รีวิว…ยิปมัน 4 : บทสรุปและความท้าทายสุดท้ายของผู้(ได้รับยกย่องว่า)ยิ่งใหญ่ 8/10

แล้วเราก็ได้เดินทางมาถึงบทสรุปของเส้นทางชีวิตปรมาจารย์ศาสตร์ป้องกันตัวของแดนมังกรใน “ยิปมัน 4” เมื่อเส้นทางชิวิตของ “ยิปมัน” (ดอนนี่ เยน) หรือ “อาจารย์ยิป” ของลูกศิษย์สำนักมวยหย่งชุนที่แตกกิ่งก้านสาขาพัดพาเมล็ดพันธุ์ไปหยั่งรากและยืนยงในโลกตะวันตก ได้เดินทางมาสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิตนักสู้ ที่ยังคงสู้ไว้ลายจนนาทีสุดท้ายของชีวิต

แต่การต่อสู้ครั้งนี้ หาใช่เพียงการต่อสู้ด้วยความเหี้ยมหาญเอาชนะด้วยกำลังและสติปัญญาบนเวทีเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ในชีวิตจริงกับโลกที่หมุนไปในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง การต่อสู้ในครั้งนี้จึงเป็นสนามประลองสุดท้ายที่ “ยิ่งใหญ่โดยไม่จำต้องดุเดือด”

โลกใหม่ VS โลกเก่า

เมื่อลูกหลานพันธุ์มังกรข้ามน้ำทะเลมาสืบเชื้อสายดังแดนไกล เมล็ดพันธุ์ใหม่ที่เติบโตไกลจากไม้ใหญ่ของชนรุ่นก่อน ย่อมออกดอกออกผลให้รสที่แปรเปลี่ยนไปตามดินและน้ำที่เปลี่ยนแปร นับประสาอะไรกับค่านิยมของคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ที่เส้นบางๆ ระหว่างความศักดิ์สิทธิ์กับความร่วมสมัยนั้นจะกระทบกระทั่งกันอยู่บ้าง หนังสะท้อนให้เห็นการมองวิชาการต่อสู้หมัดมวยประจำสำนักต่างๆ ของอาจารย์รุ่นใหญ่ในฐานะวิชาครูบาอาจารย์ เป็นมรดกของชาวจีนที่ควรสงวนไว้กับชาวจีน ในขณะที่คนรุ่นใหม่อย่าง “หลี่เสี่ยวหลง” (แดนนี่ ชาน) หรือที่เราๆ ท่านๆ รู้จักเขาในนาม “บรูซ ลี” นักแสดงศิลปะป้องกันตัวที่แม้ตัวจะจากไปแล้ว ชื่อเสียงยังเกรียงไกรอยู่ในทุกวันนี้ มองว่า การสงวนวิชาเอาไว้กับชาวจีนนั้นรังแต่จะทำให้วิชาค่อยๆ ตายไปกับกาลเวลา ไม่เกิดการพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ที่สำคัญการเปิดประตูรับสิ่งใหม่ๆ คือการเผยแพร่ความดีงามของศิลปะป้องกันตัวของจีน สร้างชื่อเสียงให้กับแผ่นดินแม่เสียด้วยซ้ำ ฟังดูบริบทบางอย่างก็ชวนให้ตั้งคำถามถึงสังคมไทยของเราอยู่ไม่น้อย และแน่นอนการเดินทางของปรมาจารย์ยิปมันในครั้งนี้ก็ต้องเข้าไปพัวพันกับการต่อสู้ของทั้งสองโลกนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนี่คือสนามต่อสู้สุกท้ายของปรมาจารย์อันน่าสนใจ ที่เราขอยกมาเล่าสู่กันฟัง

โลกตะวันตก VS โลกตะวันออก 

นอกจากการต่อสู้ภายในของคนระหว่างรุ่นแล้ว การต่อสู้ในฐานะผู้มาเยือนจากโลกตะวันออกกับเจ้าถิ่น (ที่ไม่ใช่เจ้าถิ่นเดิม) ซึ่งหนังก็แอบกัดความอหังการ์ของชาวตะวันตกได้เจ็บแสบอยู่ไม่น้อย ด้วยประโยคของเด็กๆ ในโรงเรียน (อันนี้ต้องไปดูกันเองว่าเขา “ฟาด” กันอย่างไร) นับว่าเป็นอีกหนึ่งการต่อสู้ที่ปรมาจารย์ของเราก็ต้องเผชิญด้วยเช่นกัน และเป็นที่มาของฉากต่อสู้ระดับเซียนที่เข้าใจเลยว่าทำไม ดอนนี่ เยน นักแสดงของเราถึงกับลั่นว่านี่คือการเล่นบทบู๊ครั้งสุดท้ายของเขา เพราะถ้านี่คือการทิ้งทวน ก็เป็นการทิ้งทวนที่ดังสะเทือนพื้นดินเลยทีเดียว

แต่อีกมุมหนึ่งที่น่าขบคิด การต่อสู้ระหว่างตะวันตกและตะวันออกที่สะท้อนด้วยการฟาดฟันของคาราเต้และมวยหย่งชุนในเรื่องนี้ เป็นมุมมองการฟาดฟันของชาวจีนในเรื่อง ก็เป็นธรรมดาที่การนำเสนอตัวละครจากฝั่งตะวันตกจะดู “แบน” และค่อนข้างเองเอียงเข้าข้างตะวันออกทีเดียว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้ของสองวัฒนธรรมในยุคนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง สิ่งที่เราควรคิดต่อจากหนังก็คือการหันมามองย้อนกลับไปว่าอคติทางวัฒนธรรมในวันนั้นส่งผลอย่างไรต่อสังคมในวันนี้ และเราจะทำให้สังคมแห่งความหมายหลายนี้เกิดความเท่าเทียมอย่างที่มนควรจะเป็นได้อย่างไร

พ่อ VS ลูก

ความท้าทายที่สุดของผู้ยิ่งใหญ่ทุกคน ไม่ใช่การเข้าสู่ความยิ่งใหญ่ได้อย่างไร หากแต่เป็นการรักษาความยิ่งใหญ่ และส่งต่อความเจริญรุ่งเรืองไปสู่คนรุ่นต่อไปอย่างไร และเช่นไรดี ยิ่งโดยเฉพาะผู้ที่ต้องมาตกที่นั่งรับความยิ่งใหญ่ที่ทุกคนมอบให้ โดยไม่ได้ตั้งใจอย่างที่ปรมาจารย์ยิปมันของเราต้องเผชิญแล้ว ยิ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายโดยไม่คาดคิดมาก่อนเลยเช่นกัน

สอนลูกศิษย์นับร้อยนับพันน่ะสอนได้ง่ายด้วย เพราะเป็นสิ่งที่อาจารย์รักและเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ที่จะส่งต่อความเป็นนักสู้ของอาจารย์ต่อไป แต่พอหันหลังกลับเข้ามาบ้าน ปรมาจารย์ยิปมันที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นเพียงพ่อคนหนึ่ง พ่อผู้สวมหมวกใบเดียวกับสามีที่ขาดศรีภรรยาที่คอยโยงใยครอบครัวให้เป็นครอบครัว จนทำให้ห่างเหินกับยิปจิน ลูกชายคนเดียวของเขา นั่นจึงนำไปสู่ปัญหาที่แทบทุกครอบครัวต้องเผชิญคือ “รักมากแต่ยากที่จะเข้าใจ” เมื่อต่างฝ่ายต่างเห็นดีในวิถีของตนที่อยากจะทำให้กันและกัน แต่ปรากฏว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างต้องการ

เมื่อพ่อนั้นอยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี อุปสรรคและเส้นทางนักสู้ที่พ่อได้เดินผ่านมาอย่างล้มบ้างลูกบ้าง กลับกลายเป็นความห่วง กังวล ฉุดรั้งคนเป็นพ่อไว้จนนำไปสู่การผลักไสผู้เป็นลูกให้ออกเส้นทางนักสู้แบบเดียวกับตนมากที่สุด อยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี มีการศึกษาสูงๆ ทำงานสบายๆ โดยที่ไม่ได้ตั้งคำถามถึงความคิดของลูก ว่าลูกอยากเป็นอย่างไร และทำไมลูกถึงอยากเดินตามรอยเท้าพ่อ

และในหนังก็ยังบอกอยู่ด้วยว่า ปัญหานี้ไม่ได้มีแค่ปรมาจารย์ยิปมันของเราต้องเผชิญอยู่คนเดียวหรอก บางครอบครัวนั้นก็เป็นทางตรงกันข้ามที่ฉุดรั้งลูกๆ ไว้ทั้งที่เขาอยากจะมีวิถีทางใหม่ๆ ของตน แต่จะเป็นอย่างไร และใครต้องมาเจอปัญหานี้ด้วย ขอเรียนเชิญไปติดตามกันต่อได้ในโรงหนัง

ตำนาน VS ปุถุชน

การต่อสู้ที่สำคัญที่สุด คือการต่อสู้กับตนเอง เมื่อปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ตรวจพบว่าตนเองกำลังเข้าสู่เส้นตายไปทุกขณะด้วยโรคมะเร็งที่กัดกินจนไม่มีทางเยียวยาอีกต่อไป การต่อสู้สุดท้ายของปรมาจารย์ ที่หนังบอกเราอยู่ทั้งเรื่อง โดยไม่จำเป็นต้องสร้างฉากไหนขึ้นมาโดยเฉพาะ จึงเกิดขึ้นด้วยการสะท้อนภาพของยิปมัน ที่ไม่ใช่ปรมาจารย์ในสายตาตนเองอย่างที่ใครๆ พร่ำบอก แต่เป็นเพียงชายคนหนึ่ง ที่แม้จะถูกคุกคามด้วยความตาย แต่ก็ยังสงบนิ่งและพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ตนเองเกิดมาเพื่อจะเป็น จวบจนขณะสุดท้ายที่จะทำได้ในฐานะนักสู้ และจะขอสู้เพื่อความถูกต้อง ดีงามในแบบของเขา รูปแบบที่ไม่ใช่การตู่สู้เพื่อข่มเหงเข่นฆ่าทำลาย ไม่ใช่เพื่อแสดงอำนาจ เพื่อประโยชน์ และไม่ใช่สู้เพราะจนตรอก แต่เป็นการต่อสู้เมื่อสมควรจะสู้ สู้เพื่อความสงบและสู้เพื่อจะไม่ต้องสู้อีกต่อไป

นั่นจึงเป็นที่มาและความหมายที่แท้จริงของ “ตำนานปรมาจารย์ยิปมัน” ผู้กลายเป็นตำนานด้วยการก้าวขึ้นสู่เวทีในฐานะนักสู้ และเดินลงจากเวทีในฐานะชายคนหนึ่งเสมอมา เพียงแต่ว่าหนังเรื่องนี้ คือการก้าวลงจากเวทีครั้งสุดท้ายของเขาเท่านั้น…

โดยรวมของภาพยนตร์นั้น แม้จะถูกหักคะแนนในใจไปจากการชมพากย์ไทย ที่ความเกรียงไกรสายฮาของทีมพันธมิตร กลบอารมณ์และเตะสกัดแข้งความจริงจังที่หนังพยายามจะบอกลงไปบ้าง แต่เมื่อมาคิดดู ก็นับว่านี่เป็นเสน่ห์ของหนังจีนในเมืองไทยไปแล้ว ถ้าไม่มีพันธมิตรก็คงไม่ใช่หนังจีนในเมืองไทย

นอกจากนี้ การได้เห็นหลายๆ ฉาก ที่ได้แสดงการคารวะเหตุการณ์ในชีวิตของ “ตำนานนักสู้” ในเรื่อง ทั้งฉากการแสดงวิชาของบรูซ ลี ในงาน International Karate Championship ที่ถอดแบบมาจากบันทึกภาพ และการบันทึกภาพปรมาจารย์ยิปมันสอนการฝึกวิชาโดยใช้หุ่นไม้ อันตกทอดเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังจนถึงวันนี้ ที่ได้เพิ่มเติมให้มีความหมายยิ่งขึ้นด้วยความตั้งใจถ่ายทอดวิชาให้ลูกชายของเขา สะท้อนความสัมพันธ์ละเมียดละไมของพ่อลูกผ่านกล้องในมือยิปจิน ก็ทำให้ฉากสุดท้ายของเรื่องเต็มตื้นด้วยความรู้สึก ที่สื่อสารได้โดยไม่ต้องเอื้อนเอ่ยคำใดๆ เป็นความแข็งแกร่งที่อ่อนโยน ความสงบนิ่งที่เคลื่อนไหว ความยิ่งใหญ่ที่อ่อนน้อมเหมือนวิชามวยหย่งชุนของปรมาจารย์ยิปมันนั่นเอง

ขอเชิญไปพิสูจน์ปัจฉิมบทที่แค่ฉากต่อสู้ก็ดูได้คุ้มค่าตั๋วแล้ววันนี้ ทุกโรงภาพยนตร์

คะแนน 8/10

Pitirach Joochoy 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
“ยิปมัน 4 เดอะไฟนอล” หนังกังฟูเรื่องสุดท้ายของ “ดอนนี เยน”