สุดปลื้ม…”นวดไทย” มรดกไทยสู่มรดกโลก

ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ในช่วงหัวคํ่าวันเสาร์ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีข่าวดีเกิดขึ้นถึง 2 ข่าวในวันเสาร์นี้จากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ที่วางกองอยู่บนโต๊ะของผม

ข่าวดีข่าวแรกก็คือ ข่าวที่ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกากับรัฐบาลจีนตกลงกันได้ในการเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้าที่เรียกว่า “เฟส 1” ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีระลอกใหม่จากสินค้าจีน 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ว่าจะลงมือในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคมต้องเลื่อนออกไป

รายละเอียดของข้อตกลงจะเป็นอย่างไรคงต้องรออ่านกันอีกที เพราะขณะที่ผมนั่งเขียนพาดหัวข่าว บอกแต่เพียงว่าตกลงกันได้เท่านั้น

แต่เพียงแค่นี้ก็ถือว่าเป็นข่าวดีแล้วครับ หวังว่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะยุติสงครามการค้าที่ทำให้โลกปั่นป่วนมาเป็นเวลายาวนานถึง 17 เดือนลงได้

สำหรับข่าวดีข่าวที่ 2 เป็นข่าวของประเทศไทยและคนไทยเราโดยตรง เป็นข่าวดีที่ทำให้ผมชื่นใจ ภูมิใจและอิ่มอกอิ่มใจที่สุดตลอดทั้งวันเสาร์ หลังจากได้อ่านข่าวนี้ในตอนเช้า

ข่าวการประชุมเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ของยูเนสโก ที่กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลอมเบีย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมลงมติขึ้นทะเบียน “นวดไทย” ของเราเอาไว้ด้วยนั่นแหละครับ

ทำให้ “นวดไทย” หรือ NUAD THAI เป็นมรดกวัฒนธรรมไทยรายการที่ 2 ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกต่อจาก “โขน” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปีกลาย (2561)

ผู้แถลงข่าวนี้ให้เราทราบก็คือ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อิทธิพล คุณปลื้ม ซึ่งเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังด้วยว่า เว็บไซต์ เดลิเมล์ ของอังกฤษได้รายงานเกี่ยวกับ นวดไทย ก่อนที่ยูเนสโกจะประกาศเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญาไม่นานนักว่า การนวดไทยเป็นศาสตร์การแพทย์แผนโบราณของไทยที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี

เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจำนวนมาก และถึงขั้นติดอกติดใจสมัครเข้าเรียนนวดแผนไทยในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีผู้สำเร็จวิชานวดไทยตำรับวัดโพธิ์ไปกว่า 200,000 คน จาก 145 ประเทศทั่วโลก

กลับไปประกอบอาชีพสร้างรายได้และเปิดร้านนวดไทยตามเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน และฮ่องกง เป็นต้น

ผมเองโดยส่วนตัวเป็นแฟน “นวดไทย” มากว่า 40 ปีแล้ว เพราะเริ่มรู้สึกว่าปวดเมื่อยเนื้อตัวจนต้องเข้าโรงนวดตั้งแต่อายุ 30 กว่าๆ

มีอยู่ระยะหนึ่งจะใช้บริการของ ชวาลา อยู่เป็นประจำ เพราะหมอนวดของที่นี่ส่วนใหญ่จะผ่านการเรียนนวดไทยจากสำนักต่างๆ โดยเฉพาะ สำนักวัดโพธิ์ ที่ฝรั่งชื่นชมดังที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้น

หรือแม้แต่ที่โรงเรียนสอนนวดแผนโบราณที่ วัดโพธิ์ เอง ผมก็เคยไปใช้บริการอยู่หลายครั้ง เคยเขียนในคอลัมน์ซอกแซกเอาไว้ด้วยซํ้าเมื่อ 20 กว่าปีก่อนโน้น

จำได้ว่ามีสุภาพสตรีชาวยุโรปอายุ 20 กว่าๆ รวม 2 หรือ 3 ท่านมาเรียนด้วยในยุคนั้น และผมก็ขันอาสาเป็นหนูตะเภาให้เธอคนหนึ่งทดสอบวิชา ปรากฏว่านวดได้ดีพอๆ กับสาวไทยเรา

ก็เพิ่งทราบจากถ้อยแถลงของท่านรัฐมนตรีที่หยิบยกรายงานของเดลิเมล์มาบอกพวกเรานี่แหละว่า สำนักวัดโพธิ์ได้ผลิตหมอนวดจากทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 200,000 คน

ผมต้องขอขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรมที่เสนอ “หมอนวด” มรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไทยไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมโลกที่จับต้องไม่ได้ จนกลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว

อย่าหาว่าผมชาตินิยมหรือเข้าข้างคนไทยกันเอง หรือเชียร์กันเองเลยครับ ถ้าจะบอกว่า “นวดไทย” ของเราดีที่สุด และ “ซี้ดที่สุด” (คือเจ็บนิดๆ ครางหน่อยๆ แต่หายปวดเมื่อยเป็นปลิดทิ้งหลังจากนั้น) ไม่มีการนวดของชาติไหนเทียมทัน คู่ควรกับการเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลกที่จับต้องไม่ได้ทุกประการ

ป.ล.ถ้าผมจะไม่เห็นด้วยกับยูเนสโกอยู่บ้างก็ตรงที่ท่านใช้คำว่า “จับต้องไม่ได้” นี่แหละ…เนื่องจากนวดไทยเรานั้นเป็นวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และต้องจับด้วย…เพราะถ้าจับต้องไม่ได้หรือบีบๆ คลําๆ หรือทุบเบาๆ ไม่ได้ละก็…จะหายปวดหายเมื่อยได้ยังไงล่ะยู.

“ซูม”