ” และ “ผลิตเพื่อขายในประเทศ” จึงเป็นนโยบายหลักที่จะต้องเริ่มขึ้นก่อนทันที

ซึ่งในทางปฏิบัติ นักรบเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ก็ดูเหมือนจะเดินในแนวนี้อยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากการพูดถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และการสนับสนุน SMEs ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ

แต่ประเด็นหลักที่ทุกๆ ฝ่ายจะต้องทำใจก็คือ ไม่ว่าอย่างไรเสียตลาดในประเทศของเราก็ยังจะเป็นตลาดที่เล็กมาก หากเทียบกับตลาดโลกที่เราเคยพึ่งพาอาศัยในอดีต

ประชากรไทยล่าสุดของเรามีประมาณ 66 ล้านคนเศษ และถ้าคิดเสียว่าคนรวยที่เก็บเกี่ยว GDP ไปได้มากที่สุดอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีกลุ่มกำลังซื้อสูงอยู่ที่ 6.6 ล้านคนเศษเท่านั้น

ผู้คนจำนวนนี้อาจช่วยได้พอสมควรในการกระตุ้นเบื้องต้นหากออกกิน ออกใช้และออกเที่ยวภายในประเทศในเดือนนี้ เดือนหน้า เมื่อโควิดซาลงแล้วดังที่กล่าวไว้ในฉบับวานนี้

แต่จะให้เกิดการหมุนเวียน หรือทำให้ GDP เพิ่มขึ้นมากมายเหมือนที่เราเคยได้รับในยุคการท่องเที่ยวเฟื่องฟูย่อมเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวทั้งใน กทม. หรือต่างจังหวัด จะต้องยอมรับความจริง และจะต้องบริหารจัดการกับรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น อย่างช้าๆ นี้ด้วยความอดทน อดกลั้นและประหยัดรัดเข็มขัดสุดฤทธิ์

จะต้องนึกถึง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแนะนำสั่งสอนไว้ และ สภาพัฒน์ ได้ อัญเชิญมาเป็นนโยบายเศรษฐกิจหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินับตั้งแต่แผนฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) เป็นต้นมา

ผมขออนุญาตคัดลอก “คำจำกัดความ” ในส่วนสำคัญมาเพื่อเตือนใจทุกๆ ฝ่ายสัก 2-3 ประเด็นนะครับ

เริ่มจากนิยามของ เศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงกล่าวไว้ว่า “เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไป ในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์”

“ความพอเพียง” หมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการ กระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการในทุกขั้นตอน

ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐาน จิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญาและความรอบคอบ”

ครับ! ใจความข้างต้นนี้คือหัวใจหลักของเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราพระราชทานไว้ ซึ่งสามารถจะนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กร ทุกสถาบัน และทุกๆ ตัวบุคคล ดังได้กล่าวไว้แล้ว

ความพอประมาณและมีเหตุผล สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบ “พึ่งตัวเอง” ก็คือ มันจะไม่อู้ฟู่เหมือนช่วงที่เราพึ่งคนอื่น และคนอื่นๆ ทั่วโลกต่างมาเที่ยวมาลงทุนและซื้อของจากบ้านเรา จนดุลการค้าเกินดุล และดุลชำระเงินก็เกินดุลมหาศาล ทำให้เศรษฐกิจไทยวิ่งฉิวในอดีต

แต่ทุกอย่างจะค่อยเป็นค่อยไปและจะค่อยๆ ฟื้น ดังนั้นจึงต้องอดทน อดกลั้น อยู่อย่างประหยัดในทุกภาคส่วน

ที่สำคัญ พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ทั้ง 3 ฉบับผ่านสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว และก็น่าจะผ่านวุฒิสภาอย่างเรียบร้อยเช่นกัน

เมื่อถึงเวลาใช้เงินกู้มหาศาลก้อนนี้ จะต้องคำนึงถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเคร่งครัดที่สุด โดยไม่ขาดตกบกพร่องหรือ ย่อหย่อน…โดยเฉพาะในประเด็นซื่อสัตย์ สุจริต และสำนึกในคุณธรรม…ฝากไว้ด้วยนะครับ บิ๊กตู่ครับ.

“ซูม”