ชื่นชม “โฆษณา” สร้างสรรค์ ชวนเกษตรกรหยุดเผา “ไร่อ้อย”

ในหน้า 14 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับเมื่อวานนี้ (พุธที่ 29 มกราคม 2563) ลงตีพิมพ์โฆษณาเอาไว้เต็มหน้า เป็นโฆษณา 4 สี ใช้ตัวอักษรโตๆ สามารถอ่านได้เลยโดยไม่ต้องใส่แว่นตา

เขาพาดหัวเป็นประโยคคำถามว่า “หยุดเผา! ตัดอ้อยสด แล้วได้อะไร?” ไว้ข้างบนสุด

ถัดลงมาก็เป็นคำตอบเรียงกัน 3 ข้อ ดังนี้…ข้อแรก ใบอ้อยขายได้ 1,000 บาทต่อตัน (เปิดรับซื้อตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562-30 เมษายน 2563)

ข้อสอง อ้อยไฟไหม้จะถูกหัก 30 บาทต่อตัน และเฉลี่ยให้กับอ้อยสดทุกตัน ข้อสาม พบเห็นการเผาอ้อยแจ้งเบาะแสรับเงินรางวัลนำจับ 100,000 บาท (แจ้งเบาะแสการเผาอ้อยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ 1 ธันวาคม 2562-31 มีนาคม 2563)

และล่าสุดเขาพาดหัวส่งท้าย ดังนี้ “ตัดอ้อยสด ลดมลพิษ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” พร้อมกับตีพิมพ์ด้วยตัวอักษรเล็กๆ พอให้ทราบว่าโฆษณาชิ้นนี้เป็นของ กลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตนํ้าตาลทรายชื่อดังนั่นเอง

ผมขอโหวตให้เป็นโฆษณา “ทรงคุณค่า” ที่สุดแห่งปีเลยนะครับ

แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของ กลุ่มมิตรผล อันสืบเนื่องมาจากธุรกิจที่บริษัทในกลุ่มนี้ดำเนินการอยู่

กลุ่มมิตรผล ผลิตนํ้าตาลทรายขายจึงน่าจะมีโรงงานนํ้าตาลหลายโรงงาน และนํ้าตาลทรายนั้นก็มาจากอ้อยซึ่งในแต่ละปีกลุ่มนี้คงจะซื้ออ้อยจำนวนมากมายมหาศาลเพื่อมาทำนํ้าตาล

ท่านผู้อ่านคงจะทราบแล้วว่า ในช่วงหลังๆ ได้เกิดพฤติกรรมการ “ตัดอ้อย” ที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวงในบ้านเรา

นั่นก็คือ แทนที่ชาวไร่อ้อยจะตัดอ้อยสดๆ แล้วส่งเข้าโรงงานดังที่เคยดำเนินการกันมาในยุค 30-40 ปีก่อน กลับมาใช้วิธี “เผาไร่อ้อยก่อนตัด” กันอย่างแพร่หลาย

เหตุเพราะต้นอ้อยที่ถูกเผาแล้วนั้นจะตัดง่ายกว่าต้นอ้อยสด ทำให้เกษตรกรชาวไร่หันมาใช้วิธีเผาไร่กันเสียก่อน…เผาเสร็จแล้วจึงส่งรถตัดเข้าไปตัดอีกที หรือแม้แต่จะใช้แรงคนตัดก็จะตัดได้ง่ายกว่า

จริงอยู่แม้โรงงานจะรับซื้ออ้อยเผาในราคาที่ต่ำกว่าอ้อยสด และยังคิดค่าปรับจากการเผาอ้อยด้วย เพื่อไปชดเชยผู้ที่ตัดสดๆ แต่จากการตัดง่ายกว่าสะดวกกว่า เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว รายได้ที่ได้จาก “อ้อยเผา” จะไม่น้อยไปกว่ารายได้จากอ้อยสดเท่าไรนัก

ในทางตรงข้าม จะเสียเวลาน้อยกว่า สะดวกสบายกว่าในหลายๆ เรื่อง ประกอบกับในระยะหลังๆ คนงานรับจ้างตัดอ้อยก็เหลือน้อยเต็มที จึงมีอำนาจต่อรองสูงไม่เผาก่อนให้ฉันตัดง่ายๆ ฉันก็จะไม่รับจ้างตัดให้ละ

ส่งผลให้เกษตรกรเจ้าของไร่ส่วนใหญ่ใช้วิธีเผาก่อนตัดอย่างแพร่หลาย ในปัจจุบันนี้แม้ทางราชการจะดำเนินมาตรการหลายๆ ประการที่จะไม่ให้เผาก่อนแล้วก็ตาม

ที่ผมใช้คำว่า “ส่วนใหญ่” เพราะจากงานวิจัยเรื่องอ้อยในบ้านเรา ล่าสุดพบว่า ถึงร้อยละ 60 หรือเกินครึ่งของอ้อยที่เข้าโรงงานเป็น “อ้อยไฟไหม้” (เรียกตามศัพท์แสงที่ใช้กันอยู่เวลานี้) นั่นเอง

เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มีมากขึ้นในประเทศไทยเราช่วงหลังๆ นี้

เพราะมีการเผาไร่อ้อยเพื่อจะได้ตัดอ้อยง่ายๆ ตามอุปนิสัยมักง่ายของคนไทยเราเกือบจะทั่วทุกพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อย ว่าอย่างนั้นเถิด

ทำให้ระหว่างช่วงเดือนธันวาคมของแต่ละปีไปถึงเดือนเมษายนของปีถัดไป ซึ่งเป็นฤดูตัดอ้อยส่งโรงงาน จึงมีการเผาไร่อ้อยกันอย่างกว้างขวาง ถือเป็นปัจจัยกระหน่ำซ้ำเติมทำให้ PM2.5 เพิ่มขึ้นอีกปัจจัยหนึ่ง

ผมจึงชื่นชมโฆษณาในไทยรัฐชิ้นนี้ของกลุ่มมิตรผล และขอยกให้เป็น “โฆษณาทรงคุณค่าแห่งปี” ด้วยเหตุผลข้างต้น

หวังว่าโรงงานน้ำตาลอื่นๆ จะดำเนินการตามนี้บ้างนะครับ ถ้าทุกโรงงานพร้อมใจกันไม่ซื้อ “อ้อยไฟไหม้” คนปลูกอ้อยเขาขายไม่ได้ก็จะเลิกเผาไปเองในที่สุด

สรุป เชื่อแล้วครับว่าไทยแลนด์เรานี่ปัญหาเยอะจริงๆ ทุกๆ เรื่องมีปัญหาหมด แม้แต่ปลูกอ้อย ผลิตน้ำตาลก็ยังมีปัญหาเผาไร่อ้อยสร้างมลภาวะแก่ประเทศไทยและแก่โลกจนได้ซีน่ะ

เลิกกินหวานกันซะเลยดีไหมเนี่ย จะได้ไม่ต้องผลิตนํ้าตาลและยุติการเผาไร่อ้อยต้นเหตุประการหนึ่งของ PM 2.5 กันซะที.

“ซูม”