แสงสว่างปลายอุโมงค์? วันแห่งความหวังเล็กๆ ทั่วโลก

ข้อมูลตัวเลขที่ผมใช้เขียนประกอบคอลัมน์วันนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขของเที่ยงๆ วันที่ 6 เมษายน คงจะล้าสมัยไปแล้วละกว่าต้นฉบับจะได้ลงตีพิมพ์ในวันพุธที่ 8 เมษายน

ตัวเลขที่คุณหมอ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ท่านแถลงไว้เมื่อเที่ยงวันจันทร์นั่นแหละครับ

คุณหมอบอกว่า สถานการณ์ในประเทศไทย ณ วันที่ 6 เมษายน ดังกล่าวนั้น มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้น 51 ราย รวมเป็นยอดยืนยันสะสม 2,220 ราย กลับบ้านได้เพิ่มขึ้น 119 ราย รวมกลับบ้านแล้ว 793 ราย

ผมยอมรับว่าผมเผลอตัวชูมือขึ้นพร้อมกับส่งเสียงร้องด้วยความดีใจที่ได้ยินตัวเลข 51 ราย ดังลั่นหน้าจอโทรทัศน์

ก่อนที่จะลดเสียงลงไปจนเกือบเป็นปกติ เมื่อคุณหมอกล่าวต่อว่า โปรดอย่าเพิ่งดีใจหรือสบายใจ เพราะเรายังมีผู้ป่วยที่รอการสอบสวนว่าติดเชื้อหรือไม่อีกจำนวนหนึ่ง อันจะเป็นผลให้ตัวเลขเปลี่ยนแปลงไปอีกก็ได้ในวันต่อๆ ไป

แม้จะเข้าใจในคำอธิบายเพิ่มเติมของคุณหมออย่างดียิ่ง แต่ก็ต้องขออนุญาตดีใจไว้ก่อนก็แล้วกันครับ เพราะเราเจอตัวเลข 100 กว่าๆ มาหลายวัน นานๆ ลงไป 80 กว่าทีนึง แล้วก็กลับมา 100 กว่าๆ ใหม่

เมื่อลงไปถึง 51 ราย หรือเพียงครึ่งร้อยเท่านั้นเช่นนี้ ยังไงๆ ก็ต้องดีใจเอาไว้ก่อนละครับ พร้อมกับภาวนาขอให้อยู่ในอัตราประมาณนี้ตลอดไป และกลับไปเหลือศูนย์ หรือใกล้ศูนย์ในที่สุด

ผมถึงได้ปรารภเอาไว้ในตอนต้นว่า ตัวเลข 51 รายที่ผมเอ่ยถึงข้างต้นอาจจะล้าสมัยไปแล้วก็ได้ หากอีก 2 วันต่อมาคือ เมื่อวานนี้ หรือ วันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อใหม่กลับมาเกิน 100 อีกหน

เหตุเพราะแม้จะมีมาตรการแรงๆ ออกมาพอสมควร แต่คนไทยเราก็ยังฝ่าฝืนบ้าง ขัดขืนบ้าง ทำได้ไม่เต็มร้อย มีข้อโต้แย้ง มีข้อไม่เห็นด้วย พร้อมกับลงมือปฏิบัติเป็นเชิงสวนทางออกมาเป็นข่าวอยู่ตลอดเวลา

ทำให้ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไรนักว่าเราจะสามารถกดหรือคุมตัวเลขตํ่ากว่าร้อยได้นานแค่ไหน

คงต้องฝากไว้กับพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่พร้อมใจกันปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ จนส่งผลให้ตัวเลขของเราอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาตลอด แม้บางวันจะพุ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่สูงเกินไป และก็มีบางวันลดตํ่าลงจนผมเผลอตัวอุทานออกมาด้วยความดีใจอย่างที่ว่า

ขอให้ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติตามรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดนะครับ

กล่าวไปแล้ว วันจันทร์ที่ 6 เมษายน สถานการณ์โควิด-19 ดูเหมือนจะดูดีขึ้นเมื่อมองจากภาพใหญ่ของโลก

โดยเฉพาะตัวเลขติดเชื้อรวมทั้งโลกถึงแม้ว่ายังสูงถึง 67,255 ราย ในวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่น้อยกว่าทุกๆ วันย้อนไป 3-4 วันก่อนหน้านี้ ที่เคยทะลุวันละ 80,000 ราย ถึง 3 หรือ 4 วันด้วยกัน

ของสหรัฐอเมริกาแม้ตัวเลขรวมจะปาเข้าไป 334,232 คน เป็นอันดับ 1 ของโลก มากกว่าสเปนแล้วเกือบๆ 3 เท่า แต่ของสหรัฐฯ ก็มีผู้ติดใหม่ในจำนวนน้อยลงต่อวัน คือจากวันละ 30,000 กว่าๆ ในช่วงหลังเหลือ 22,875 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว

รัฐนิวยอร์ก และมหานครนิวยอร์กก็ลดลงจนนักข่าวดีใจ ถามท่านผู้ว่าการรัฐ คุณ แอนดรูว์ คูโม ว่ารู้สึกอย่างไรกับตัวเลขนี้ ซึ่งท่าน

ก็ตอบเหมือนคุณหมอทวีศิลป์ โฆษก ศบค.ของเราว่า ตัวเลขยังไม่นิ่ง อย่าไว้วางใจ อย่าไปเผลอดีใจ เรายังต้องทำงานหนักอีกมาก

ประเทศอื่นๆ อย่าง สเปน ซึ่งกลายเป็นประเทศติดเชื้ออันดับ 2 เสียชีวิตอันดับ 2 หรือ อิตาลี ติดเชื้ออันดับ 3 แต่ยอดเสียชีวิตยังเป็นอันดับ 1 อยู่ รวมถึง เยอรมัน ติดเชื้ออันดับ 4 แต่เสียชีวิตอันดับ 9 ก็ดูเหมือนจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง

ทำให้ภาพรวมๆ ของโลก (และของไทยเราด้วย) ดูดีขึ้น มีความหวังมากขึ้น เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ผมก็ได้แต่ภาวนาขอให้ข้อมูลและทิศทาง ตลอดจนแนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้ จงเกิดขึ้นติดต่อมาจนถึงวันนี้และวันต่อไปด้วยเถิด

ขอให้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แสงเล็กๆ นี้ จงค่อยๆ สว่างโชนขึ้นจนเป็นแสงสว่างแห่งความหวัง นำพาทุกประเทศทั่วโลกนี้หลุดพ้นจากมหาภัยโควิด-19 ในเวลาไม่นานเกินรอด้วยเถอะครับ.

“ซูม”