ฆาตกรติด “โซเชียล” อีกบทเรียนกรณีโคราช

เมื่อวานนี้ผมเสนอไว้ว่า ในจำนวนบทเรียนหลายๆ บทที่เราควรถอดแล้วสรุปอย่างละเอียดสำหรับเหตุการณ์สลดใจที่โคราชเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตข้างหน้านั้น มีบทเรียนเกี่ยวกับ “สื่อสังคมออนไลน์” หรือ “โซเชียลมีเดีย” รวมอยู่ด้วย

เหตุที่ผมเสนอให้ถอดบทเรียนในเรื่องนี้ก็เพราะผู้ก่อเหตุได้โพสต์ข้อความและรูปภาพ รวมทั้งการเซลฟี่ หรือถ่ายภาพตัวเองหลายๆ ข้อความ และหลายๆ ภาพผ่านเฟซบุ๊ก ขณะก่อเหตุก่อนที่บัญชีจะถูกปิดไป

เหตุที่ผมเสนอให้ถอดบทเรียนเรื่องโซเชียลมีเดียด้วยก็เพราะเจ้าฆาตกรอำมหิตดูพึงใจภาคภูมิใจและมีความสุขในการกระทำที่เลวร้ายของตัวเองจากคำบรรยายและรูปถ่ายต่างๆ ที่โพสต์ไว้

ดูคล้ายๆ กับว่าฆาตกรจะเป็นคนที่ติดโซเชียลมีเดียอย่างหนัก และหนักจนถึงขั้นมีอาการบางอย่างที่เป็นผลมาจากโรคติดโซเชียลมีเดียที่ว่านี้

พญ.กานต์ชนิด ผลประไพ จิตแพทย์ของโรงพยาบาลพระรามเก้า เขียนบทความไว้ตอนหนึ่งว่า “การติดโซเชียลมีเดีย” อาจก่อให้เกิดภาวะของโรคซึมเศร้า โรคเครียด โรควิตกกังวล สมาธิสั้น และ ไบโพลาร์ ได้

สำหรับคำว่า ไบโพลาร์ นั้น เมื่อไปเปิดพจนานุกรมอ่าน คำว่า Bipolar Disorder ก็จะพบกับคำจำกัดความดังต่อไปนี้

ตามมาด้วย “โรคอารมณ์ 2 ขั้ว” เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ โดยมีอารมณ์ดีมากจนผิดปกติ หรืออยู่ในภาวะอารมณ์ดีตื่นตัวผิดปกติ (Mania) สลับกับมีภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก (Depression) ทำให้เกิดความยากลำบากต่อการทำงาน การเข้าสังคมและการใช้ชีวิต

กรณีของ “จ่าคลั่ง” รายนี้อาจจะเป็นขั้วที่สาม คือตื่นตัวอย่างผิดปกติข้ามขั้นซึมเศร้า ไปเป็นขั้นใจทมิฬ หินชาติ เห็นการฆ่าคนเป็นเรื่องสนุกจนถึงกับโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กและเซลฟี่ตัวเองอย่างภาคภูมิใจ

ผมก็สันนิษฐานของผมไปแบบไม่มีความรู้อะไรมาก อ่านเจอว่าจิตแพทย์ท่านเขียนไว้ว่าคนติดโซเชียลมากๆ จะเป็นโรคไบโพลาร์หรือโรค 2 ขั้วได้ ผมก็คิดไกลไปถึงขั้วที่ 3 คือความโหดร้ายทารุณสุดๆ

เป็นข้อคิดที่ไม่มีข้อมูลทางวิชาการใดๆ มายืนยัน จึงต้องฝากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้โปรดไปช่วยคิดต่อให้ด้วย

แต่คำเตือนว่าการติดโซเชียลมีเดียจะมีผลลบหรือผลเสียในการดำเนินชีวิตและอาจนำไปสู่โรคทางจิตต่างๆ หลายโรคที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นไม่ใช่คำเตือนที่แปลกใหม่แต่ประการใด

คุณหมอกานต์ชนิดผู้เขียนบทความที่ผมอ้างถึง ท่านก็เตือนไว้แล้วว่าคนไทยเราควรจะใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติและให้สังเกตตัวเอง

ถ้ามีอาการอยากจะดูบ่อยๆ ไม่ดูแล้วรู้สึกหงุดหงิด มีอาการกระวนกระวายเหมือนคนติดบุหรี่แล้วไม่ได้สูบบุหรี่ แสดงว่าเราเริ่มติดสื่อสังคมออนไลน์เข้าให้แล้ว

ต้องหาทางผ่อนคลาย ผ่อนปรน และลดการติดลงไปบ้าง

จริงๆ แล้วโซเชียลมีเดียก็มีประโยชน์ไม่น้อย ยกตัวอย่างในเหตุการณ์ที่โคราชครั้งนี้ ก็ได้อาศัยโซเชียลมีเดียเป็น 1 ในข้อมูลของการค้นหาตัวจ่าโหด โดยทางกองปราบฯ ได้เปิดเพจ แล้วขอให้ผู้ที่ติดอยู่ในห้างสรรพสินค้าแจ้งเบาะแสต่างๆ ไปที่เพจของกองปราบฯ

ขณะเดียวกันผู้ที่ติดอยู่ในห้างและเก็บตัวตามห้องต่างๆ เท่าที่มีการเปิดเผยภายหลัง ต่างก็ถือมือถือและกำลังดูมือถือหรือส่งข้อความอะไรบางอย่างผ่านมือถืออยู่ตลอดเวลาจากภาพถ่ายที่เราเห็นในภายหลัง

ถ้าไม่มีมือถือ ไม่มีไลน์ ไม่มีเฟซบุ๊ก ไม่มีทวิตเตอร์ การติดต่อการคุยกับญาติมิตรในยามคับขันเช่นนี้ก็จะไม่สามารถกระทำได้

ผมถึงได้บอกว่าสื่อสังคมออนไลน์ก็มีประโยชน์ด้วยเช่นกัน และเป็นประโยชน์ที่มหาศาลด้วยในหลายๆ เรื่อง

แต่เมื่อโซเชียลมีเดียเป็นทั้งของดีและอาจนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงได้เช่นนี้ ในระหว่างที่รอการถอดบทเรียนอย่างละเอียดและเป็นวิชาการโดยนักวิชาการหรือจิตแพทย์ต่างๆ อยู่นี้ก็ขอให้เราจงใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติอย่างพอสมควรอย่างใคร่ครวญไปพลางๆ ก่อนก็แล้วกัน

อย่าติดมันจนเกิดสารพัดโรคที่คุณหมอจิตแพทย์เป็นห่วงก็แล้วกันครับ

ติดแล้วเป็นแค่ซึมเศร้าแม้จะไม่สมควรแต่ก็ดีกว่าเพราะถ้าจะทำลายอะไรบ้างก็มักจะทำลายชีวิตของเขาคนเดียวคนอื่นๆ ไม่เดือดร้อน

แต่ถ้าเป็นโรคอย่างที่ “จ่าคลั่ง” โคราชเป็นสังคมเดือดร้อนมาก… เสียหายรุนแรงมากทั้งชีวิตจิตใจและทรัพย์สินสุดที่จะประมาณได้

ต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีกนะครับในประเทศไทยของเรา.

“ซูม”