เตรียมรับมือสังคมสูงอายุ อย่าง “เข้าใจ” และมี “สติ”

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สภาพัฒน์เจ้าเก่าได้นำเสนอรายงานคาดการณ์ประชากรไทย พ.ศ.2563–2583 หรืออีก 20 ปีข้างหน้าให้ ครม. รับทราบ พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการรับมือโครงสร้างประชากรไทย ที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงให้ ครม.พิจารณา

ในแง่จำนวนประชากรสภาพัฒน์คาดการณ์ว่าโดยรวมแล้วจะลดลงไปเมื่อเทียบกับ พ.ศ.นี้ เพราะจะมีประชากรทั้งสิ้นเพียง 65.4 ล้านคน ในปี 2583 เทียบกับที่มีอยู่ 66.5 ล้านคนในปัจจุบัน

สภาพัฒน์ให้รายละเอียดว่าจากปีนี้ไปถึงปี 2571 ประชากรไทยจะยังเพิ่มอยู่ แต่พอผ่าน 2571 ไปแล้ว จะลดลงร้อยละ 0.2 ต่อปี ดังนั้น พอถึง พ.ศ.2583 ครบ 20 ปีข้างหน้าพอดี ประชากรของประเทศไทยจะอยู่ที่ 65.4 ล้านคน หรือลดลงจากปีนี้ 1.1 ล้านคนดังกล่าว

นอกจากประชากรส่วนรวมจะลดลงแล้ว โครงสร้างอายุของประชากรก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปี 2583

เริ่มจากประชากรเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 14 ปี ซึ่งมีจำนวน 11.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.9 ใน พ.ศ.นี้ จะลดเหลือ 8.4 ล้านคน และคิดเป็นร้อยละ 12.8 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้นใน 20 ปีข้างหน้า

ส่วนประชากรวัยทำงาน (อายุ 15 ปี ถึง 59 ปี) นั้น ก็จะลดเช่นกัน จาก 43.26 ล้านคน หรือร้อยละ 65 ของประชากรทั้งหมดใน พ.ศ.2563 เหลือเพียง 36.5 ล้านคน หรือร้อยละ 56 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2583

ที่เพิ่มและเพิ่มมากเสียด้วยก็คือประชากรผู้สูงอายุ หรือ 60 ปีขึ้นไปนั่นแหละครับ พ.ศ.นี้มี 12 ล้านคน หรือร้อยละ 18 จะกลายเป็น 20.42 ล้านคน หรือร้อยละ 31.28 ทันที เมื่อปี 2583 มาถึง

ดูจากโครงสร้างแบบนี้แล้ว ผมก็เชื่อว่าเราคงนึกภาพออกนะครับว่าจะเกิดอะไรขึ้นแก่ประเทศไทยบ้าง เมื่อเด็กน้อยลง คนวัยทำงานน้อยลง แต่ผู้สูงอายุซึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องพึ่งพิงผู้อื่นเพิ่มขึ้น

ผมต้องขอขอบคุณสภาพัฒน์ และ ครม.ไว้ ณ ที่นี้ ที่แม้จะตระหนักดีว่านี่คือปัญหาที่รอเราอยู่ แต่ทั้งข้อเสนอของสภาพัฒน์และมติ ครม.ล้วนออกมาในทางให้ยอมรับความเป็นจริง และเตรียมรับมืออย่างมีสติ

พร้อมกับใช้คำพูดประโยคสำคัญที่เป็นกำลังใจแก่ผู้สูงอายุอย่างดียิ่ง หลายครั้งหลายหนในแนวทางรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้น

เช่นในช่วงที่ท่านรองโฆษกฯ คุณ รัชดา ธนาดิเรก พูดถึงแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุ ที่ว่ารัฐบาลจะทำโน่นทำนี่หลายๆ อย่างนั้น จะมีประโยคแรกเลยที่ระบุไว้ในแผนว่า “จะไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ”

และอีกประโยคน่าจะเป็นข้อเสนอสภาพัฒน์ก็เน้นว่าจะ “ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ เป็นประชากรที่มีคุณค่าในสังคม”

ผมเห็นด้วยและเชื่ออย่างยิ่งว่า ผู้สูงอายุของไทยเป็นประชากรที่มีคุณค่าของสังคม และจะเป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างยิ่ง หากได้มีการพัฒนาหรือคิดค้นงานที่เหมาะสมให้แก่ผู้สูงอายุกลุ่มอาชีพต่างๆ

โดยเฉพาะในช่วงอายุระหว่าง 60-75 ปี ซึ่งผมคิดว่ามันสมองและความทรงจำของผู้สูงอายุไทย ส่วนใหญ่ยังดีมาก และยังทำงานได้ในหลายๆประเภท

เราจะคิดอ่านหางานอะไรที่เหมาะสมให้ทำ เพื่อให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ สามารถสร้างรายได้ทั้งให้แก่ตัวเอง และเป็นรายได้ประชาชาติด้วย คงต้องฝากท่านผู้รู้ทั้งหลายในสภาพัฒน์ ให้ช่วยคิดล่วงหน้าไว้ด้วย

แน่ละ เมื่ออายุคนไทยข้ามสะพานพระราม 8 คือเกิน 80 ปีไปแล้ว ทั้งสมองทั้งกำลังวังชาอาจจะด้อยลง และเริ่มมีโรคชรามาเยือน สังคมก็คงต้องดูแลต่อไป ซึ่งก็หวังว่าคงมีจำนวนไม่มากนัก พอดูแลกันไหว

อีกแผนปฏิบัติการหนึ่งของรัฐบาล ที่ท่านรองโฆษกแถลงก็คือจะเน้นในกลุ่มวัยทำงานก่อนเกษียณ (อายุ 25-59 ปี) ได้ตระหนักไว้ก็คือ เรื่อง การออม หรือการเก็บเงินไว้สำหรับดูแลตัวเองในบั้นปลายชีวิต

ถูกต้องแล้วครับ ท่านรองโฆษก, การออมล่วงหน้าไว้เท่านั้น ที่จะช่วยให้เราใช้ชีวิตในยามเกษียณ ได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ

ก่อนจบคอลัมน์วันนี้ในฐานะผู้สูงอายุคนหนึ่ง ขอขอบคุณรัฐบาล และสภาพัฒน์แทนผู้สูงอายุทุกหมู่เหล่าในประเทศไทย สำหรับ “วาระแห่งชาติ” และแผนงานรับมือกับสังคมสูงอายุ…ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง

จะปฏิบัติได้หรือไม่ได้แค่ไหน เราไม่หวังอะไรมากอยู่แล้ว เพราะรู้อยู่ว่าแผนพัฒนาต่างๆของบ้านเราเป็นเรื่องที่จะทำให้สำเร็จได้ยาก

แต่อย่างน้อยที่ท่านมีแก่ใจคิดถึงพวกเรา และยกให้เรื่องราวของพวกเราเป็น “วาระแห่งชาติ” และเห็นว่าผู้สูงอายุอย่างเราๆ เป็นบุคคลที่มีคุณค่าของสังคมก็โอเคแล้วละครับ.

“ซูม”