เมืองเด็ก “KidZania” เมืองยอดฮิตของเด็กๆ วันนี้

เมื่อหลังปีใหม่มาได้สักหน่อยหนึ่ง หัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสตามหลานไปเล่นสนุกที่สวนสนุก ซึ่งให้ทั้งการเรียนรู้และการเล่นสนุกมากๆ แก่เด็กๆ ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอนนี่เอง

ไม่รู้มาก่อนเลยว่า ที่สยามพารากอนจะมีสวนสนุกแห่งนี้ซ่อนอยู่ อยู่ชั้นเดียวกับสยามพารากอนฮอลล์ ที่ใช้แสดงคอนเสิร์ต หรือจัดงานแสดงสินค้าใหญ่ๆ นั่นเลย แต่จะอยู่ทางด้านหลังต้องไปขึ้นอีกฟากหนึ่ง ซึ่งมีลิฟต์เป็นการเฉพาะ

ถ้าไม่ใช่คนหลงหลาน และตามหลานไปที่นี่ก็คงไม่ได้เรื่องนี้มาเขียนซอกแซกสัปดาห์นี้หรอกครับ

ชื่อเต็มๆ ของสวนสนุกแห่งนี้ คือ คิดซาเนีย (KidZania) ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมาก จะเก็บไว้เขียนในช่วงท้ายๆของข้อเขียนวันนี้

แต่จะขอสาธยายให้เห็นภาพเสียก่อน ว่าลักษณะกว้างๆ ของสวนสนุกแห่งนี้เป็นอย่างไร และทำไมเด็กๆ จึงชอบกันมาก

เมื่อเดินผ่านประตูเข้าไปแล้วจะพบว่าที่นี่คือเมืองย่อส่วนที่สร้างขึ้นมาสำหรับเด็ก โดยเฉพาะ จำลองสถานที่สำคัญต่างๆของเมืองมาไว้รวมกัน อาทิ ท่าอากาศยานพร้อมอากาศยาน (เครื่องบิน), ธนาคาร, โรงพยาบาล, โรงละคร, ร้านค้า และ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

วิธีเล่นสนุกของที่นี่ก็คือ ให้เด็กๆ ไปสมมติตัวเป็นบุคคลในอาชีพทั้งหลายแหล่ในเมืองจำลองแห่งนี้ ซึ่งมีถึงประมาณ 80 อาชีพ เมื่อเด็กๆ เข้าไปทำงานหรือฝึกงานในอาชีพนั้นๆ แล้วก็จะได้เงินเป็นค่าตอบแทน เรียกว่า “คิดส์โซ” สามารถนำเงินไปซื้อโน่นซื้อนี่ในสวนสนุกได้ทั้งหมด

เขากำหนดไว้ว่า สำหรับเด็กๆ อายุตํ่ากว่า 8 ขวบ จะต้องมีผู้ปกครอง (ตีตั๋ว) เข้าไปด้วย แต่จะไม่ให้เข้าไปใน “ฐาน” หรือสถานที่ที่เด็กๆ กำลังเล่นเป็นบุคคลอาชีพต่างๆ เด็ดขาด เพียงแต่ให้ตามไปดูอยู่ข้างนอกเท่านั้น

แต่ละฐานฝึกอาชีพเขาจะมีพี่เลี้ยงคอยอธิบาย คอยแนะนำทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาไทยคู่กัน (เนื่องจากมีลูกๆ ของชาวต่างประเทศเข้ามาเล่นครั้งละมากๆ)

ดังที่เรียนแล้วว่าที่นี่มีอาชีพต่างๆ ถึง 80 กว่าอาชีพ ที่ฮิตๆ ก็มี นักบิน, แอร์โฮสเตส, ตำรวจ, นักดับเพลิง, หมอ, พยาบาล, พนักงานโรงงานทำขนมต่างๆ, นักแสดงละคร, นักมายากล, นักข่าว, พิธีกร, ผู้ประกาศ หรือแม้แต่จะเป็นพนักงาน เซเว่น-อีเลฟเว่น เขาก็มีให้เล่นด้วย

นอกจากให้เด็กได้ฝึกอาชีพแล้ว ก็ยังทำให้สวนสนุกได้สปอนเซอร์ด้วย เพราะอาชีพส่วนใหญ่ก็มีร้านค้าจริง ผลิตสินค้าขายจริงๆ อยู่แล้ว ยกตัวอย่างนักบิน และแอร์โฮสเตส เขาก็ยกเครื่องบินจำลองของสายการบิน แอร์-เอเชีย มาเลย

ที่น่าทึ่งก็คือ แม้จะเก็บค่าผ่านประตูค่อนข้างแพง เด็กอายุ 2-3 ขวบ ราคาหัวละ 490 บาท อายุ 4-14 ปี ราคา 780 บาท และ 15 ปี 460 บาท ในวันธรรมดา แถมเพิ่มขึ้นอีกหลายเปอร์เซ็นต์ ในวันเสาร์ อาทิตย์ ผู้คนก็ยังแน่นเอี้ยด โดยเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ เด็กแน่นมากจนต้องเข้าคิวกันเลย

ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ KidZania กรุงเทพฯ สามารถยืนหยัดอยู่ได้ และอยู่ยั้งยืนยงมากว่า 6 ปี จะย่างเข้าสู่ปีที่ 7 แล้วในปีนี้ อย่างเหลือเชื่อ

เจ้าของความคิดในการก่อตั้ง คิดซาเนีย แห่งแรกของโลก ได้แก่ ซาเวีย โลเปซ อันคอนา ชาวเม็กซิกัน ซึ่งมีอาชีพเป็นนักแสดง แต่มีความคิด และความฝันที่จะสร้างเมืองเล็กๆ สำหรับเด็กๆ ขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง

อันคอนาไปขอเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่ย่านซานตาเฟ่ ในกรุงเม็กซิโก ซิตี้ และหาสปอนเซอร์มาเป็นผู้สนับสนุนโครงการของเขาได้ถึง 55 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงแรกของการเริ่มต้น เมื่อเดือนกันยายนปี 1999

ผลปรากฏว่ากิจการของเขาไปได้ดีและโดนใจเด็กๆ และพ่อแม่ชาวเม็กซิกันอย่างมาก

เดือนพฤษภาคมปี 2006 หรืออีก 7 ปีให้หลัง เขาตัดสินใจสร้าง คิดซาเนีย แห่งที่ 2 ขึ้นที่เมือง มอนเตอร์เรย์ ทางตอนเหนือของแดนจังโก้

ต่อมาในเดือนตุลาคมของปีเดียวกันนั้นเอง (2006) เขาก็ขายลิขสิทธิ์ให้บริษัทในญี่ปุ่นไปเปิด คิดซาเนีย แห่งที่ 3 ที่ โตเกียว

ปีถัดมา (2007) นักธุรกิจอินโดนีเซีย มาซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดที่ จาการ์ตา พอปี 2009 ก็มีแห่งที่ 2 เพิ่มขึ้นที่ญี่ปุ่นอีกแห่ง ที่เมือง โคเชียน หรือ นิชิโมมิยะ

จากนั้นก็ไปเปิดที่ ลิสบอน โปรตุเกส (2009), ดูไบ (2010), โซล (2010), กัวลาลัมเปอร์ (2012), ซันติอาโก ชิลี (2013), คิวซุลโก เม็กซิโก (2012) และกรุงเทพฯ (มีนาคม 2013) นับเป็นสาขาที่ 12 หรือ 1 โหลพอดิบพอดี

ซาเวีย โลเปซ อันคอนา ซึ่งปัจจุบันเป็นซีอีโอหมายเลข 1 เต็มตัว ยังลุยไม่หยุด ตั้งแต่ 2013 เรื่อยมาถึงปี 2019 หรือปีที่แล้ว มีทั้งนักลงทุนท้องถิ่นมาซื้อแฟรนไชส์ และบริษัทของเขาสร้างเองเกิดขึ้นอีกถึง 18 แห่ง มีทั้งที่ ลอนดอน, เซาเปาโล, มอสโก และ โตรอนโต

ในปี 2020 หรือปีนี้ กำลังก่อสร้างและจะเปิดอีกหลายแห่งในหลายประเทศเช่น ปารีส, ชิคาโก, ดัลลัส, นิวยอร์ก, นิวเจอร์ซีย์ และ แอลเอ เรียกว่าลุยเข้าอเมริกากันเลย ซึ่งจะทำให้มี คิดซาเนีย ทั่วโลกถึง 36 แห่งเข้าไปแล้ว

พ่อแม่ผู้ปกครองท่านใดจะสนใจพาเด็กๆ ไปทดลองเล่นก็เชิญนะครับ สยามพารากอนแค่นี้เอง หัวหน้าทีมซอกแซกไปมา 2 หน เห็นเด็กๆ สนุกกันมาก ก็อดที่จะนำมาเผยแพร่ต่อเสียมิได้

แถมเป็นความสนุกแบบได้เรียนรู้ในอาชีพ ต่างๆ ไปด้วย ยังเสียดายที่เก็บค่าผ่านประตูแพงไปนิด เด็กไทยที่พ่อแม่มีรายได้ปานกลางประเภทมนุษย์เงินเดือนคงพาลูกไปทดลองเล่นได้ยาก

ทำให้นึกถึงบริษัทใหญ่ๆ รวยๆ ในบ้านเราที่มีมากมายหลายบริษัท จะช่วยเป็นสปอนเซอร์ให้เด็กๆ ยากจนในต่างจังหวัด หรือแม้แต่ในเขตชุมชนต่างๆ ใน กทม.เอง ได้มีโอกาสไปเล่นสนุกที่นี่บ้างจะได้ไหม?

เผื่อจะลดช่องว่างของการเล่นสนุกอย่างมีสาระ ระหว่างเด็กรวยกับเด็กจนของบ้านเราได้บ้าง…ขอฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยละกัน.

“ซูม”