ไม่ได้มองโลก “แง่ร้าย” แค่อยากให้คิด “ล่วงหน้า”

ข้อเขียนของผมวันนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นข้างๆ บ้านผมครับ หลังจากไปยืนดู ยืนพินิจพิจารณาพร้อมถอนหายใจ 2-3 เฮือกแล้ว ผมก็ตั้งใจว่าจะต้องเขียนถึงเรื่องนี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้างไม่มากก็น้อย

เลยบ้านผมไปไม่เกิน 50 เมตร เป็นที่ตั้งของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งนอกจากจะเป็นอาคารที่ออกแบบไว้สำหรับเป็นห้องประชุมของสมาคมแล้ว ยังมีหลายๆ ส่วนที่ออกแบบเป็นห้องสมุด เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปค้นคว้าหาหนังสืออ่านได้ด้วย

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้เอง มีการยกโต๊ะขนาดใหญ่มาตั้งที่ริมฟุตปาทหน้าตึกสมาคม…ตามมาด้วยถุงยังชีพหลายร้อยถุงที่ขนมาด้วยรถบรรทุกขนาดกลาง และรถตำรวจนำ 1 คัน

ผมออกไปหน้าบ้านเพื่อจะเดินออกกำลังตามกิจวัตร จึงทราบว่าทางสมาคมห้องสมุดฯ ได้นำถุงยังชีพถุงใหญ่เพื่อมาแจกแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และก็คงประสานทางเขตเรียบร้อยแล้ว จึงมีทั้งรถตำรวจและรถตู้ของเขตบางกะปิมาจอดอย่างที่ผมเห็น

ผมเดินไปถามผู้ใจบุญซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นกรรมการสมาคมห้องสมุดฯ ทำให้ทราบว่าเป็นการบริจาคร่วมกันของหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย และได้เตรียมมาประมาณ 500 ถุง

ประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และหน้ากากอนามัย พร้อมด้วยเจลล้างมือ

พอเริ่มแจกก็เหมือนกับว่าถุงยังชีพเหล่านี้มีกลิ่นและส่งกลิ่นตลบอบอวลไปทั่ว ทำให้มีคนได้กลิ่น ทั้งเดิน ทั้งปั่นจักรยาน และขี่มอเตอร์ไซค์มาเพิ่มอีกหลายๆ สิบคัน ดีว่าตำรวจยังคุมระยะห่างไว้ได้

แม้ผมจะเคยเห็นภาพนี้ทางข่าวทีวีอยู่บ่อยๆ ในช่วงนี้ รวมทั้งเห็นจากหน้า 1 หนังสือพิมพ์หลายฉบับ แต่รสชาติที่เราได้รับจากจอทีวีหรือภาพหน้า 1 เทียบกับที่มายืนดูด้วยตาตนเอง เป็นคนละเรื่องเลยครับ

ได้เห็นแววตา เห็นสีหน้าของผู้มารับที่บ่งบอกว่า เขาเดือดร้อนจริง มีความทุกข์จริง และข้าวของในถุงใบนี้คงจะช่วยเขาได้เป็นอย่างมาก

ก็อดมิได้ที่จะขอบคุณผู้ใจบุญทั้งหลาย ทั้งสมาคมห้องสมุดที่ว่านี้ รวมถึงที่มีการแจกกันอยู่ทุกแห่งหนทั่วประเทศไทย

ดังที่ผมเคยเขียนกราบเรียนไว้แล้วว่า ตอนเรียนเศรษฐศาสตร์ปี 1 อาจารย์ท่านสอนเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลกปี 1930 ว่าผู้คนเดือดร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมที่โรงงานอุตสาหกรรมเจ๊งไปหมดนั้น คนงานที่ตกงานเดือดร้อนมาก ไม่มีเงินแม้แต่จะซื้ออาหาร

มีภาพถ่ายประกอบตำราอยู่ภาพหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกามีคนมาเข้าแถวยาวเหยียดหน้าร้านกาแฟ ที่ขึ้นป้ายว่า แจกฟรี “ซุป-โดนัท-และกาแฟ” เพื่อจะรอรับแจกอาหารเหล่านั้นไปประทังชีวิต

แม้กล้องยุคเก่าจะคุณภาพไม่ดีนัก แต่ก็สามารถเก็บภาพและความรู้สึกอันเศร้าสลดจากสีหน้าและแววตาอันหิวโหยไว้ได้อย่างชัดเจน

ทุกวันนี้ภาพที่เกิดขึ้นในบ้านเราจะยังไม่ถึงขนาดนั้น เพราะสีหน้าสีตา แม้จะหมองๆ อยู่ แต่ยังไม่เศร้าเท่ากับที่ผมเห็นในภาพฝรั่ง

แต่ก็เดาไม่ถูกว่าอีกเดือน 2 เดือนข้างหน้า เมื่อผลกระทบรุนแรงกว่านี้ และถึงแม้รัฐจะเริ่มคลายการล็อกดาวน์และเริ่มเปิดธุรกิจกลับมาแล้ว ทว่าการค้าการขายจะเหมือนเดิมหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ

ถ้าไม่เหมือนเดิมจำนวนคนเดือดร้อนก็อาจจะมากขึ้น และภาวะความเดือดร้อนอาจจะรุนแรงขึ้น เพราะเงินเยียวยาอะไรต่างๆ ที่รัฐจ่ายให้อาจจะหมดลงแล้ว

เราอาจจะต้องเตรียมร้านแจกซุปฟรี โดนัทฟรี หรือกาแฟฟรี ชนิดรับประทานแก้หิวได้ทันทีแบบของฝรั่งไว้บ้างนะครับ เพียงแต่เปลี่ยนให้เป็นไทยๆ โดยแจกอาหารไทย จะเป็นข้าวห่อ ข้าวกล่อง หรือเป็นจาน (ข้าวราดแกง) ก็แล้วแต่เถอะ ในรูปแบบที่คนโบราณของเราเรียกว่า “โรงทาน” ซึ่งมักจะมีอยู่ตาม 4 มุมเมืองในสมัยก่อนไว้รองรับ

ผมอาจจะมองสุดโต่งไปบ้าง และเชื่อมั่นว่าสถานการณ์คงไม่รุนแรงถึงขนาดนั้นหรอก แต่คิดไว้ล่วงหน้าก็ดีเหมือนกัน… เดี๋ยวเกิดขึ้นมาจริงๆ แล้วจะทำไม่ทันซะเปล่าๆ…และก็อย่างที่เราทราบ คนหิวมักโมโหร้ายนะครับ “ลุงตู่” เดี๋ยวจะว่า “ปู่ซูม” ไม่เตือน.

“ซูม”