ฟุตบอลประเพณี 74 ขอบคุณที่ช่วยกันรักษาไว้

พรุ่งนี้ (วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์) ในช่วงบ่ายๆ จะมีงานซึ่งเคยยิ่งใหญ่มากของประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะเล็กลงไปเยอะ แต่ก็ยังเป็นงานที่มีความหมายและน่าจะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ติดตามงานนี้ทั่วประเทศ

ได้แก่งาน “ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74” ณ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่บ่าย 14.00 น. เป็นต้นไปนั่นแหละครับ

ผมเติบโตมาในยุคที่ ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ เป็นมหกรรมที่ยิ่งใหญ่มากๆ ของประเทศไทย เพราะหนังสือพิมพ์จะพาดหัวตัวยักษ์หน้า 1 ทุกฉบับ และจะลงรูปนักฟุตบอลคนสำคัญๆ บนหน้า 1 ทุกฉบับ พร้อมรายละเอียดของข่าว

แล้ววันหนึ่งผมก็มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ เมื่อสอบเข้าเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ และได้สิทธิ์ที่จะสวมเสื้อสีเหลืองแดง ขึ้นไปนั่งแปรอักษรบนอัฒจันทร์ พร้อมกับส่งเสียงตะเบ็งเชียร์ธรรมศาสตร์สู้สู้ ธรรมศาสตร์สู้ตาย ธรรมศาสตร์ไว้ลายกับเขาด้วย

จำได้ว่าก่อนฟุตบอลลงสนามเราจะออกตระเวนนั่งรถ 6 ล้อลุยไปตามถนนต่างๆ ตั้งแต่เช้า ตะโกนร้องเพลงกึกก้องทั้งรถจุฬาฯ รถธรรมศาสตร์

ตกคํ่าหลังแข่งขัน ผมยังทันได้ร่วมขบวนแห่คบเพลิงของ 2 มหาวิทยาลัย จากสนามศุภชลาศัยไปหน้าหอประชุมจุฬาฯ ซึ่งเป็นสถานที่จัดเลี้ยง

ได้เห็นความยิ่งใหญ่ของเปลวไฟจากคบเพลิงยาวเหยียด เป็นปีสุดท้ายเพราะถัดมาอีกปี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ห้ามแห่คบเพลิงเด็ดขาด เพราะเกรงจะเกิดอันตราย (อ้างว่าหวั่นมือที่ 3 จะแอบโยนคบเพลิงเผาอาคารบ้านเรือนประชาชน หรืออะไรทำนองนั้น)

แต่กระนั้น นิสิตนักศึกษา 2 มหาวิทยาลัยก็ยังเดินคล้องแขนกันไปจากสนามศุภฯ ข้ามสะพานยศเส ทะลุไปออกภูเขาทอง เข้าถนนราชดำเนิน จนถึงท่าพระจันทร์ เพื่อร่วมงานเลี้ยงที่ธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ

ไม่มีคบเพลิงเราก็เดินได้ และก็เดินไปจนถึงท่าพระจันทร์จนได้

จากนั้นไม่นานนัก งานฟุตบอลประเพณีก็ค่อยๆ กร่อยลง การนั่งรถเชียร์แต่เช้าทำให้รถติดมากขึ้นก็ต้องเลิกไป การเดินไปงานเลี้ยงแม้จะไม่มีคบเพลิงแต่ปีไหนต้องเดินไปธรรมศาสตร์ ก็ทำให้รถติด เพราะต้องเดินไกลมาก ผ่านถนนหลายสายมาก ในที่สุดก็เลิกอีก

ก็ช่างเถอะบ้านเมืองต้องเปลี่ยนแปลง นิสิตนักศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง ในแต่ละยุคแต่ละสมัยเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

แม้งานจะเล็กลง ความสนใจของพี่น้องประชาชนที่มีต่อฟุตบอลประเพณีจะน้อยลง จากข่าวยักษ์หน้า 1 กลายเป็นข่าวเล็กๆ ประดับหน้ากีฬา (ยกเว้นปีไหนพาเหรดล้อการเมืองสุดมันส์ ค่อยมีโอกาสขึ้นหน้า 1)

แต่ก็ต้องขอบคุณน้องๆ ของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย ที่ยังคงรักษาประเพณีนี้ไว้ คือ ยังจัดการแข่งขันมาเรื่อยๆ จนถึงปีนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 74

ยังไงๆ ก็จัดต่อไปเรื่อยๆ นะครับ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่น้องๆ ของ 2 มหาวิทยาลัยต้องช่วยกันสานต่อไปอีกนานเท่านาน

ข้อดีอย่างหนึ่งของฟุตบอลประเพณีก็คือ ทำให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสร้องเพลงประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้ง 2 มหาวิทยาลัยต่างก็มีเพลงที่สอนให้รักประเทศไทย รักประชาชนไทยอยู่หลายเพลง

เมื่อร้องบ่อยๆ เข้าก็จะซึมลึก เกิดความรักชาติรักประชาชน และมุ่งจะออกไปทำงานเพื่อประชาชนไม่มากก็น้อยเมื่อเรียนจบ

ธรรมศาสตร์มีทั้งเพลง “ยูงทอง” และเพลงประจำมหาวิทยาลัย ทำนอง “มอญดูดาว” ที่ผมเชื่อว่ามีส่วนอย่างมากในการทำให้ศิษย์เก่า

ส่วนใหญ่ของสถาบันนี้ คิดดีทำดีเพื่อแผ่นดินของจุฬาฯ แค่เพลงพระราชนิพนธ์ “มหาจุฬาลงกรณ์” เพลงเดียว ก็ไม่ต้องร้องเพลงอื่นอีกแล้ว เพราะนี่คือพระนามของมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อประเทศชาติมากที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์

นี่แหละเหตุผลที่ผมอยากให้รักษาฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์เอาไว้ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสร้องเพลงปฏิญาณตนว่าจะเป็นคนดีและทำดีเพื่อแผ่นดินตามเสียงเพลงที่พวกเขาร้องก่อนการแข่งขัน

แม้จะมีบางคนไม่ซื่อสัตย์ต่อคำปฏิญาณบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วผมว่าทำตามครับ แผ่นดินไทยของเราถึงได้ก้าวหน้ามาจนถึงบัดนี้

สรุป ถ้ามีโอกาสจะไปชมฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 74 ด้วยตนเองก็เชิญที่สนามศุภชลาศัยนะครับ นั่ง BTS ไปสะดวกมาก บัตร 300 บาท และ 200 บาทเท่านั้น แต่ถ้าไม่สะดวกก็เปิด ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ดูก็แล้วกัน จะถ่ายทอดสดการแข่งขันเวลาประมาณ 16.00 น. เป็นต้นไปครับ.

“ซูม”