เห็นด้วย “กระตุ้นเศรษฐกิจ” แต่ไม่เห็นด้วย “ชิมช้อปใช้”

ชัดเจนแล้วว่าเศรษฐกิจไทยของเราค่อนข้างจะซึมๆ ขยายตัวอย่างเชื่องช้าต่ำกว่าที่เคยคาดหมายเอาไว้

ถ้าเป็นคนอื่นพูดเรายังอาจจะเคลือบแคลงสงสัยได้ว่าจริงหรือเปล่า? แต่เมื่อเป็นการแถลงของท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ พร้อมด้วยทีมงานของท่านเช่นนี้ คงไม่ต้องหันหน้าไปถามใครหรอกครับ

เพราะต้นตำรับของการคิดคำนวณบัญชีประชาชาติ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เรียกย่อๆ ว่า GDP นั้น ก็คือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์นี่เอง

เมื่อสภาพัฒน์ท่านบอกว่า ไตรมาส 3 ของปีนี้ แม้จะขยายตัวที่ 2.4 เปอร์เซ็นต์ ดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 2.3 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ 2.7 เปอร์เซ็นต์ก่อนหน้านี้…ก็คงต้องเชื่อท่าน

และเมื่อท่านอธิบายต่อว่า การที่ไตรมาส 3 ปีนี้เพิ่มต่ำกว่าที่คาดไว้ จะทำให้ขยายตัวของปีนี้ โดยนับรวมไตรมาส 4 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์เข้าไปด้วย จะออกมาอยู่ที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้านี้ 2.9 เปอร์เซ็นต์…ก็ต้องเชื่อท่านอีกเช่นกัน

ในตอนท้ายท่านเลขาธิการสภาพัฒน์เสนอความเห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อไป เพราะยังมีตัวแปรอีกหลายประการที่ไม่น่าไว้วางใจรออยู่ข้างหน้า

ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจจึงควรกระทำต่อแต่ต้องทำในทุกๆ ด้านทั้งการบริโภค การใช้จ่ายภาครัฐบาล การลงทุน และการส่งออก เศรษฐกิจไทยจึงจะดีขึ้น

ผมเห็นด้วยกับท่านครับว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีความจำเป็น และจะต้องทำทุกๆ ด้าน

ซึ่งในความเป็นจริง รัฐบาลชุดนี้ก็พยายามทำทุกด้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐบาลในโครงการพัฒนาต่างๆ ก็มีการตั้งงบประมาณเพิ่มมากขึ้นในปีงบประมาณ 2563

แต่เนื่องจากการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ยังไม่แล้วเสร็จ แม้จะสามารถใช้จ่ายงบประมาณไปพลางก่อนได้บางส่วน แต่ก้อนใหญ่จริงๆ ที่จะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง คงต้องรอให้งบประมาณปี 2563 ผ่านรัฐสภาให้เรียบร้อย

ในขณะที่งบกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลยัง ไม่ออกมานั่นเอง รัฐบาลกลับหันมาเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคออกมาก่อน ด้วยการริเริ่มโครงการแจกเงินหลายๆ โครงการ

นักเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยที่เห็นว่าการกระตุ้นให้ประชาชนบริโภคมากขึ้นเป็นมาตรการที่สุ่มเสี่ยงเพราะมักส่งเสริมประชาชนให้บริโภคเกินตัวและโครงการแจกเงินหรือสิ่งจูงใจต่างๆ อาจมีผลข้างเคียงในทางลบตามมา

เช่น จะทำให้ประชาชนบางกลุ่มติดนิสัยบริโภคแบบไม่ยั้งคิด กลายเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ในอนาคต

นอกจากนั้น ยังอาจมีผลทำให้ประชาชนเกิดความเคยตัว รอแต่จะรับแจกไม่อยากทำงานเพราะอยู่เฉยๆ รัฐบาลก็แจกให้

ที่สำคัญเงินที่แจกก็เป็นเงินจากภาษีอากร ซึ่งเป็นหยาดเหงื่อของคนทั้งประเทศ ควรจะใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้สะเทือนใจผู้เสียภาษี

โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษี ไม่สมควรจะมาทำหน้าที่แจกเงินแบบนี้เลย

ปรากฏว่ากระทรวงการคลังกลับลงมือทำเสียเอง แจกเสียเอง ด้วยวิธีที่วิจิตรพิสดาร ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เชิญชวนให้ผู้คนมาร่วมกด ร่วมลงทะเบียนรับเงินแจกเป็นที่ครึกโครม มีเฟส 1 เฟส 2 เฟส 3 อย่างที่เป็นข่าว

ทำให้ผู้คนลืมไปเสียสนิทว่าจริงๆ แล้วรัฐบาลนี้ก็มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับของทุกๆ ฝ่าย เพราะเป็นงานพัฒนาที่จะมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองอีกมากมายอยู่ในงบประมาณแผ่นดินนั่นเอง

ผมก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะเพลาๆ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งอาจมีผลเสียต่อสังคม และพฤติกรรมของคนไทยในอนาคตลงบ้าง

ที่ทำมาแล้วก็ทำไป ทำให้จบโครงการ แต่เมื่อจบแล้วขออย่าคิดอ่านทำอีก แค่นี้ก็มากเกินพอแล้วครับ

สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง นับแต่วันนี้ไปคือขอให้หน่วยราชการที่มีโครงการพัฒนาต่างๆ ออกมาแถลงว่า มีอะไรจะทำบ้างในปีงบประมาณ 2563 และเตรียมตัวจะเบิกจ่ายอย่างไร? ทันทีที่งบประมาณผ่านสภาจะรีบทำ รีบสร้าง รีบลงมือโดยด่วนอย่างไร?

ตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง และจะทำให้ขวัญผู้คนทั้งประเทศ รวมทั้งนักลงทุนด้วยดีขึ้นอย่างแท้จริง อยู่ที่โครงการของรัฐเหล่านี้ครับ.

“ซูม”