กระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกต้อง สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

เมื่อวันศุกร์ที่แล้วมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจเพื่อรับทราบว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 นี้ จะขยายตัวร้อยละ 2.6 ตามที่สภาพัฒน์คำนวณตัวเลข 3 ไตรมาส และพยากรณ์ไตรมาสสุดท้ายเอาไว้

รวมทั้งการขยายตัวในปีหน้า 2563 ที่สภาพัฒน์ประมาณไว้ว่าจะอยู่ระหว่าง 2.7-3.7 เปอร์เซ็นต์ โดยมีค่ากลาง 3.2 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ เพราะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในญี่ปุ่น รวมถึงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ตลอดจนความไม่สงบในฮ่องกงน่าจะยืดเยื้อต่อไป

ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศต่อไป โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพื่อเพิ่มแรงเหวี่ยงให้แก่เศรษฐกิจไทยในปีหน้า

ผมเรียนท่านผู้อ่านแล้วว่า ผมเห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลตามคำสั่งสอนของท่าน ลอร์ด จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์อังกฤษที่เสนอทฤษฎีนี้ไว้ตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ช่วง ค.ศ.1930 หรือ พ.ศ.2473 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

แต่ก็เห็นด้วยเฉพาะการกระตุ้นอย่าง “สร้างสรรค์” เท่านั้น คือการลงทุนในโครงการของรัฐต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันข้างหน้า

ประโยชน์วันนี้คือการจ้างงาน การซื้อข้าวของเครื่องใช้มาใช้ในโครงการ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในฉับพลัน ส่วนประโยชน์วันหน้าก็คือตัวโครงการจะยังคงอยู่ และสามารถใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง

การลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก คือสิ่งที่ผมเห็นด้วย รวมไปถึงโครงการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับฐานราก…นั่นก็เห็นด้วย

ที่ผมไม่เห็นด้วยที่สุด คือการกระตุ้นด้วยวิธีแจกเงินทุกรูปแบบ เพื่อหวังให้เกิดการบริโภค และใช้ผลของการขยายตัวด้านการบริโภคมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และได้เขียนคัดค้านไว้แล้วหลายครั้ง

ที่น่ายินดีก็คือ ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจเมื่อวันศุกร์ ซึ่งพูดถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่นั้น ได้มีมติเร่งรัดการดำเนินงานของส่วนราชการที่มีโครงการที่จะดำเนินการในช่วงนี้ โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่างๆ

รวมเม็ดเงินถึง 115,000 ล้านบาท ซึ่งหากสามารถเริ่มต้นดำเนินการได้ภายในเดือน 2 เดือนนี้ น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีได้พอสมควร และจะส่งแรงเหวี่ยงไปถึงปีหน้าด้วยอย่างที่หวังกันไว้

นี่ยังไม่รวมโครงการจากเงินงบประมาณในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ที่ยังไม่ผ่านรัฐสภา แต่ก็คงจะผ่านได้ในต้นปีหน้า

หากหน่วยราชการต่างๆ เตรียมตัวเตรียมการไว้ล่วงหน้าอาจจะทำให้การเบิกจ่ายเพื่อนำมาใช้ในการริเริ่มโครงการต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจต้นปีหน้าได้อย่างทันท่วงที

ไม่เพียงแต่การพูดถึงโครงการต่างๆ เท่านั้น การประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดนี้ยังมีมติเกี่ยวกับนโยบายและกรอบการดำเนินงานอีก 5 ด้าน ซึ่งรวมถึงด้านการขับเคลื่อนการส่งออกปีหน้า และการสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวปีหน้า ไปจนถึงการดูแลเกษตรกรและแรงงานผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อมๆ เอาไว้ด้วย

ผมเองโดยส่วนตัวอาจไม่เห็นด้วยกับโครงการใหญ่ๆ ที่สุ่มเสี่ยงบางโครงการอยู่บ้าง แต่ในหลักการแล้วเชื่อว่าเมื่อผ่านการวิเคราะห์และยอมรับให้ดำเนินการแล้วก็พร้อมจะให้การสนับสนุน ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ ควรเร่งรัดดำเนินการต่อไป

บอกแล้วไงครับว่ารัฐบาลนี้ก็มีโครงการดีๆ อยู่เยอะ ทั้งของรัฐบาลและของหน่วยราชการต่างๆ ควรจะนำมาแถลงกันบ่อยๆ

ไม่ใช่จะพูดถึงแต่การกระตุ้นแบบ แจก! แจก! แจก! อยู่ทุกวันจนทำให้ออกมาเป็นข่าวกลบโครงการดีๆ ไปเสียหมด

ถ้าจะทำให้นักลงทุนเชื่อถือและเชื่อมั่น ต้องพูดถึงโครงการอย่างที่พูดมาเมื่อวันศุกร์นี่แหละครับ…อย่าพูดถึงโครงการแจกบ่อยนัก

เพราะจะถูกมองว่าเป็นรัฐบาลประชานิยม ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนหมดไปและกร่อนลงเรื่อยๆ เนื่องจากเขารู้ดีว่าไม่เคยมีรัฐบาลประชานิยมที่ไหนอยู่ยั่งยืน ตัวอย่างในอเมริกาใต้ก็เห็นกันอยู่ทนโท่แล้ว.

“ซูม”