รีวิว…The New Rijksmuseum – บูรณะโกลาหล…8.5/10

ภาพยนตร์สารคดีที่คอหนัง Indy หรือสาย Art ไม่ควรพลาดจะไปหามาชม ด้วยเรื่องราวจริงของเหตุการณ์บูรณะพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัม หรือที่รู้จักกันในชื่อ พิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ (Rijksmuseum) ของเนเธอร์แลนด์ อันเป็นพิพิธภัณฑ์ใหญ่โตแถวหน้าของยุโรป ที่จัดแสดงงานศิลปะและโบราณวัตถุทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคกลางราวปีคริสต์ศักราช 1,200 โน่น ลากยาวกันมาถึง Collection ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในยุคเรานั่นแล โดยมีสิ่งของที่จัดแสดงกว่า 8,000 ชิ้น ที่คัดเลือกจากของในคลังนับล้านชิ้น 

จนเป็นสถานที่ “A Must” ของการไปเที่ยวบ้านเมืองเขา เพราะคนดัชต์เขาให้ความสำคัญกับที่นี่ ในฐานะแหล่งรวมมรดกทางวัฒนธรรมที่เขาภาคภูมิใจ ถึงขนาดที่การปิดซ่อมที่นี่ทำให้มีคำกล่าวว่า เขาสูญเสียสาเหตุที่ทำให้คนมาเที่ยวประเทศเขาไปหนึ่งข้อใหญ่ๆ และสร้างความกดดันให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบูรณะครั้งนี้มาก

ซึ่งนับแต่เปิดให้เข้าชมในปี 1885 การบูรณะครั้งนี้คือว่ายิ่งใหญ่ และบังเกิดความอลเวงขึ้นทุกหย่อมหญ้า จนทำให้แผนการบูรณะที่วางไว้ 5 ปี กลายเป็น 10 ปีแห่งความทรหดอดทน

โดยเบื้องหลังความอลเวงทั้งหลายนั้น ได้ถูกตีแผ่อย่างถึงพริกถึงขิงและไม่หมกเม็ดโดยนักทำหนังสารคดีหญิงของบ้านเขานาม อูเคอ โฮเคินไดจค์ (Oeke Hoogendijk) ผู้ซึ่งต้องงอกงานตัวเองตามการบูรณะที่ยืดยาวออกไปเป็นเท่าตัวพร้อมกัน ทำให้สารคดีเรื่องนี้มีฟุตเตจทั้งหมดถึง 275 ชั่วโมง และต้องใช้เวลาตัดต่อกว่า 7 เดือนเต็ม

จนเป็นสารคดีที่เราได้ดูกันทั้งหมด 4 ตอน ซึ่งทาง Lido Connect ได้นำมาฉายรวดเรียวจบครบสามชั่วโมงกว่ากันเลยทีเดียว แต่อย่าประมาทฝีมือของเขาว่าเป็นสารคดีแล้วจะน่าเบื่อ เพราะมันกลับดูได้ไปเรื่อยๆ ด้วยอรรถรสที่แทบจะเป็นหนัง Drama ไปแล้วเด้อพี่น้อง ก็คงเป็นเพราะชีวิตจริงนั้นมัน Drama นั่นแหละ !

เริ่มตั้งอาคารหลักที่เห็นในปัจจุบันนั้น ออกแบบในปี 1800 โดยสถาปนิกชาวดัชต์ ชื่อปีแยร์ ไคเปอส์ (Pierre Cuypers) ที่ยังปีรูปปั้นของเขาแอบเป็นโจรมุมตึกเกาะอยู่ที่ส่วนบนของอาคารแสดงอารมณ์ขันและลายเซ็นของเขา แน่นอนว่าการบูรณะในครั้งนี้ตึวตึกเป็นโบราณสถานเข้าไปแล้ว การออกแบบปรับเปลี่ยนอะไรภายในยิ่งต้องคิดให้เยอะ ไม่นับปัญหาที่เจอระหว่างการก่อสร้างเช่นตัวอาคารตั้งเดิมที่พอสร้างชั้นใต้ดินก็เจอกับปัญหาน้ำรั่วซึม

แล้วยังต้องเจอกับเรื่องที่ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องอีกอย่างการประท้วงของผู้ใช้จักรยานที่ขี่ผ่านตัวตึกของพิพิธภัณฑ์กันเป็นนมนานในฐานะที่ตึกนี้คือประตูเชื่อมกรุงอัมสเตอร์ดัมเหนือเข้ากับใต้ ซึ่งเป็นวิญญาณตามติด หลอนไปตั้งแต่ตอนที่หนึ่งยันตอนที่สี่ จนเราเข้าใจความเบื่อของ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คนที่สอง คือ วิม ไปจ์บิช (Wim Pijbes) ผู้ทำให้โครงการนี้สำเร็จ (ซะที) ในตอนที่ต้องไปนั่งไฝว้กับชมรมจักรยานนี้ เรื่องแบบประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์ และด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้ทีมงานสถาปิกชาวสเปนผู้ชนะเลิศการออกแอบคือ อันโตนิโอ ครูซ และ อันโตนิโอ ออร์ติซ ถึงกับลั่นออกมาว่า พวกเขาขนะการออกแบบมาด้วยแบบที่ไม่ได้สร้างจริง ! แรว๊งส์

นอกจากสมาคมผู้ใช้จักรยานอันเกรียงไกรจนสภาเขตต้องถอย และทีมงานพิพิธภัณฑ์ต้องลั่นว่า นี่คือประชาธิปไตยแบบดัชต์ๆ (เอ๊ะ ! คุ้นๆ) ยังต้องเจอกับคณะกรรมการล้านแปด ทั้งคณะกรรมการสุนทรียภาพเมืองที่รังเกียจตัวตึกใหม่ที่จะใช้เป็นศูนย์การศึกษา เก็บสิ่งพิมพ์ และคลังเอกสาร รวมถึงรัฐมนตรีวัฒนธรรมที่ไม่ให้งบเพิ่ม

สุดท้ายก็คือความถอดใจของโรนัลด์เดอบิลผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คนแรกเทงานลาออกย้ายไปเวียนนาเอาดื้อๆ ซึ่งทำให้เราคิดว่าการถอดใจของเดอบิลนี่แหละที่สร้างปัญหาในการประสานงานส่วนหนึ่งจนสุดท้ายต้องเปลี่ยนผู้จัดการโครงการบูรณะถึงสี่คน (โคตร)เปลือง ! แต่ก็ยังดีที่ผู้จัดการคนสุดท้ายที่มาคุมงานเป็นขาฟาดและไฝว้กับวิม  ผู้อำนวยการคนใหม่เข้าขากันดีอยู่เราจึงได้เห็นเรื่องตลกร้ายในการตรวจงานแล้วเจอแผ่นหินอ่อนที่มีรอยกากบาทว่าต้องเปลี่ยนจากการตรวจรอบที่แล้วนั้นทีมผู้รับเหมาแก้ปัญหาให้งานเสร็จทันสองสัปดาห์ด้วยการลบกากบาททิ้งเอ้า !

เรื่องทีมผู้รับเหมานี่ก็เป็นอีกหนึ่งความสนุก ยื่นประมูลกี่ครั้งทำไปทำมาก็มีผู้รับเหมารายเดียว แล้วเปิดซองกี่ครั้งก็เกินงบทุกครั้ง อาเมน ! วุ่นวายจนวันสุดท้ายที่ทางพิพิธภัณฑ์ตรวจรับงาน ยังต้องมานั่งฉาบผนังกันใหม่ทั้งๆ ที่เคลือบพื้นไม้ไปแล้วเลยจ้า

ความบันเทิงอีกที่เพิ่มเติมโดยมิได้นัดหมายอีกอย่างคือ การมีทีมออกแบบและมัณฑนากรเป็นชาวสเปน สถาปนิกส่วนห้องจัดแสดงเป็นชาวฝรั่งเศส เพื่อมาทำงานพิพิธภัณฑ์ดัชต์ งานมันเลย(โคตรจะ)อลหม่านในด้านสไตล์ และเค้าลางความหายนะก็เริ่มมาตั้งแต่สถาปนิกฝรั่งเศสหลับตั้งแต่ตอนประชุม กรรม ! ไม่พักต้องห่วงเลยว่าความอลเวงจะตามมาเบอร์ไหน มีการพ่นสีดำในส่วนจัดแสดงทั้งส่วนเพื่อความ Modern จนทีมพิพิธภัณฑ์ต้องสั่งเบรกและทาสีใหม่กันเลย เป็นต้น

ด้านภัณฑารักษ์ก็วุ่นวายเอ็ดตะโรไม่แพ้กัน โดยเฉพาะส่วนงานแสดงศิลปะคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่เป็นส่วนจัดแสดงเข้าใหม่ (ก็มันเพิ่งมีในยุคเรานี่นา !) หา Concept แล้ว Concept อีก จนหัวหน้าส่วนงานจัดแสดงลาออกตามเดอ บิลไปเลย ! แล้วก็ต้องมานั่งเริ่มต้นกันใหม่ภายใต้หัวเรือใหญ่ด้านการจัดแสดงศิลปะ ซึ่งเคยเป็นตัวเต็งไฝว้ตำแหน่ง ผอ.พิพิธภัณฑ์กับวิม แต่ก็แพ้ไป (เรื่องการแย่งเก้าอี้นี่ก็เป็นอีกประเด็นในเรื่อง) และในที่สุดเขาก็ได้รับแต่งตั้งมาคุมงานส่วนจัดแสดงทั้งหมด และลงมือประมูลงานศิลปะสมัยใหม่เข้ามาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์อีกด้วย ผลจะเป็นอย่างไรบ้าง ไปหาดูเอาเองนะจ๊ะ !

ส่วนเผ็ดร้อนก็มีส่วนดีงามก็มาก โดยเฉพาะ Passion ของทีมจัดแสดงศิลปะเอเชีย และทีมจัดแสดงศิลปะคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ส่งพลังบวกจากคนทำงานถึงคนดูอย่างมาก เราชอบความเต็มที่ของภัณฑารักษ์คริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ Design ห้องจัดแสดงให้เป็นห้องโถงเครื่องเรือนยุคนั้น แล้วอธิบายรายละเอียดทางศิลปะ เข้ากับสังคม ประสานเครื่องเรือน ภาพวาด การแต่งกายเป็นหนึ่งเดียว

พอๆ กับตาที่เป็นประกายของภัณฑารักษ์ศิลปะเอเชียในคราวที่แกะหีบห่อทวารบาลญี่ปุ่น ซึ่งพิพิธภัณฑ์ไปซื้อมาเพื่อเป็นชิ้นเอกในส่วนงานจัดแสดงนี้ มิติของความเคารพ ไปจนถึงความตื่นเต้นที่เขาออกเดินทางไปหาที่ตั้งเทวรูปจริงๆ บนทางขึ้นศาลเจ้าร้างในญี่ป่น

อีกอย่างที่น่าสนใจคืองานอนุรักษ์ศิลปะวัตถุ พร้อมการออกแบบจัดแสดง โดยเฉพาะงานยุคทองของดัชต์ (Dutch Golden Age painting) ในช่วงปีคริสต์ศักราช 1584-1702 ทั้ง The Night Watch, 1642 ของเรมบรันต์ (Rembrandt van Rijn) งาน Portrait of a Young Couple, 1622 ของ ฟรันส์ ฮาล (Frans Hals)และ The Milkmaid,1659 ของเฟอร์เมียร์ (Johannes Vermeer) เราจะได้สัมผัสความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ที่ค่อยๆ ซ่อมเก็บรายละเอียด ของภาพ The Company of Captain Dirck Jacobsz Rosecrans and Lieutenant Pauw, 1588 ของ Cornelis Ketel ที่อยู่ในตอนต้นเรื่อง เก็บรายละเอียดของงานแต่ละชิ้น เห็นรอยแตก รอยซ่อม สีเปรอะ ชีวิตชีวาของสีแปรงยุคเก่าที่ได้รับความเคารพโดยปลายฝีแปรงรุ่นใหม่

นั่นทำให้สารคดีเรื่องนี้ได้รับรางวัล Best Dutch Documentary (IDFA Awards) ซึ่งสะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่างเลยตั้งแต่ความคิดอ่านของคนในบ้านเมืองเขา เพราะการที่จะมีสารคดีเรื่องนี้ได้ นั่นแปลว่าเขาให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์แห่งชาตินี้จริงๆ ถึงขนาดที่คิดมาแล้วว่าตั้งแต่เริ่มต้นการบูรณะ ไม่ว่าเรื่องราวของการทำงานจะเป็นไปในทิศทางใด ก็จะมีทีมงานสารคดีชุดนี้ตามติดไปตั้งแต่ต้นจนจบ

แล้วบันทึกความวายป่วงทุกอย่างอย่างจริงใจ ไม่หมกเม็ด ทุกความเครียด ทุกการทะเลาะ ทุกการเท ทุกการประชุมตั้งแต่ทีมภัณฑารักษ์เล็กๆ ไปยันสภาเขตและรัฐมนตรีวัฒนธรรม ทุก Passion ทุกจินตนาการ ของภัณฑารักษ์แต่ละส่วน ได้รับความใส่ใจบรรจุลงไปอย่างซื่อสัตย์ ไม่ต้องมีการตัดทอนทิ้งส่วนใด และให้คนดูติดตามเรื่องราวไปตามความจริง จนถึงวันสุดท้ายที่ถ่ายรูปรวมเสร็จงาน

ทีมงานทุกคนได้ใส่ตัวตนของพวกเขาลงไปในบทสัมภาษณ์ประกอบ ไม่เกรงกลัวคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะพวกเขาคิดแบบนั้น และมีจุดยืนของแต่ละคนที่ชัดเจน ซึ่งทำให้เราแอบฝันว่าอยากให้เมืองไทยไปไกลถึงจุดนั้นแบบเขาบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้สุดท้ายมันก็เป็นคุณูปการของประเทศชาติโดยส่วนรวม อย่างที่ในตอนสุดท้ายพองานเสร็จ ทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เบื้องหลังอิฐ เบื้องหลังกำแพงนี้ พวกเขาไม่เสียใจที่ต้องทะเลาะแทบจะเข่นฆ่า ต่อสู้ Lobby กันมา แต่ไม่ว่าทั้งสิ่งที่ดีและแย่ที่เกิดขึ้นที่นี่ มันก็ทำให้เขาภูมิใจกับผลงานชึ้นนี้

และอย่างน้อยที่สุดเมื่อสารคดีนี้เผยแพร่ออกไป ก็ได้ปลูกฝังค่านิยมบางอย่างในใจคนในประเทศชาติบ้านเมืองของเขา สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมและหวงแหนสมบัติชาติ งานศิลป์โลก แล้วก็ทำให้คนต่างชาติอย่างเราที่ได้ดู เริ่มหยอดกระปุกและกากบาทอัมสเตอร์ดัม เป็นหนึ่งในสถานที่ที่อยากจะไปแล้ว

นี่สินะอานุภาพของวิสัยทัศน์และการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

ปล. ตามไปอ่านแนวคิดเรื่องการจัดการพิพิธภัณฑ์ของเขาซึ่งเราไปอ่านแล้วยิ่งน่าสนใจที่ : https://www.rijksmuseum.nl/en/

คะแนน 8.5 / 10

Pitirach Joochoy