ไปชาร์จแบตที่เชียงราย กลับมาสู้ปัญหาเศรษฐกิจต่อ

ผมแว่บไปจังหวัดเชียงรายมาครับ––ไปเดินรับลมหนาวที่งาน “เทศกาลบอลลูนนานาชาติ 2020” ที่สิงห์ปาร์คเชียงราย มา 2 คืน พร้อมกับถือโอกาสตระเวนโน่นตระเวนนี่อีก 2 วัน เก็บเรื่องราวเก็บข้อมูลเก็บรายละเอียดมาฝากแฟนๆ คอลัมน์ “ซอกแซกวันอาทิตย์” ได้หลายสัปดาห์ (โดยไม่ซ้ำกับปีที่แล้ว)

โปรดอย่าลืมติดตามอ่านกันด้วยนะครับ ตั้งแต่ฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป

สำหรับวันนี้ขออนุญาตรายงานบรรยากาศทั่วๆ ไปของจังหวัดเชียงราย และงาน เทศกาลบอลลูนนานาชาติ 2020 หรือ 2563 ที่บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 กันเสียก่อนว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

ในแง่ภาพรวมโดยทั่วไป จังหวัดเชียงรายก็คล้ายๆ กับจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบมาจาก สงครามการค้าเมื่อปีที่แล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวหลักคือ “ทัวร์จีน” ลดลงไปเยอะ

พอมาเจอโรคไวรัสโควิด-19 ซํ้าเข้าให้อีก ก็เลยยิ่งเหงาลงไปใหญ่ ตามแหล่งท่องเที่ยวดังๆ เหลือทัวร์จีนอยู่แค่หยิบมือเดียว

แต่ถ้าจะว่าไปก็ไม่ถึงกับหงอยเหงาเสียทีเดียวนัก เข้าใจว่างาน “เทศกาลบอลลูน นานาชาติ” ที่จัดขึ้นระหว่าง 12-16 กุมภาพันธ์นี่แหละ ที่มีส่วนดึงคนไทยจากจังหวัดอื่นๆ ให้ไปเที่ยวเชียงรายกันมาก

ส่งผลให้ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ยังพอมีคนเดิน ส่วนใหญ่ก็เป็นพี่น้องชาวไทยของเรา จากทั่วประเทศ ผมได้ยินเสียง “แหลงใต้” บ้าง เสียงเว้าอีสานบ้าง และมากที่สุดน่าจะเป็นเสียงกรุงเทพฯ นี่แหละครับ

ส่วนที่ สิงห์ปาร์ค ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลบอลลูนนั้นขออนุญาตใช้คำว่า “วิกแตก” หรือแน่นขนัดก็แล้วกัน เพราะมีผู้คนแห่กันไปเที่ยวจนรถติดขัดยาวเหยียดมากกว่าปีที่แล้วเสียอีก

หน้าเวทีคอนเสิร์ตซึ่งเป็นลานกว้าง ผมได้ยินพิธีกรหยอกล้อกับนักร้องว่าคุณทราบไหมว่าข้างหน้าคุณนี้มีคนฟังคุณอยู่เท่าไร? และเมื่อนักร้องถามกลับว่า “เท่าไรครับพี่?”

โฆษกก็ตอบทันทีว่า 6 หมื่นคนครับ 6 หมื่นคนแน่นอน และถ้ารวมคนที่ดูบอลลูนอยู่ข้างนอกด้วยน่าจะเป็นแสนด้วยซ้ำ

ผมประเมินด้วยสายตาเห็นด้วยกับโฆษก ถ้าไม่ถึงแสนก็น่าจะเฉียด เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนเห็นแต่ผู้คนแน่นเอี้ยดไปหมด

นอกจากนี้ผมยังมีเครื่องวัดพิเศษที่ผมใช้ประมาณจำนวนผู้คนอีกอย่างหนึ่งคือ สังเกตจาก “ห้องน้ำหญิง” ว่าคิวยาวหรือไม่ยาวแค่ไหน

ปีนี้แม้สิงห์จะเพิ่มห้องน้ำหญิงให้เป็นพิเศษหลายต่อหลายห้อง แต่กระนั้นหางแถวก็ยังยาวเหยียดและอาจยาวกว่าปีที่แล้วเสียอีก

หากใช้ “ดัชนี” การเข้าคิวสู่ห้องนํ้าหญิงเป็นตัววัด ผมฟันธงว่าปีนี้คนมากกว่าปีกลายแน่นอน เพราะคิวยาวเหยียดกว่าปีกลายเยอะเลย

อีกดัชนีหนึ่งที่ผมใช้วัดก็คือ ดัชนีลานเล่นสนุกๆ สำหรับเด็กๆ ครับ เพราะปีนี้เขาจัดของเล่นมารองรับเด็กๆ มากกว่าปีที่แล้ว และพ่อแม่ชาวเชียงรายก็จูงลูกๆ หลานๆ ไปดูบอลลูนกันมาก และก็อยู่กันดึกพอสมควรทีเดียว เพราะการแสดงแสงสีเสียงของบอลลูนที่เด็กๆชอบมาก จะมาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง

ก็ดีใจด้วยครับที่งานเทศกาลบอลลูน ไม่ใช่เป็นงานของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เป็นงานของเด็กๆ ด้วย จากจำนวนประชากรเด็กที่ผมเห็นปีนี้

โดยภาวะเศรษฐกิจอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์เขาแถลงกันไว้หลายสำนัก ผมเดาว่าคนจะไปเที่ยวงานบอลลูนน้อยลง แต่เมื่อไปกันมาก อย่างพลิกล็อกเช่นนี้ ผมเลยเดาผิดถนัด

นอกจากคนเยอะแล้ว เท่าที่ดูสีหน้าสีตาและการแสดงออกของพี่น้องที่ไปเที่ยว ก็รู้สึกว่าทุกๆ คนจะสนุกกันอย่างเต็มที่ มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ไปทั่วบริเวณงาน

ทำให้ผมซึ่งเครียดไปจากกรุงเทพฯ เพราะอยู่กับข่าวร้ายๆ มาหลายวันพลอยมีความสุขไปด้วย

หวังว่าความสุขที่ผมตุนกลับมาจากเชียงรายงวดนี้ คงจะทำให้มีขวัญมีกำลังใจพอที่จะฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ ที่รออยู่ข้างหน้าได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

ไม่ใช่อะไรหรอกครับ พอกลับถึงกรุงเทพฯ ปุ๊บ เขียนคอลัมน์วันนี้ ยังไม่ทันจบเลย ทาง สภาพัฒน์ เขาก็แถลงว่า เศรษฐกิจปี 2563 เห็นที่จะฟื้นยาก คาดว่าจะโตระหว่าง 1.5-2.5% เท่านั้น ชะลอตัวกว่าปีกลาย

ถึงได้บอกว่า ผมโชคดีที่ได้ไปตักตวงความสุขเล็กๆ น้อยๆ มาจากเชียงราย ทำให้ยังพอมีกำลังใจอยู่บ้าง–สภาพัฒน์เขาพยากรณ์แม่นมาตลอดจะไม่ให้เชื่อเขาได้ยังไงล่ะครับ!

“ซูม”