“สังคมไทย” รายไตรมาส งานทรงคุณค่าจากสภาพัฒน์

มีเอกสารหรือรายงานของส่วนราชการแห่งหนึ่งที่ผมจะรอคอยทุกๆ 3 เดือน และเมื่อถึงกำหนด 3 เดือน แล้วยังไม่มาเสียทีผมจะบ่นอยู่เสมอๆ ได้แก่ เอกสารของสภาพัฒน์ที่มีชื่อว่า “ภาวะสังคมไทยรายไตรมาส” นั่นแหละครับ

เมื่อได้รับแล้วผมจะรีบฉีกซองหยิบเอกสารมาเปิดอ่านทันทีเพื่อให้ทราบถึงความเคลื่อนไหว หรือพัฒนาการต่างๆ ทางด้านสังคมของประเทศไทยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในแต่ละ 3 เดือนที่ผ่านไป

ดังเช่นเล่มที่มาถึงโต๊ะผมเมื่อ 2 วันที่แล้วก็คือ “ภาวะสังคมไทยไตรมาสสามปี 2562” ประจำเดือนพฤศจิกายนของปีปัจจุบัน

แค่พาดหัวหน้า 1 ของเขาก็ชวนให้ติดตามแล้วครับ เช่น…

การชะลอตัวของเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก
หนี้ครัวเรือนชะลอการขยายตัว
การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง แต่ยังต้องระวังโรคไข้เลือดออก
คดียาเสพติดเพิ่มสูงและต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการกระทำรุนแรงทางร่างกาย/เพศ
การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่
เมื่อพลิกไปดูรายละเอียดข้างในก็จะมีรายละเอียดของแต่ละเรื่องแต่ละประเด็นมาให้เราทราบอย่างเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ว่ายังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงาน นั้นหมายความว่าอย่างไร

ก็หมายความว่า การจ้างงานลดลงไป 2.1 เปอร์เซ็นต์ โดยภาคเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 1.8 และภาคนอกเกษตรร้อยละ 2.3 อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 1.04 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะฟันธงว่าผลกระทบยังไม่มาก แต่รายงานของสภาพัฒน์ก็เตือนไว้ว่าจะต้องติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะสัญญาณบอกเหตุที่สำคัญ 3-4 ประการดังต่อไปนี้

1. ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันสิ้นสุดไตรมาสสามปี 2562 มีจำนวน 1.72 แสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.5 ต่อจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมดสูงที่สุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2552 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 2.2

2. คำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีภาวะธุรกิจของคำสั่งซื้อในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ซึ่งจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมส่งออก

3. การทำงานล่วงเวลา (โอที) ลดลง โดยจำนวนผู้มีงานทำมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไปลดลงร้อยละ 7.9 ในไตรมาสที่ 3 เป็นการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 เป็นต้นมา ฯลฯ

ครับ เป็นคำเตือนที่รัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องรับฟังและเตรียมตัวรับสถานการณ์ให้พร้อมเอาไว้ เพราะแม้สถานการณ์ด้านจ้างงานในขณะนี้จะยังไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไรนักก็ตาม

แต่ในไตรมาสหน้า ไตรมาสโน้นอาจจะแรงขึ้นก็เป็นได้ จากสัญญาณเตือนภัยทั้ง 3-4 ประการข้างต้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวจากรายงานความเคลื่อนไหวทางสังคมในเอกสารฉบับนี้เท่านั้น สำหรับรายละเอียดของความเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่เขาพาดหัวไว้ หากมีเวลาและโอกาสผมจะนำมาเขียนถึงต่อไป

ต้องขอขอบคุณสภาพัฒน์ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมไทยไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ สมดังชื่อของสำนักงานที่ว่า “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”

ขอให้สภาพัฒน์ยึดมั่นในแนวนี้ตลอดไป เพราะโลกเราทุกวันนี้ไม่ได้ยึดมั่น จีดีพี หรือ รายได้ต่อหัว เป็นสรณะอย่างเดียวเหมือนในยุคก่อนกันแล้ว แต่ไปไกลถึง ดัชนีความสุข หรือ Gross National Happiness หรือ GNH เป็นส่วนใหญ่

โดยการนำดัชนีชี้วัดทางด้านสังคมหลายต่อหลายประการมาเป็นเครื่องชี้วัดความสุขของมนุษย์ควบคู่ไปด้วย

น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยเรายังยึด GDP เป็นที่พึ่งอยู่มาก เอาแต่จะเพิ่ม GDP อยู่นั่นแหละ ทั้งๆ เมื่อเพิ่มขึ้นไปแล้วจะไปเข้ากระเป๋าใครบ้างก็ไม่รู้เป็นผลให้เกิดภาวะช่องว่างมากขึ้น หรือ “รวยกระจุก จนกระจาย” อย่างที่คนไทยชอบพูดกัน

หันมาดูแลปัญหาสังคมและพัฒนาสังคมให้มากๆ เถอะครับลุงตู่ ดัชนีความสุขของคนไทยจะได้พุ่งปรี๊ดกับเขาเสียที ไม่ใช่สุกๆ ดิบๆ หรือเหี่ยวๆ ยังไงก็ไม่รู้ อย่างทุกวันนี้.

“ซูม”