รีวิว…Dolittle : ภาพยนตร์สำหรับเด็ก ที่เล่าเรื่องโลกเล็กๆ ของผู้ใหญ่ 8/10

หากเรามองหน้าหนังของภาพยนตร์เบาสมอง ยิ้มง่าย ขายน่ารัก อย่าง “ดูลิตเติ้ล” (Dolittle) เพียงผ่านๆ ก็อาจจะเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นมิตรกับครอบครัว เด็กดูได้ สนุกสนานกันไป แต่เมื่อมองถอยออกมามองภาพใหญ่ มองย้อนไปถึงเรื่องราวเบื้องหลังที่หนังพยายามจะบอก จากการเดินทางมาสู่โลกภาพยนตร์ในทศวรรษนี้ ของวรรณกรรมเยาวชน (?) ที่เป็นต้นทางของงานสร้างสรรค์ เราก็จะพบว่า ดูลิตเติ้ล ไม่ใช้งานสร้างสรรค์สำหรับเด็กแต่อย่างไรเลย หากแต่เป็นการสื่อสารกับ “ผู้ใหญ่ในอนาคต” และแสดงความรับผิดชอบในฐานะ “ผู้ใหญ่ในวันนี้” ต่างหาก

คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินไปหากจะบอกว่าดูลิตเติ้ลเป็นผลผลิตจากสงคราม เนื่องด้วย “ฮิวจ์ ลอฟจิ้ง” (Hugh Lofting) วิศวกรโยธาชาวอังกฤษ ได้เริ่มต้นเขียนงานชิ้นนี้ขณะพักรบจากการออกแนวหน้าสงครามโลกครั้งที่ 1 !!! เรียกว่าเขียนกันในสนามเพลาะกันเลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือเล่มแรก ในชื่อ “The Story of Doctor Dolittle” จะมีกลิ่นอายของความหม่นหมองเจืออยู่บางๆ เพราะทั้งผู้เขียนและผู้อ่านต่างก็ใช้วรรณกรรมเป็นประตูออกจากโลกจริงที่ไม่อภิรมย์กันชั่วขณะนั่นเอง จากนั้นเขาก็ผลิตผลงานออกมาต่อเนื่องอีก 14 เล่ม กลายเป็นหนังสือชุดสมบูรณ์ 15 เล่มในชื่อ “The Voyages of Doctor Dolittle” เมื่อปี 1952 (สามเล่มสุดท้ายเป็นการตีพิมพ์ผลงานที่เขาทิ้งต้นฉบับไว้ก่อนจะเสียชีวิตในปี 1947)

เนื้อเรื่องเล่าถึงการออกเดินทางตามหาผลไม้วิเศษบนเกาะในตำนาน (เอาเข้าไป !) ของ ดร.ดูลิตเติ้ล สัตวแพทย์ผู้มีพรสวรรค์ในการสื่อสารกับสรรพสัตว์ต่างๆ เพื่อมารักษาราชินีวัยสาวรุ่นแห่งอังกฤษ ผู้เพิ่งก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ไม่นานก็ประชวรโดยไม่ทรายสาเหตุเสียแล้ว หลังจากที่ตัว ดร.ดูลิตเติ้ลเองตัดสินใจละทิ้งโลกภายนอกหลังจากสูญเสียภรรยาผู้เป็นที่รักในการออกเดินทางตามหาเกาะในตำนานนั้นเช่นกัน โดยมีแรงบันดาลใจในการแต่งมาจากชีวิตของ ดร.จอห์น ฮันเตอร์ (John Hunter : 1728-1793) ศัลยแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวสก็อตแลนด์ผู้อุทิศตนรักษาคนไข้อย่างถึงที่สุด และยังได้รับความยกย่องแม้เวลาจะผ่านมากว่าศตวรรษในยามที่ ฮิวจ์ ลอฟจิ้งสร้างสรรค์ผลงาน ดร.ดูลิตติ้ลในปี 1922

ด้วยเส้นเรื่องที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย สร้างแรงยันดาลใจในการอุทิศตนของเด็กๆ ดร.ดูลิตเติ้ลจึงถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องในคตวรรษที่ผ่านมา ทั้งการ์ตูน บทละครวิทยุ และภาพยนตร์ พร้อมกับการดัดแปลงให้กลายเป็นภาพยนตร์ตลกทันสมัยเข้ากับยุคในช่วงปี 90 กับ “Doctor Dolittle” (1998) โดยมีเอ็ดดี้ เมอร์ฟี (Eddie Murphy) เป็นนักแสดงนำเรียกเสียงฮาตลกเบาสมองตามแบบฉบับยุคมิลเลเนี่ยม

การนำกลับมาทำใหม่ในครั้งนี้ จึงนับเป็นการย้อนกลับไปเคารพเรื่องราวต้นฉบับโดยไม่ปรับแต่งมาก โดยคงเส้นเรื่องของสถานการณ์ให้อยู่ในสมัยวิกตอเรียน ซึ่งนับได้ว่าทีมงานสร้างทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว ด้วยความรู้สึกที่เหมือนพาเราทะลุเข้าไปอยู่ในวรรณกรรมเยาวชนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ที่มีชีวิตชีวาขึ้นมาด้วย Computer Graphic ของยุคนี้

ไม่เพียงแต่หนังหน้าที่ย้อนกลับมาเคารพวรรณกรรมต้นฉบับ แก่นของเรื่องที่วรรณกรรมยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชิ้นนี้ตั้งคำถามกับสังคมก็ได้ย้อนกลับมาบอกเล่า และเพิ่มเติมประเด็นใหม่ๆ ให้เด็กได้ซึบซาบและผู้ใหญ่ได้ขบคิด

สัตว์ทุกชนิดที่เคียงข้างดูลิตเติ้ล นัยยะหนึ่งเมื่อแรกผลิตเป็นผลงานวรรณกรรมต้นฉบับ สรรพสัตว์เหล่านั้นก็ยังความเพลิดเพลินตามหน้าที่ของตัวละครในวรรณกรรมเยาวชนควรจะเป็น ทว่าได้สะท้อนถึงความเป็น “มนุษย์” ผ่านตัวตนสัตว์เหล่านั้น…มนุษย์ในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีความไม่เพรียบพร้อมสมบูรณ์อยู่ในตนเอง มากน้อยต่างกันไป

ทั้ง “จิ๊ฟ” สุนัขกำพร้าผู้วิเคราะห์โรคได้อย่างแม่นยำและฉลาดเกินกว่าจะเป็นสุนัข / “ชี-ชี่” กอลิร่าผู้มีภาพลักษณ์ของความดุดันแต่ตัวจริงนั้นกลับมีความหวาดกลัวสิ่งเล็กๆ น้อยๆ จนเข้าขั้นสายกรี๊ดหนีทุกสิ่ง / “โย-ชิ” หมีขาวขั้วโลกที่รู้สึกหนาวตลอดเวลา / นกกระจอกเทศ “พริม-ตั้น” ตัวป่วนสายฮาแสนซุ่มซ่ามเป็นที่สุด แต่ความซุ่มซ่ามนี้ก็เป็นเสมือนปมด้อยที่ทำให้เข้ากับใครเขาไม่ได้ / “โพลิเนเซีย” นกแก้วสาวที่พูดคุยกับมนุษย์ได้ และยังรู้ใจ “ดูลิตเติ้ล” เป็นที่สุด ผู้สูญเสียเจ้านายอันเป็นที่รักไป / แม่เป็ด “แดป-แดป” ผู้ช่วยแพทย์ผู้มีอาการสายตาสั้น / “แบรี่” เสือโคร่งตัวใหญ่คู่ปรับเก่าของ “ดูลิตเติ้ล” ที่มีปัญหาเรื่องไม่ถูกแม่ตัวเองยอมรับ

ทว่าวันเวลาและค่านิยมในการมุ่งสู่ความสมบูรณ์แบบของมนุษย์เราเองหรือไม่ที่ทำให้เราหลงลืมธรรมชาติของเรา และหนักหนาสาหัสจนถึงขั้นเหยียบย่ำ กีดกันผู้ไม่สมบูรณ์มากกว่าออกจากระบบทั้งๆ ที่เขามีสิทธิ์โดยกำเนิดที่จะเป็นประชากรของโลกนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ดังเช่น สรรพสัตว์ต่างๆ ที่ถูกกันออกจากฝูง และดร. ดูลิตเติ้ลได้ปฏิญาณเพื่อจะตามหาพวกเขาเหล่านั้นและ “ซ่อม” พวกเขาอีกครั้ง

แล้วเมื่อนำค่านิยมและสภาพสังคมในยุคนี้ไปจับวรรณกรรมและภาพยนตร์เรื่อง ดร. ดูลิตเติ้ล ในครั้งนี้ ก็ได้สะท้อนสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยถูกเน้นย้ำในฉบับการผลิตซ้ำครั้งก่อนๆ อย่างทัศนคติบางอย่างที่เราคุ้นชิ้น และสุดท้ายก็กลายเป็นทัศนคติเหมารวม (Stereotype) ว่าคนแบบนี้ต้องเป็นแบบนั้น ถ้าผิดแผกไปจากนี้ก็เป็นตัวประหลาด ซึ่ง…ใช่ พวกเขาประหลาด แต่มันไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไร้คุณค่าใช่ไหม ?

อีกส่วนหนึ่งที่ภาพยนตร์ไม่ได้ละทิ้งคือ “การดำรงอยู่หลังจากความสูญเสีย” และไม่น่าแปลกใจหรอกที่วรรณกรรมกลางสมรภูมิเรื่องนี้จะเล่าเรื่องความสูญเสียอยู่ด้วย เพราะทุกๆ คน ในเรื่องต่างสูญเสียกันทั้งนั้น ดร.ดูลิตเติ้ลสูญเสียคนรัก พระราชินีสูญเสียโอกาสในการปกครอง จอมโจรสลัดสูญเสียลูกสาว สรรพสัตว์สูญเสียฝูง กระทั่งสัตว์ในตำนานที่เฝ้าผลไม้วิเศษ ยังประสบกับความสูญเสีย…. ความสูญเสียเป็นสิ่งธรรมดาของทุกคน และเราทุกคนต่างต้องหาทางไปต่อจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้นๆ ด้วยวิถีทางของเรา

และการไปต่อของเรานั้นอาจจะไม่ต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายอะไรใหญ่โตแต่เป็นทำสิ่งเล็กๆอย่างการเรียนรู้ที่จะยอมรับความไม่สมบูรณ์ของตัวเองเพื่อเข้าใจความไม่สมบูรณ์ของผู้อื่น

เพราะชื่อเรื่อง (และชื่อคุณหมอ) ก็บอกอยู่แล้วว่า Do – Little

ฉะนั้นแล้วการทำสิ่งเล็กๆ ง่ายๆ อย่างการแสดงน้ำใจโอบอ้อมอารี เห็นค่าของทุกชีวิต เป็น “ชีวิตที่เท่าเทียมกัน”

ก็เป็นจุดสำคัญของการสร้างสิ่งใหญ่ๆ ที่ดีงามต่อไปได้นั่นเอง

และนี่อาจจะเป็นสิ่งที่โลกต้องการมากที่สุด ในยุค 2020 นี้ก็เป็นได้…

คะแนน : 8/10

Pitirach Joochoy