สายการบินแห่งความหลัง ด้วยรักและคิดถึง “แพนแอม”

ซอกแซกสัปดาห์ที่แล้ว เราคุยถึง “การบินไทย” สายการบินที่หัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสขึ้นโดยสารเป็นครั้งแรกของชีวิต จากสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ เพื่อไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2511 หรือ 52 ปีที่แล้ว

บังเกิดความประทับใจอย่างยิ่งจากบริการอันยอดเยี่ยมของพนักงานต้อนรับ ระหว่างเส้นทางถึงกรุงโตเกียวยังจำได้มาจนถึงวันนี้

นอกจากจะเล่าเรื่องการบินไทยแห่งความหลังแล้ว หัวหน้าทีมซอกแซกยังเล่าถึงรสนิยมของคนหนุ่มคนสาว ตลอดจนประชาชนทั่วไปในยุคโน้นที่นิยม “สะพายกระเป๋า” ของสายการบินต่างๆ ที่มีเครื่องบินมาลงในประเทศไทยและมีบริษัทตัวแทนจำหน่ายตั๋วอยู่ในเมืองไทยหลายต่อหลายบริษัท

ที่โด่งดังมากเป็นที่รู้จักอย่างดียิ่งของคนไทยก็ได้แก่ สายการบิน PanAm, TWA, BOAC, KLM, SAS, AIR FRANCE, Lufthansa ยักษ์ใหญ่จากอเมริกาและยุโรป ไปจนถึงยักษ์เล็กแห่งเอเชีย เช่น JAL, AIR INDIA, Garuda Indonesia, SINGAPORE AIR LINES ฯลฯ เป็นต้น

จากนั้นหัวหน้าทีมก็ทิ้งท้ายว่า กว่ากึ่งศตวรรษที่ผ่านไปอย่างว่องไวเหมือนโกหกนั้น สายการบินไหนยังอยู่? สายการบินไหนจากไปแล้วบ้าง? เราจะมาตรวจสอบกันในสัปดาห์นี้

ผลปรากฏว่า สายการบินสหรัฐฯ ที่มาบินบ้านเราตั้งแต่ยุคโน้น อันได้แก่ PanAm และ TWA ได้สิ้นอายุขัยเลิกกิจการโบกมืออำลาไปเรียบร้อยโรงเรียนอเมริกันทั้ง 2 สายการบิน

PanAm อันยิ่งใหญ่ล้มละลายเลิกกิจการเมื่อ 4 ธันวาคม 1991 หรือ พ.ศ.2534 ในขณะที่ TWA หรือที่มีชื่อเต็มว่า TRANS WORLD AIRLINES ก็ล้มละลายและตกเป็นของ American Airlines สายการบินท้องถิ่นที่โด่งดังมากสายหนึ่งของสหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ.2544

BOAC หรือ British Overseas Airways Corporation ยังอยู่คงกระพัน เพียงแต่เมื่อปี 1974 หรือ 2517 รัฐบาลอังกฤษจับไปรวมกับสายการบินแห่งชาติอีกสายที่บินเฉพาะในยุโรป อันได้แก่ BEA หรือ British European Airways เปลี่ยนชื่อใหม่ให้สั้นลงว่า British Airways หรือ BA ที่ยังบินอยู่ทุกวันนี้

ไปที่ KLM สายการบินของเนเธอร์แลนด์กันบ้าง ทุกวันนี้ยังบินอย่างสง่าผ่าเผย อาจมี ปัญหาอยู่บ้างแต่ก็ยังบินอยู่ภายใต้ชื่อยี่ห้อ KLM เช่นเดิม และเมื่อปี 2003 หรือ พ.ศ.2546 ได้เข้าควบรวมกิจการกับสายการบิน AIR FRANCE ของฝรั่งเศส ถือเป็นบริษัทเดียวกัน แต่ต่างคนต่างบินในชื่อเดิมของตนเอง

สำหรับ SAS ซึ่งเป็นสายการบินของ 3 ประเทศในสแกนดิเนเวีย อันได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดนยังคงบินอยู่ และยังใช้โลโก้ตัวเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

มาที่ Lufthansa ของเยอรมนี ซึ่งในอดีตมีอยู่ช่วงหนึ่งฮิตมากในบ้านเรา เพราะกระเป๋าสวยมาก หนุ่มสาวนิยมสะพายน้องๆ PanAm เลยทีเดียว

แต่พอเผลอไม่ได้ติดตามพักใหญ่ๆ เพิ่งมาเป็นข่าวล่าสุดอ่านแล้วก็ตกใจ Lufthansa ขาดทุนยับเยิน ยิ่งมาเจอโควิด-19 เข้า ดูเหมือนจะหนัก กว่าการบินไทยเสียอีก แต่ยังโชคดีที่รัฐบาล เยอรมนีมีมติให้ทุ่มเงิน 3.1 แสนล้านบาท เข้าไปอุ้มไว้ทำให้ Lufthansa ได้ต่อลมหายใจ ไม่ต้องเข้าสู่ศาลล้มละลายไปอย่างหวุดหวิด

ในส่วนของสายการบินเอเชีย ขอเอ่ยถึงเฉพาะ Japan Air Lines หรือ JAL ก็แล้วกัน เพราะเป็น 1 ในสายการบินเก่าแก่ กระเป๋าสะพายสวยที่คนไทยรู้จักอย่างดียิ่ง รุ่นๆ เดียวกับสายการบินยุโรปและอเมริกาที่เอ่ยมาแล้วข้างต้น

กิจการรุ่งเรืองมาจนถึง ค.ศ.2009 หรือ พ.ศ.2552 ก็ประสบภาวะขาดทุนถึงขั้นต้องเข้ากระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลาย แต่ในที่สุดก็กลับมายืนหยัดได้ใหม่ ดังเช่นทุกวันนี้ และเป็นตัวอย่างที่ดีของการพูดถึงสายการบินล้มละลายที่ฟื้นกลับมาใหม่ ที่คนไทยเราอยากเห็น สายการบินไทย ของเราเป็นเช่นนี้บ้าง

ข้อเท็จจริงจากปี ค.ศ.1968 หรือ พ.ศ.2511 ที่หัวหน้าทีมย้อนอดีตกลับไปข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของธุรกิจการบินอย่างชัดแจ้ง อันเป็นผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่ล้มหายตายจากไปหลายบริษัท และที่อยู่ได้ก็ต้องกัดฟันฮึดสู้อย่างทรหด

ที่หัวหน้าทีมซอกแซกอาลัยและคิดถึงมากที่สุดก็คือ สายการบิน PanAm หรือ PAN AMERICAN WORLD AIR WAYS ที่ล้มครืนไปเมื่อ 4 ธันวาคม ปี 1991 ดังกล่าว

เหตุที่อาลัยก็เพราะมีความหลังฝังใจเช่นกัน…นั่นก็คือหลังจากเรียนจบตามทุนที่ได้รับแล้ว หัวหน้าทีมซอกแซกได้ขอกลับบ้านทางยุโรปแทนที่จะเป็นเอเชียเหมือนขาไป เพื่อจะให้ได้ชื่อว่าเราบินรอบโลกมาแล้ว

รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จัดให้ และก็เป็นสายการบิน PanAm นี้เอง โดยต้องไปขึ้นที่สนามบินเคนเนดีมหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 20 กว่าๆ ของเดือน มกราคมปี 1970 หรือ พ.ศ.2513

หัวหน้าทีมไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่าเครื่องบินที่จะนำกลับบ้าน โดยจะไปลงพักเปลี่ยนเครื่องที่ลอนดอนประมาณ 2 ชั่วโมงนั้นคือ เครื่องบิน “จัมโบ้” โบอิ้ง 747 ที่เพิ่งออกสู่ตลาดการบินรุ่นแรก และสายการบิน PanAm เป็นสายการบินแรกที่ตัดสินใจซื้อ เพื่อที่จะนำมาบินจากนิวยอร์กสู่ลอนดอนเป็นประเดิม

ตอนเดินไปที่ประตูขึ้นเครื่องยังแปลกใจที่มีวงดุริยางค์มาบรรเลงส่งผู้โดยสารเสียงกระหึ่มไปหมด เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองการขึ้นบินของเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดของโลก ใน ค.ศ.นั้น

เมื่อหัวหน้าทีมขึ้นไปนั่งแล้วจึงได้ทราบว่า นี่คือการบินแบบรับผู้โดยสารเป็นเที่ยวที่ 2 ของโลกของโบอิ้ง 747 เพราะเที่ยวแรกหรือเที่ยวประเดิมเพิ่งจะบินไปเมื่อวานนี้เอง

ถึงได้เรียนว่าหัวหน้าทีมก็มีความหลังฝังใจอยู่กับ PanAm ไม่น้อย เพราะได้มีโอกาสสัมผัสกับเครื่องบินยักษ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่เอี่ยมของโลก ในยุค 1970 หรือ 2513 ด้วยตนเอง ถ้าไม่ใช่คนไทย “คนแรก” ที่ขึ้นจัมโบ้เจ็ตก็น่าจะเป็น “คนแรกๆ” นั่นแหละครับ

ไม่นึกไม่ฝันเลยครับ ว่าสายการบินที่ยิ่งใหญ่และลงทุนซื้อ “โบอิ้ง 747” มาบินเป็นสายแรก จะปิดฉากตัวเองไปอย่างเหลือเชื่อ เหลือไว้แค่เพียงความทรงจำเท่านั้นเอง.

“ซูม”