ผมหนีหนาวจาก กทม. ไปหาความอบอุ่นที่สตูล จังหวัดชายทะเลอันดามันภาคใต้ของประเทศไทยมา 2 วันกับ 1 คืนครับ
วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อจะไปปรึกษาหารือกับคณะกรรมการโรงเรียน คณะคุณครูผู้สอนและผู้ปกครองนักเรียน ตลอดจนพี่น้องประชาชนที่มีลูกเรียนอยู่ที่ โรงเรียนบ้านนางแก้ว หมู่ที่ 5 ตำบลนํ้าผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่ตกลงปลงใจจะนำโรงเรียนของท่านมาเข้าสู่โครงการ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา เพื่อชุมชนชนบทของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ดังที่ท่านผู้อ่านส่วนมากคงจะทราบแล้วว่าในโอกาสที่ท่านผอ.กำพล วัชรพล ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาและสื่อมวลชนนั้น คณะผู้บริหาร ไทยรัฐ กรุ๊ป ได้มีมติให้จัดสร้างโรงเรียนขึ้นอีก 10 โรง เพื่อร่วมในการเฉลิมฉลอง ซึ่งจะทำให้เรามีโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพิ่มจากเดิม 101 แห่ง เป็น 111 แห่ง
ต่อมาไทยรัฐกรุ๊ปก็ได้มีการสร้างพร้อมทั้งส่งมอบให้แก่กระทรวงศึกษาธิการไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ เหลืออยู่อีก 2 แห่ง คือ ไทยรัฐวิทยา 110 ที่จังหวัดสกลนคร กับ ไทยรัฐวิทยา 111 แห่งสุดท้ายที่จังหวัดสตูล
เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบของทางราชการ เราจึงต้องเดินทางไปปรึกษาหารือกับพี่น้องในเขตตำบลหมู่บ้านที่โรงเรียนตั้งอยู่ทั้ง 2 จังหวัด ว่าท่านทั้งหลายมีความตกลงปลงใจและพร้อมหรือไม่
โดยจะเริ่มที่จังหวัดสตูล ซึ่งมีความพร้อมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วในขณะนี้
เป็นเหตุให้ผมได้มีโอกาสติดตาม พี่ มานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสของพวกเรา ในฐานะคณะกรรมการบริหารมูลนิธิไทยรัฐไปยังจังหวัดสตูลเมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่แล้วด้วยประการฉะนี้
โรงเรียน บ้านนางแก้ว เป็นโรงเรียนขนาดกลาง (ขยายโอกาส) เปิดสอนตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบันมีนักเรียน 316 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของราษฎรใน 2 หมู่บ้าน ใกล้ๆโรงเรียนที่มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2,800 คน
ทั้งคณะกรรมการโรงเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ตลอดจนชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านกว่า 200 คน ที่มาร่วมประชุมกับคณะของเรา มีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะเข้าร่วมเป็น 1 ใน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา และพร้อมที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 (บ้านทุ่งนางแก้ว) คือยังคงวงเล็บชื่อเดิมไว้เช่นเดียวกับโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้งหลาย
จากนั้นก็เป็นการเลี้ยงอาหารกลางวัน โดยเชิญผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด รวมทั้งเด็กนักเรียนและครูทั้งโรงเรียนไปรับประทานข้าวหม้อแกงหม้อที่ชาวบ้านทุ่งนางแก้วจัดเตรียมมาจากบ้านร่วมกัน
เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดมื้อหนึ่งเท่าที่ผมเคยรับประทานมา โดยเฉพาะ ใบเหลียงผัดไข่ อาหารยอดนิยมของชาวใต้อร่อยมากๆ ไม่แพ้ที่ภูเก็ตหรือระนองที่มีร้านขึ้นชื่อหลายๆ ร้านเลยทีเดียว
ที่ผมมีความสุขอย่างบอกไม่ถูกอีกประการหนึ่งก็คือ ที่ตำบลน้ำผุดแห่งนี้แม้จะเป็นตำบลของพี่น้องชาวไทยพุทธ แต่ก็มีพี่น้องชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่ด้วยจำนวนมาก
ดังที่เราทราบแล้วว่าจากประชากรประมาณ 3 แสนคนเศษๆ ของจังหวัดสตูลนั้น เป็นพี่น้องมุสลิมถึงร้อยละ 77 เป็นชาวพุทธเพียงร้อยละ 23
จึงย่อมที่จะมีพี่น้องมุสลิมในทุกตำบลทุกหมู่บ้าน แม้ในส่วนที่เป็นพื้นที่ของชาวพุทธก็ตาม
รวมทั้งในโรงเรียนแห่งนี้ก็มีนักเรียนไทยมุสลิมมารํ่าเรียนจำนวนไม่น้อย และคุณครูของโรงเรียนนี้ก็เป็นไทยมุสลิมหลายต่อหลายท่าน
คุณครูที่กรุณามาเป็นพิธีกรก็แต่งกายด้วยชุดประจำถิ่นและคลุมผ้าฮิญาบอันเป็นสัญลักษณ์ของสตรีอิสลาม แต่ใช้ภาษาในการดำเนินการเป็นภาษาไทยด้วยสำเนียงที่ไพเราะ
นี่คือภาพสะท้อนของสตูลทั้งจังหวัด…ที่ผู้คนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างรักใคร่ปรองดองเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ประสาคนไทยด้วยกัน
ทำให้ผมนึกถึงคำขวัญของจังหวัดสตูลที่ว่า “สตูลสงบสะอาดธรรมชาติบริสุทธิ์” ขึ้นมาทันทีทันใด
ผมเชื่อแล้วครับว่า สตูลทั้งสงบและสะอาด ส่วนธรรมชาติผมยังไม่ได้ตระเวนก็ไม่แน่ว่าจะยังบริสุทธิ์อยู่หรือไม่…แต่ถ้า “น้ำใจ” หรือ “หัวใจ” ของคนสตูลละก็ผมเชื่อเลยครับว่า บริสุทธิ์อย่างแน่นอน
ภาพที่ผมเห็นใน 2 วันนี้ ยืนยันความทรงจำของผมที่เคยมาตระเวนสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมในแถบนี้ไม่รู้กี่สิบครั้งในอดีตว่า…พี่น้องชาวสตูลยังน่ารักเหมือนเดิมครับ.
“ซูม”